ความท้าทายจากวิกฤตโควิด-19 ถึงเวลาที่ระบบสุขภาพต้องปรับตัว | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file
ความท้าทายจากวิกฤตโควิด-19 ถึงเวลาที่ระบบสุขภาพต้องปรับตัว

... รัตนา เอิบกิ่ง

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นสถานการณ์วิกฤตสำคัญที่เข้ามาสั่นคลอนและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งต่อประเทศไทยและโลก  ไม่เพียงแค่ระบบสุขภาพเท่านั้นแต่ยังกระทบเป็นห่วงโซ่ทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนและปรับตัวทั้งระบบ โครงสร้าง ไปจนถึงหน่วยย่อยๆ  อีกทั้งการระบาดของโควิด-19 ยังทำให้ความเหลื่อมล้ำทางด้านสุขภาพและสวัสดิการที่มีอยู่ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศรุนแรงและเห็นชัดเจนขึ้น

นับแต่การระบาดระลอก ๓ เป็นต้นมาตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๔ จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อจำนวนสูงขึ้นอย่างมาก และกระจายไปทั่วทุกจังหวัด พบจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันภายในประเทศทะลุกว่า ๒ หมื่นรายเป็นครั้งแรก ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตเข้าสู่หลักร้อยต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาหลายวัน นอกจากนี้ ในเขตกรุงเทพมหานครนั้น พบการแพร่ระบาดในชุมชนแออัดและกลุ่มแรงงานก่อสร้าง ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนที่จัดว่าการควบคุมการแพร่ระบาดนั้นทำได้ยากมาก เนื่องจากมีข้อจำกัดของคนในชุมชนในเรื่องของสถานที่พัก ทำให้ไม่สามารถแยกกักตัวเองออกมาจากครอบครัวได้ จำนวนผู้ป่วยที่สูงขึ้นอย่างมากนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้ม เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้เกิดปัญหาเตียงเต็ม จำนวนผู้ป่วยล้น บุคลากร ยา วัคซีน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่ทั่วถึงเพียงพอ.... แล้วระบบสุขภาพไทยจะปรับตัวอย่างไรดี?
 

ความท้าทายจากวิกฤตโควิด-19


ในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ พบว่าทุกฝ่ายต่างยื่นมือกันเข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ระบบสุขภาพไทยมีการปรับตัวอย่างมาก นับแต่การตั้งโรงพยาบาลสนามหลายแห่ง การให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์และออนไลน์ การอบรมอาสาสมัครในการช่วยเหลือดูแลให้คำปรึกษา การตรวจหาเชื้อเบื้องต้นเองโดยใช้ชุดตรวจ การทำพื้นที่สาธารณะต่างๆ ให้เป็น community isolation หรือสถานที่แยกกักในชุมชนสำหรับผู้ที่มีอาการไม่มาก เพื่อมาเป็นส่วนเสริมให้กับระบบสุขภาพเต็มรูปแบบในแบบเดิมที่ในภาวะปัจจุบันทำไม่ได้ และต้องยอมรับกับการปรับแผน ปรับเปลี่ยนระบบสุขภาพให้ยืดหยุ่นและสามารถรับมือต่อวิกฤตใดๆ ที่เข้ามากระทบเพื่อให้สามารถก้าวพ้นวิกฤตดังกล่าวได้ หรือที่เรียกว่า “health system resilience” หรือระบบสุขภาพที่สามารถปรับตัวเพื่อให้รับกับสถานการณ์หรือผลกระทบรุนแรงต่อระบบสุขภาพได้นั่นเอง

ท่ามกลางวิกฤตนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าหลายฝ่าย โดยเฉพาะองค์กรศาสนาและพระสงฆ์นั้นเข้ามามีบทบาทสูงมาก ทั้งการอนุญาตให้ใช้พื้นที่วัดเป็นโรงพยาบาลสนาม เป็นสถานที่แยกกักตัว การสื่อสารให้ความรู้และให้กำลังใจญาติโยม เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนระบบบริการทางการแพทย์ระบบปกติ ณ ปัจจุบันทั้งสิ้น

บทเรียนของการระบาดของโควิด-19 นี้ ได้สะท้อนถึงระบบสุขภาพไทยในอนาคตที่จำเป็นต้องมีความสามารถในการพร้อมรับมือ ยืดหยุ่น และปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ) ความสามารถในการรวบรวมและบูรณาการความรู้ที่หลากหลายที่มีอยู่ ๒) ความสามารถในการจัดการกับความไม่แน่นอนหรือเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ๓) ความสามารถในการจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบหลากหลายและเชื่อมโยงได้อย่างมีประสิทธิผล และ ) ความสามารถในการพัฒนาของสถาบัน/องค์กรต่างๆ หรือบรรทัดฐานที่ได้รับการยอมรับจากสังคมและบริบทโดยรวม
 

การปรับและฟื้นตัวได้ของระบบสุขภาพ


จากความท้าทายของระบบสุขภาพไทยที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 นี้ นักวิชาการและภาคีที่เกี่ยวข้องได้เห็นความสำคัญ และเห็นพ้องร่วมกันว่า “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๓” ซึ่งมีสถานะเป็นกรอบทิศทางระบบสุขภาพไทย ที่ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการยกร่าง นั้น ควรจะให้ความสำคัญกับเรื่อง “ความเป็นธรรมและความยั่งยืนของระบบสุขภาพ” ซึ่งองค์ประกอบสำคัญหนึ่งในนั้นคือ “การปรับและฟื้นตัวได้ของระบบสุขภาพ” นั่นเอง

 

 

หมวดหมู่เนื้อหา