เจาะปัญหาระบบสุขภาพ ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ ติดขัดภาษา-ไร้สัญชาติ-เข้าไม่ถึงบริการ สช.จ่อ ยกร่าง ‘ธรรมนูญฯ ชนเผ่าพื้นเมือง’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

สช. ชักชวนภาคีชนเผ่าพื้นเมือง-กลุ่มชาติพันธุ์ ร่วมสะท้อนปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพ พบอุปสรรคสำคัญทั้งการสื่อสาร-ความเข้าใจในสิทธิ-การเดินทาง-ไม่มีสัญชาติ วงถกเสนอยกร่าง “ธรรมนูญระบบสุขภาพชนเผ่าพื้นเมือง” ทางออกอย่างยั่งยืน
 

เจาะปัญหาระบบสุขภาพ


สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย จัดเสวนาออนไลน์ “วิสัยทัศน์ระบบสุขภาพในมือชนเผ่าพื้นเมือง” ผ่านระบบ Zoom เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2564 ซึ่งเป็นหนึ่งในซีรีย์ของการเสวนาเสียงประชาชนกำหนดอนาคตระบบสุขภาพไทย ภายใต้กระบวนการรับฟังความเห็นจากประชาชนทุกกลุ่มเพื่อประกอบการยกร่าง ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3

นายไวยิ่ง
ทองบือ กรรมการบริหารจัดการ สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หนึ่งในสถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาพที่ชัดเจนของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ คือข้อจำกัดในเรื่องของภาษาและการสื่อสาร ทำให้ที่ผ่านมานั้นเข้าถึงบริการสุขภาพได้ยาก และยิ่งเป็นปัญหามากขึ้นในภาวะโรคระบาดโควิด-19 ที่มีข้อจำกัดทั้งในแง่เทคโนโลยีการสื่อสาร รวมไปถึงภาวะข่าวลวง ข่าวปลอม ที่ทำให้การเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อใช้ในการควบคุมโรคเป็นไปยากลำบาก

 

ไวยิ่ง ทองบือ


นายไวยิ่ง กล่าวว่า สำหรับข้อมูลที่สำคัญอย่างความเข้าใจต่อสิทธิการรักษาพยาบาลที่พึงมี การดูแลรักษาโรค หรือการติดตามตรวจสอบว่าคุณภาพบริการเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ สิ่งเหล่านี้พี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองมักไม่ทราบ ดังนั้นเมื่อเผชิญกับปัญหาในการเข้ารับบริการ แม้ตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขาจะมีสิทธิในการร้องเรียนหรือนำเสนอปัญหา แต่สุดท้ายเมื่อกลุ่มพี่น้องเหล่านี้ไม่เข้าใจ และไม่อยากมีปัญหากับหมอหรือพยาบาล จึงมักปล่อยให้จบไป กลายเป็นปัญหาซ้ำซากต่อไปในระยะยาว

น.ส.กิ่งแก้ว
จั๋นติ๊บ ประธานหน่วยรับเรื่องร้องเรียนเครือข่ายชาติพันธุ์ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า แม้ระบบสุขภาพไทยจะมีหลักการที่ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพได้ แต่จากข้อเท็จจริงที่ผ่านมายังพบว่ามีพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนกว่า 5 แสนคนที่ยังไม่มีสัญชาติ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงระบบสุขภาพอย่างเป็นธรรมได้ หรือแม้จะมีสัญชาติแล้วก็ตาม ก็จะยังมีเงื่อนไขข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถเข้ารับบริการได้

 

กิ่งแก้ว จั๋นติ๊บ


“อย่างในเชียงใหม่ ถ้าเป็นสิทธิบัตรทองก็อาจไปเข้ารับบริการได้สัก 4-5 โรงพยาบาลที่เข้าร่วม แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญหาสถานะทางสิทธิ ก็อาจเหลือไปใช้บริการได้ที่เดียว ซึ่งบางคนอยู่ห่างไกลเขาก็คงไม่ไป ก็ต้องไปเสียเงินใช้บริการที่คลินิกหรือ รพ.เอกชน แทน แม้กระทั่งการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ผ่านมาก็ไม่ได้รองรับกลุ่มคนที่ไม่มีสัญชาติ ระบบเพิ่งจะมารองรับเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ดังนั้นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งจึงอยากเห็นระบบสุขภาพไทยมีมาตรฐานเดียวกัน” น.ส.กิ่งแก้ว กล่าว

ขณะที่ นางวนิจชญา กันทะยวง รองกรรมการบริหารกิจการ สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาเครือข่ายสตรีชนเผ่าในประเทศไทย กล่าวว่า การเดินทางนับเป็นอีกอุปสรรคสำคัญในการเข้ารับบริการสุขภาพของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นระยะทางที่ไกลทำให้บางกรณีเกิดการส่งต่อไม่ทันจนเสียชีวิต หรือในแง่ของค่าใช้จ่าย ที่แม้จะมีการรักษาฟรี แต่สุดท้ายก็ต้องเจอกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไม่ว่าจะอาหารการกิน ที่พัก เมื่อต้องเดินทางไปเข้ารับบริการ
 

วนิจชญา กันทะยวง


“ไม่มีใครอยากไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ฉะนั้นถ้าเราทำให้ชุมชนเป็นพื้นที่ตั้งรับ สามารถเกิดการรวมตัวกันจัดการด้านสุขภาพแบบทางเลือกกันได้เองในระดับพื้นที่ และอาจเชื่อมโยงกับมิติต่างๆ ทั้งการรักษาป่า สภาพแวดล้อม สมุนไพร ก็จะช่วยลดการพึ่งพิงระบบได้” นางวนิจชญา กล่าว

นายวิทวัส
เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเล 5 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน และรองประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับชาวเลเดิมนั้นมีภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สมุนไพรทั้งจากบกหรือทะเล การทำคลอดเองไม่ต้องไปโรงพยาบาล ตลอดจนการมีอาหารอุดมสมบูรณ์ แต่ทั้งหมดเปลี่ยนไปในยุคที่มีนโยบายสัมปทาน การขุดแร่ต่างๆ ที่ทำให้ชาวเลสูญเสียพื้นที่ และสังคมภายนอกเข้ามา ทำให้ชาวเลต้องหันมาหาโรงพยาบาลมากขึ้น แม้จะมีความไม่เข้าใจในระบบสุขภาพและสิทธิต่างๆ

 

วิทวัส เทพสง


นายวิทวัส กล่าวว่า อยากให้มีกลไกที่พี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสุขภาพได้ เช่น การมีธรรมนูญสุขภาพชนเผ่าพื้นเมืองที่ถูกรับรอง ผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมกับระบบสุขภาพปัจจุบัน กำหนดว่าเขามีสิทธิใดบ้างในการเข้ารับบริการ หรือควรได้รับความช่วยเหลืออย่างไร ผ่านช่องทางใด เป็นต้น โดยเสนอให้ สช. รวบรวมพื้นที่รูปธรรมสุขภาวะของชนเผ่าเป็นพื้นที่นำร่องที่พร้อมขับเคลื่อนเรื่องนี้ อันจะนำไปสู่ความเข้าใจในธรรมนูญสุขภาพ และ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ต่อไป

ด้าน นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 นี้ได้รับฟังเสียงจากคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัยบนผืนแผ่นดินไทย ที่ได้มีโอกาสเสนอสิ่งที่อยากเห็นในระบบสุขภาพ และสิ่งที่อยากให้เป็นในอนาคตร่วมกัน ซึ่งในกระบวนการยกร่างขณะนี้ สช.ได้พยายามเปิดพื้นที่ให้ผู้คนหลากหลายกลุ่มมีโอกาสเสนอความเห็นผ่านหลากหลายช่องทาง ที่จะนำเอาไปวิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อบรรจุลงในเนื้อหาของธรรมนูญฯ
 

สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล


“น่าสนใจว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นของชนเผ่าพื้นเมืองเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพที่สั่งสมมา มีประโยชน์ที่จะบูรณาการร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบันและอื่นๆ อีกหลายเรื่อง และชนเผ่าพื้นเมืองเองก็สามารถมีส่วนร่วมจัดระบบบริการภายใต้การสนับสนุนของท้องถิ่นได้ ดังนั้น สช.จึงเห็นด้วยและยินดีสนับสนุนในการจัดเตรียมกระบวนการ หากจะมีการร่างไปสู่ธรรมนูญว่าด้วยระบบบริการสุขภาพชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ ที่จะเป็นตัววางระบบความคิด และทิศทางในอนาคตของชนเผ่าพื้นเมืองว่าอยากเห็นระบบสุขภาพเป็นอย่างไร” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
 

กลุ่มชาติพันธุ์


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.

โทร. 02-8329141

 

 

รูปภาพ
เจาะปัญหาระบบสุขภาพกลุ่มชาติพันธุ์