โควิด-19 ภาพสะท้อนความเปราะบาง ระบบสุขภาพเขตเมือง (กทม.) | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

    สวัสดีครับพี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่าน ไทยถึงจุดนี้แล้วจริงๆ เมื่อการระบาดของโควิด-19 เข้าสู่ระลอกที่สี่จากไวรัสสายพันธุ์เดลตา (พบที่อินเดียประเทศแรก) ผู้ติดเชื้อรายใหม่กำลังไต่ระดับใกล้หลักหมื่นคนต่อวัน ผู้เสียชีวิตอาจมากกว่าวันละหนึ่งร้อยคนในอีกไม่นาน เตียงรับโควิดของ รพ. ในกรุงเทพฯ เต็มแล้ว และในเมืองใหญ่คงทยอยเต็มในเร็วๆ นี้  ทางออกที่ประชาชนได้รับการสื่อสารขณะนี้คือทุกคนต้องระวังดูแลสุขภาพทั้งตัวเองและครอบครัว ระบบบริการสาธารณสุขจะกระจายให้ผู้ติดเชื้อกลุ่มที่ไม่มีอาการ (สีเขียว) เข้าสู่ระบบดูแลที่บ้าน (Home Isolation) และผู้ว่ากรุงเทพฯ ได้สั่งการแล้วให้ ๕๐ เขตของ กทม. ตั้งศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation) ตามแบบศูนย์พักคอยวัดสะพานของชุมชนคลองเตย แม้ต้นเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงที่ระบาดรุนแรงมาก แต่ช่วงปลายกรกฎาคม ถึง สิงหาคม นักวิชาการบอกว่าจะเป็น peak จริงๆ

    ขณะที่ไทยเข้าสู่มาตรการล๊อคดาวน์อีกครั้งหนึ่ง ประชาชนถูกห้ามออกนอกบ้านยกเว้นมีเหตุจำเป็น ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ปิดสถานที่ไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิด และยังสับสนกับเรื่องวัคซีนมีไม่พอและไม่มาตามนัด แต่ที่สิงคโปร์ผู้นำเขากำลังเตรียมสื่อสารให้ประชาชนพร้อมรับกับนโยบายและระบบใหม่ “อยู่ร่วมกับไวรัสชนิดนี้ให้ได้” โดยคาดหวังว่าโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในอีกไม่นานหลังจากมีการให้วัคซีนครอบคลุมได้มากมากพอ

    ขณะนี้ระบบสาธารณสุขของกรุงเทพฯ กำลังบอบช้ำแสนสาหัส จำนวนเตียง ห้องไอซียูไม่เพียงพอต่อความต้องการ และประชาชนกำลังขวัญกระเจิง เช่นเดียวกับบุคลากรด้านสุขภาพที่อ่อนล้าโรยแรง แม้การสั่งปิดแคมป์คนงานจะทำให้แรงงานไทยและผู้ติดเชื้อได้เคลื่อนย้ายกลับบ้านสู่ชนบท และมีหลายพื้นที่ประกาศต้อนรับพี่น้องให้คืนถิ่น จะกลายเป็นมาตรการธรรมชาติที่ช่วยลดภาระของกรุงเทพฯ ได้บ้าง แต่ข้อจำกัดของระบบสาธารณสุขและความยากลำบากของประชาชนในเมืองใหญ่ ยังเป็นปัญหาใหญ่

    ที่ผ่านมา เรามีตัวอย่างของการใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการรับมือกับโควิด-19 มาแล้วมากมาย ทั้งการเกิดขึ้นของมาตรการสู้ภัยโควิด-19 ของประชาชนทั่วประเทศรับมือกับการระบาดระลอกแรก หรือการตื่นรู้ ไม่แบ่งแยกตีตราแรงงานข้ามชาติทำให้พื้นที่หลายจังหวัดที่เสี่ยงภัยจากการระบาดระลอกที่สองสถาการณ์ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว และการระบาดระลอกที่สามจากเชื้อสายพันธุ์แอลฟา (อังกฤษ) ที่ระบาดอย่างรวดเร็วในกรุงเทพฯ จังหวัดปริมณฑล และเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังเป็นปัญหาใหญ่ ตามมาด้วยการระบาดระลอกสี่จากสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) เป็นวิกฤตใหญ่ของประเทศ ที่พวกเราจากทุกภาคส่วนต้องจับมือกัน สร้างระบบ สร้างการมีส่วนร่วม สร้างบทบาทและมาตรการของประชาชนในพื้นที่ทั่วประเทศ ให้ตื่นรู้ลุกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งหนุนเสริมมาตรการหลักของรัฐ

    เป้าหมายและกลยุทธ์รับมือโควิด-19 ระลอกสี่ จะอยู่ที่ตำบลและชุมชนทั่วประเทศ โดยเน้นให้มีมาตรการหรือข้อตกลงร่วมของประชาชนหรือธรรมนูญสู้ภัยโควิด ฟื้นฟูขวัญกำลังใจ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ทั่วประเทศ ผ่านเครือข่ายสมัชชาจังหวัด สภาองค์กรชุมชน กองทุนสุขภาพในพื้นที่และอื่นๆ  วิธีการเน้นการสานพลังเพื่อปลุกพลังชุมชนให้ตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19 อีกครั้ง ให้ชุมชนมีความรู้ป้องกันตัวเองและพร้อมสนับสนุน Home Isolation หรือ Community Isolation ขณะที่บทบาทของวัดและพระสงฆ์ภายใต้การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ มีความสำคัญมากในการเป็นผู้นำชุมชนรับมือกับวิกฤตโควิดระลอกสี่นี้ที่จะมีผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตจำนวนมากกระจายอยู่ในพื้นที่ ด้วยการช่วยฟื้นฟูขวัญกำลังใจของประชาชน การให้คุณค่าผู้เสียชีวิตและให้กำลังใจครอบครัวผ่านการจัดพิธีศพแนวใหม่ที่สอดคล้องกับความรู้ทางระบาดวิทยาของไวรัสและวิถีชีวิตใหม่ของประชาชน

    พี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่านครับ ท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่นตลบของการแพร่ระบาดและเชื้อกลายพันธุ์ ในมุมหนึ่งทำให้เรามองเห็น “ความเปราะบาง” ของระบบสาธารณสุขในพื้นที่เขตเมือง ได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่มีความซับซ้อนสูง ทั้งในแง่ประชากร พฤติกรรม วิถีชีวิต ช่องว่างของเศรษฐานะ ตลอดจนโอกาสทางสังคม ซึ่งหมายถึงโอกาสในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพด้วยและหลังจากโควิด-19 แพร่ระบาด ทุกภาคส่วนต่างเห็นตรงกันว่าเรื่องสุขภาพสัมพันธ์กับมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ อย่างเป็นเนื้อเดียว

    เรื่องระบบสุขภาพเขตเมืองเป็นประเด็นที่ สช. นักวิชาการ และภาคสังคมได้ให้ความสำคัญและหารือร่วมกันมาโดยตลอด เพื่อนำเอาประสบการณ์จากความศูนย์เสีย ยากลำบากที่คนกรุงเทพฯ ทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกรายได้ได้รับจากวิกฤตครั้งนี้ มาสรุปเป็นข้อเรียนรู้ นำไปสู่การสร้างเวทีความฝันถึงระบบสาธารณะที่พึ่งประสงค์ ใกล้บ้านใกล้ใจ  หลากหลายทางเลือก และมีประสิทธิภาพรองรับสถานการณ์วิกฤตต่างๆ ได้  จากความฝันร่วมนำไปสู่การหาฉันทมติของคนกรุงเทพฯ เป็นแผนและเป้าหมายเชิงปฏิบัติการ และมีการสร้างเครื่องมือขับเคลื่อนเป้าหมายและแผนร่วมของชาวกรุงเทพ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสนับสนุนการขับเคลื่อน กลไกขับเคลื่อนของประชาชน เพื่อขับเคลื่อนแผนและเป้าหมายผ่านทางกลไกภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมและอื่นๆ โดยมีความต้องการของประชาชนเป็นศูนย์กลาง และทั้งหมดนี้จะถูกเสนอผ่านเวทีสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ ๒ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายนนี้

    พี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่านครับ ผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ดอกผลที่เกิดจากความร่วมไม้ร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งในกรุงเทพฯ และพื้นที่ทั่วประเทศในการต่อสู้รับมือกับวิกฤตโควิด-19 ที่รุนแรงมากที่สุดนี้ จะช่วยยกระดับและสร้างความมั่นคงให้กับระบบสุขภาพของไทยในอนาคตอันใกล้นี้ ได้มากขึ้นอย่างแน่นอนครับ

รูปภาพ
หมวดหมู่เนื้อหา