จาก COP 26 สู่งานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 14 ท่ามกลางบรรยากาศเลือกตั้ง อบต. | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

      สวัสดีครับพี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่าน แม้ว่าประเทศไทยจะประกาศ “เปิดประเทศ” ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทำให้ภาคส่วนต่างๆ กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง วงจรเศรษฐกิจหมุนได้ครบรอบ ประชาชนต่างผ่อนคลายและเริ่มกลับมาทำมาหากินได้เฉกเช่นสถานการณ์ปกติ หากแต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องไม่ลืม นั่นคือต้องใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ (New Normal) ภายใต้มาตรการป้องกันโรคอย่างรัดกุม และสูงสุด

     ในเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกเหนือไปจากการเปิดประเทศแล้ว ยังถือว่าเป็นช่วงที่อยู่ในวาระสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก นั่นคือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP 26) ซึ่งถือเป็นการประชุมที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่จัดประชุมระหว่างวันที่ 31 ต.ค. - 12 พ.ย. ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร

      การประชุมครั้งนี้ ผู้นำทั่วทุกมุมโลกจากประเทศพัฒนา และกำลังพัฒนา กว่า 120 ประเทศ เดินทางมาเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียงเพื่อ “ให้คำมั่น” ที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยับยั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ก่อนที่โลกจะไปถึงจุดที่ไม่สามารถหวนกลับมาได้

      สำหรับท่าทีของประเทศไทย ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ถ้อยแถลงต่อที่ประชุมถึงการกำหนดเป้าหมาย NAMA (nationally appropriate mitigation action) พร้อมทั้งยืนยันว่า ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในหรือก่อนหน้าปี 2065

      
พี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่านครับ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมสัมพันธ์กับทุกคน-ทุกชีวิต ทั้งในฐานะผู้รับผลกระทบและผู้ก่อมลพิษ ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาจะเป็นไปไม่ได้เลยหากเราไม่ใช้กระบวนการการมีส่วนร่วม ซึ่งที่ผ่านมาเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 อย่าง “กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ก็ได้ทำหน้าที่นี้อย่างเต็มศักยภาพ เรามีมติสมัชชาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอยู่หลากหลาย ทั้งในระดับชาติ ระดับจังหวัด ระดับพื้นที่ ตลอดจนสมัชชาเฉพาะประเด็นที่เพิ่งผ่านพ้นไปอย่างเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

      นอกจากนี้ 1 ใน 3 ของระเบียบวาระที่จะเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2564 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 ธ.ค. นี้ ก็ยังเกี่ยวข้องกับกระแสสิ่งแวดล้อม นั่นคือ “การสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในวิกฤตโควิด-19”

      
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มติสมัชชาสุขภาพในทุกระดับต่างถูกนำไปขับเคลื่อน-ขยายผลกันอย่างเข้มแข็ง เกิดเป็นรูปธรรมระดับพื้นที่มากมาย โดยหัวใจของความสำเร็จ นอกจากกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงที่ทำให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นเจ้าของประเด็นร่วมกันแล้ว ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือแรงสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีความเข้าใจบริบทของพื้นที่ ใกล้ชิดประชาชน ทั้งยังเป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายโดยตรง สามารถเชื่อมร้อยนโยบายระดับชาติลงมาสู่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่ได้อย่างไร้รอยต่อ มีความคล่องตัว ดังตัวอย่างในสถานการณ์โควิด-19 ที่หลาย อบต. ได้กำหนดมาตรการควบคุมโรคของตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้งบประมาณของตัวเอง รวมถึงงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กองทุนตำบล) สนับสนุนมาตรการหรือข้อตกลงร่วมของประชาชน (ธรรมนูญตำบล) เพื่อต่อสู้กับโควิด-19 ตามความจำเพาะของพื้นที่

      
พี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่านครับ ในวันที่ 28 พ.ย. นี้ จะมีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. และ นายก อบต. ทั่วประเทศ หลังจากถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งให้เว้นวรรคไปนานหลายปี ผมขอเชิญชวนพี่น้องภาคีเครือข่ายใช้สิทธิใช้เสียงเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่สุดตามที่ท่านเห็นสมควร เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นชุดใหม่มาบำบัดทุกข์บำรุงสุขของพี่น้องประชาชน และเป็นพลังสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไป

รูปภาพ