การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน กรณีเขตพื้นที่อุตสาหกรรมเหมืองหิน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

กรณีเขตพื้นที่อุตสาหกรรมเหมืองหิน
เทือกเขาควนเหมียง ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง

การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน กรณีเขตพื้นที่อุตสาหกรรมเหมืองหินบริเวณเทือกเขาควนเหมียง ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง เป็นการทำ CHIA โดยกลุ่มชาวบ้าน “เครือข่ายรักษ์เขาถ้ำแรด” เป็นกรณีการใช้เครื่องมือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในการปกป้องสิทธิด้านสุขภาพและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ที่สามารถเป็นบทเรียนและกรณีเรียนรู้ให้กับพื้นที่อื่นๆได้ การถอดบทเรียนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เห็นกระบวนการทำงานในการปกป้องสิทธิด้านสุขภาพและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ การใช้เครื่องมือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของพื้นที่ รวมถึงการยกระดับประเด็นและทางเลือกเชิงนโยบายที่ได้จากการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเป็นนโยบายสาธารณะ

 

แหล่งขุดพบโบราณคดี เขาถ้ำแรด

เส้นทางการขับเคลื่อนการปกป้องสิทธิชุมชนบนฐานทรัพยากรและสุขภาพ

บริเวณเทือกเขาควนเหมียง (ถ้ำแรด) หมู่ที่ 1 ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง เป็นพื้นที่ป่าเขาหินปูนที่ถูกขอสัมปทานมาโดยตลอดเนื่องจากถูกประกาศเป็นแนวเขตหินเพื่ออุตสาหกรรม พื้นที่ตำบลปากแจ่มเคยมีโครงการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่มาก่อน โครงการดังกล่าวมีการดำเนินงานในพื้นที่หมู่ 5 มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในครั้งนั้นได้เล่าถึงผลกระทบที่ได้รับว่า ได้รับผลกระทบจากเสียงจากการระเบิดหิน ฝุ่นจากการระเบิดและการขนส่ง ซึ่งในปีนั้นยังไม่มีกวารออกมาคัดค้านชัดเจนเนื่องจากมีชาวบ้านบางส่วนเป็นลูกจ้างของเหมือง ปัจจุบันเหมืองหินนั้นได้ปิดตัวลงไปแล้ว แต่ชาวบ้านในพื้นที่ได้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน

หลังจากโครงการข้างต้น ในพื้นที่ตำบลปากแจ่มไม่มีโครงการทำเหมืองแร่หินอีก จนกระทั่งในช่วงปี พ.ศ.2559 - 2560 ชาวบ้านในพื้นที่ทราบว่าจะมีการสำรวจและขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอีกครั้งในขั้นตอนการขออนุญาตที่ต้องมีการติดประกาศต่อสาธารณะทำให้ชาวบ้านทราบข่าวการขอประทานบัตรในครั้งนี้ ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยได้มีการรวมกลุ่มในชื่อ “กลุ่มรักษ์เขาถ้ำแรด”

กลุ่มรักษ์เขาถ้ำแรด มีการรวบรวมกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับการคัดค้านการขอประทานบัตร มีการขอรายชื่อชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยได้รายชื่อกว่า 1,000 คน ใช้แนวทาง “เดินกับตีน ไปกับปาก” สร้างแนวร่วมในชุมชน จากการหาแนวร่วมของทั้งฝ่ายสนับสนุนเหมืองหิน และฝ่ายคัดค้านเหมืองหินในขณะนั้นจึงมีภาวะความขัดแย้งและการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย กลุ่มรักษ์เทือกเขาถ้ำแรดและฝั่งชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองที่เห็นว่าการต่อสู้โดยใช้มวลชนเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ทางออกได้พยายามหาวิธีการในหลายช่องทางที่ให้มีการระงับและยุติการอนุญาตและให้ประทานบัตรเหมืองหิน โดยใช้ ร่าง พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. .... การถวายฎีกา และ นักการเมือง รวมถึง การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ

แหล่งขุดพบโบราณคดี เขาถ้ำแรด

การใช้เครื่องมือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ

การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการ “สนับสนุนกระบวนการทางข้อมูลและวิชาการ” ให้กับกระบวนการต่อสู้เพ่อปกป้องสิทธิของชุมชนที่มีการกำหนดช่องทางในการผลักดันผลการศึกษาเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจ และสามารถทำให้ภาครัฐและผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆมีความกระตือรือร้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับชาวบ้านและร่วมกำหนดทิศทางในอนาคตของตำบลปากแจ่มไปด้วยกัน ในขั้นตอนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Assessing) หลังจากการถวายฎีกา ทำให้มีการนัดหมาย วางแผนลงเก็บข้อมูลในส่วนต่างๆร่วมกัน ทั้งหน่วยงานภาครัฐที่ต้องเข้ามาสำรวจและเก็บข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ทางโครงการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่ต้องเก็บข้อมูลเพื่อใช้ในการประเมินผลกระทบ ทางมูลนิธิทรัพยากรชายฝั่งเอเชียจึงเป็นผู้วางแผนให้แต่ละหน่วยงานมีการสำรวจข้อมูลร่วมกันกับชาวบ้าน โดยเฉพาะมิติด้านทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ทั้ง สัตว์ พืช และข้อมูลด้านโบราณคดี ทำให้ทั้งภาครัฐและชาวบ้านมีข้อมูลดังกล่าวเป็นชุดเดียวกัน ในขณะที่ข้อมูลมิติสังคมและสุขภาพ และเศรษฐกิจ เป็นข้อมูลที่ไม่ได้รับความสนใจ อีกทั้งมีความยากและไม่มีการเปิดเผยข้อมูลบางอย่างที่ชัดเจน ข้อมูลที่ได้ส่วนใหญ่จึงเป็นข้อมูลจากการทบทวนเอกสาร และข้อมูลทุติยภูมิ

 

ผลการศึกษามิติด้านสุขภาพ

ผลกระทบที่สำคัญจากกิจกรรมของเหมืองหินคือเรื่องฝุ่นจากกระบวนการทำเหมืองและการขนส่ง มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนโดยทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง จากแบบรายงานผู้ป่วยนอกตามกลุ่มสาเหตุ 21 กลุ่มโรค (รง.504) ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปากแจ่ม 10 อันดับแรก ปี 2559 - 2561 พบว่า โรคระบบหายใจเป็นสาเหตุการป่วยอันดับอันดับแรกของผู้ป่วยนอกที่มารับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปากแจ่ม โรคทางเดินหายใจจึงเป็นโรคที่ควรเฝ้าระวังเมื่อมีการดำเนินโครงการของอุตสาหกรรมเหมืองหิน

ในพื้นที่มีกลุ่มเปราะบางที่ไวต่อผลกระทบ ทั้งผู้สูงอายุ เด็ก ผู้พิการ และมีบ้านพักคนชราอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่โครงการ ทำให้การทำเหมืองหินมีความเสี่ยงทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจของประชาชนในพื้นที่ค่อนข้างมาก

ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากกระบวนการทำเหมือง มีความเสี่ยงจากกระบวนการทั้งการระเบิด ขุดเจาะ และการขนส่ง ด้วยพื้นที่โครงการอยู่ในบริเวณป่าที่เป็นเขตใกล้เคียงพื้นที่ทำกินและอยู่อาศัยของชาวบ้านในพื้นที่

โครงสร้างด้านระบบบริการสุขภาพของตำบลปากแจ่ม มีเพียง 1 รพ.สต. และโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กคือ โรงพยาบาลห้วยยอด ที่รับผิดชอบพื้นที่ตำบลอื่นด้วยและมีบุคลากรด้านสุขภาพที่จำกัดอยู่แล้ว การทำเหมืองหินในพื้นที่จะสร้างภาระในการดูแลประชาชนในพื้นที่ค่อนข้างมาก

 

แหล่งขุดพบโบราณคดี เขาถ้ำแรดแหล่งขุดพบโบราณคดี เขาถ้ำแรด

 

ผลการศึกษาผลกระทบในมิติทรัพยากรธรรมชาติ

การสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพด้านสัตว์ป่าของพื้นที่เขาเหมียง นับว่าโดดเด่นมากจากทั้งการพบสิ่งมีชีวิตที่มีจำนวนมาก และหลากหลายชนิด ในจำนวนนั้นยังมีชนิดที่จัดว่าเป็นสัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ระดับโลกอีกด้วย พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างน้อย 26 ชนิด โดยส่วนใหญ่เป็นค้างคาวซึ่งพบ 16 ชนิด ในจำนวนนี้มีค้างคาวหน้ายักษ์กุมภกรรณ (Hipposideros turpis) ซึงเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของไทยพบเฉพาะในภาคใต้ของไทยมี สถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ในภาพรวมสำรวจพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ปีก แมลง รวม 71 ชนิด การสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์ไม้ในพื้นที่ป่าภูเขาหินปูน จำนวน 2 ครั้ง พบพันธุ์พืช 229 ชนิด

 

แหล่งขุดพบโบราณคดี เขาถ้ำแรดแหล่งขุดพบโบราณคดี เขาถ้ำแรด

 

ผลการศึกษาในมิติสังคม วัฒนธรรม และโบราณคดี

เขาถ้ำแรดเป็นศูนย์รวมของชุมชนในการทำบุญป่าเขาเพื่อระลึกถึงคุณของบรรพบุรุษและคุณค่าของพื้นที่ที่ให้ชุมชนได้มีทรัพยากรไว้ใช้สอยจนถึงปัจจุบัน และมีการสำรวจพบโบราณวัตถุอยู่ในบริเวณถ้ำแรดเป็นแห่งแรกเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 (วันที่สำรวจร่วมกับกรมศิลปากร) โดยพบโบราณวัตถุ และโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีการฝังศพของมนุษย์ เมื่อประมาณสามพันถึงสี่พันปีเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ จากนั้นได้มีการสำรวจเพิ่มเติม รวมพบแหล่งโบราณคดีบริเวณเทือกเขาควนเหมียงและพื้นที่ใกล้เคียงทั้งหมด 29 แหล่ง ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ทั้งหมด และบางแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ประกาศแหล่งหินเพื่อการอุตสาหกรรม

ผลอื่น ๆ ที่เห็นเป็นที่ประจักษ์คือ ในพื้นที่สามารถนำข้อมูลมากำหนดเป็นแผนงานชุมชนร่วมกัน สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งไปสู่การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดผลจนผู้ประกอบการยื่นเรื่องขอยกเลิกการขอประทานบัตร และกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดแนวทางการพิจารณาความเหมาะสมในการไม่รับคำขอประทานบัตรในพื้นที่แหล่งหินเขาควนเหมียงเป็นการเฉพาะ รวมถึงหน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้กำหนดเป็นแนวทางอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรเพื่อหนุนเสริมการประกอบอาชีพที่มั่นคงและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอารยะธรรมที่มีความสำคัญระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน เป็นการคงไว้ซึ่งคุณค่าของทรัพยากรทั้งทางจิตใจและสร้างภาคภูมิใจในท้องถิ่น

 

ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของตำบลปากแจ่ม

ป่าไม้

ตำบลปากแจ่มเป็นชุมชนหมู่บ้านที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทั้งระบบนิเวศที่หลากหลาย ทั้งป่าไม้ แหล่งต้นน้ำลำธาร พรรณพืช สัตว์ป่า และสถานที่แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ เช่น น้ำตก ถ้ำสวยงาม เป็นต้น สามารถแบ่งโซนพื้นที่ตามประโยชน์ใช้สอยของชุมชนได้เป็น 2 โซนพื้นที่ ดังนี้

ป่าเทือกเขาบรรทัด

บทบาท คุณค่า และหน้าที่ของป่าแห่งนี้เป็น 1) เป็นป่ากักเก็บน้ำ และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงของจังหวัดตรัง ทำหน้าที่กักเก็บน้ำก่อนไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองของคลอง “คลองคุ้ย” ไหลผ่านหมู่บ้านหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในชุมชน และชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง ซึ่งหน้าที่ของพื้นที่ป่าจะช่วยชะลอการไหลผ่านของกระแสน้ำ และกระตุ้นการสะสมของธาตุอาหารและตะกอนดินที่พัดพามากับน้ำ การกักเก็บตะกอนดินจะช่วยเสริมธาตุอาหารทำให้พื้นที่ป่าแถบบริเวณนี้กลายเป็นระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ 2) เป็นแหล่งอาหารของชุมชน สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน เช่น การเก็บของป่า หาหน่อไม้ ล่าสัตว์ การเก็บยาสมุนไพรเพื่อใช้เป็นยารักษาโรค ฯลฯ 3) เป็นแหล่งนันทนาการและการท่องเที่ยว ป่าเทือกเขาบรรทัดเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ และความงดงามของธรรมชาติเป็นแหล่งรวมความหลากหลายของระบบนิเวศทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ การก่อเกิดน้ำตกปากแจ่ม ซึ่งเป็นน้ำตกสูงถึง 7 ชั้น ที่มีความสวยงาม ซึ่งถูกค้นพบไม่ไกลจากตัวอำเภอมากนัก เหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ และการทำกิจกรรมของผู้ในชุมชนและกลุ่มเด็กเยาวชน เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ธรรมชาตินอกห้องเรียน ทำให้กลุ่มเยาวชนในพื้นที่และนอกพื้นที่ให้ความสนใจ จัดกิจกรรมเข้าค่ายอาสาฯเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ ที่อุทยานแห่งชาติโดยมีเจ้าหน้าที่ของอุทยานเป็นผู้ให้ความรู้เป็นประจำทุกปี

เทือกเขาบรรทัด

ป่าเขาควนเหมียง

เป็นเทือกเขาหินปูนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเทือกเขาน้ำพราย ป่าเขาหน้าแดง ป่าควนยาง และป่าควนเหมียงเป็นพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 2 เป็นเขตป่าเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยพืชสมุนไพร และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ซึ่งต่อมาถูกประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 1 ตำบลปากแจ่ม มีพื้นที่โดยประมาณ 4 ตารางกิโลเมตร หรือ 25,000 ไร่ เป็นเทือกเขาหินปูนที่มีรอยแตก โพรงถ้ำเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าจำพวกค้างคาว หมูหริ่ง เม่น อีเห็น เลียงผา เก้ง หมูป่า ลิงเสน ลิงหางยาว ตัวกินหมด ฯลฯ และพันธุ์ไม้ใหญ่ เช่น ต้นตะเคียนหมอ สามพอน ท้ายเพา ฯลฯ นอกจากนี้ ยังพบพรรณพืชจำพวกกล้วยไม้ตระกูลรองเท้านารี หวาย และสิงโต และยังเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งปุ๋ยขี้ค้างคาวสำหรับชุมชนในที่ราบลุ่มแม่น้ำตรังมาตั้งแต่ในอดีต ปัจจุบันมีชุมชนอาศัยอยู่รอบพื้นที่ดังกล่าวได้แก่ บ้านหน้าเขา บ้านในเขา บ้านไส้หว้าน บ้านลำแพะ บ้านคลองคุ้ย บ้านหนองหอย บ้านปากแจ่ม บ้านในอ่าว บ้านท่ามะปราง เทือกเขาดังกล่าวจึงเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญต่อวิถีการเกษตรของชุมชนโดยรอบ

ถ้ำและภูเขา

พื้นที่เขาควนเหมียงเป็นระบบนิเวศที่มีบทบาทหน้าที่ตลอดจนคุณค่าและความสำคัญต่อวิถีชีวิตทั้งของมนุษย์ พืช และสัตว์ ทั้งทางนิเวศวิทยา เศรษฐกิจและการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ ชุมชนมีจิตสำนึกในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ มีระเบียบในการนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อความมั่นคงในแหล่งอาหาร เช่น การสร้างบ้านต้องขออนุญาตผู้นำชุมชน ขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในพื้นที่เท่าที่จำเป็น การดูแลรักษาโดยการรณรงค์ปลูกป่าทดแทน เพื่อให้ทุกคนมีจิตสำนึกรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ เช่น มีโครงการปลูกป่าเพื่อเทิดพระเกียรติ โดยได้รับการสนับสนุนกล้าไม้จากอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า (น้ำตกปากแจ่ม) และความที่ชุมชนปากแจ่มมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ชาวบ้านในพื้นที่บางคนในอดีตนั้นเป็นพรานล่าสัตว์ แต่ปัจจุบันหลายคนเลิกประกอบอาชีพนี้แล้ว จึงทำให้เห็นว่าในพื้นที่ป่าบริเวณนี้มีสัตว์ป่าชนิดต่างๆ เพิ่มขึ้นมากมาย อาทิ เลียงผา หมูป่า เม่น อีเห็น เก้ง กระรอก ลิงหางยาว ตัวกินมด และประเภทสัตว์ปีกนานาชนิด เช่น นกเอี้ยงถ้ำ นกนางแอ่น นกเขา เป็นต้น ส่วนการจัดการดูแลอนุรักษ์สัตว์ป่านั้น ทางชุมชนได้ขอความร่วมมือจากชาวบ้านห้ามล่าสัตว์ป่าชนิดหายากใกล้จะสูญพันธุ์ เช่น เลียงผา ค้างคาวหน้ายักษ์กุมภกรรณ และการจับน้ำผึ้งป่าด้วยวิธีการไม่ทำลายล้าง การช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้มีการลักลอบยิงสัตว์ในป่าทั้งคนในชุมชนและนอกชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ เพื่อเป็นการฟื้นฟูให้พื้นที่คงความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารของชุมชนให้ยาวนานที่สุด คุณประโยชน์ที่พึงมีพึงได้รับจากพื้นที่แห่งนี้ ได้แก่

  1. การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และทำให้พื้นที่มีทัศนียภาพทิวทัศน์ที่สวยงาม นอกจากนี้พื้นที่ป่าโซนเทือกเขามีบทบาทสำคัญในการลดอุณหภูมิของอากาศในช่วงฤดูร้อน และลักษณะการวางตัวของแนวเทือกเขาถ้ำแรดยังช่วยเป็นเกราะกำบังลมให้บ้านเรือนที่อาศัย และป้องกันพายุได้เป็นอย่างดี

  2. ผลผลิตจากพื้นที่ป่าโซนเขา ผืนป่าแห่งนี้เป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ มีการใช้ประโยชน์ผลผลิตจากป่าทุกระดับตั้งแต่เพื่อการยังชีพ ไปจนถึงเพื่อการค้า เช่น การเก็บน้ำผึ้งป่า การล่าสัตว์ เก็บลูกเนียงป่า หาหน่อไม้ การนำปุ๋ยธรรมชาติ (ขี้ค้างคาว) มาใช้ในด้านการเกษตรเรือกสวนไร่นา และการนำไม้มาเพื่อสร้างที่พักอาศัยและเป็นเชื้อเพลิง รวมถึงการเก็บสมุนไพรมาปรุงเป็นยาเพื่อรักษาโรคต่างๆ เป็นวิถีการดำรงอยู่ของชุมชนคู่กับใช้ประโยชน์จากป่าแบบพึ่งพาอาศัยกัน

ถ้ำค้างคาว

สัตว์ป่า

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน และ 20-21 ธันวาคม 2562 กลุ่มรักษ์เขาถ้ำแรด พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารี คณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ สถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย คณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ร่วมกับหน่วยงานและชาวบ้านในพื้นที่ทำการสำรวจสัตว์ป่าในพื้นที่ ดังนี้

  1. ถ้ำแรด และพื้นที่หน้าถ้ำ

  2. 2/1 ถ้ำเขาตังโหลนชั้นล่าง และพื้นที่หน้าถ้ำ 2/2 ถ้ำเขาตังโหลนชั้นบน

  3. ถ้ำนายผอม และพื้นที่หน้าถ้ำ

  4. ถ้ำขี้แรด และพื้นที่หน้าถ้ำ

  5. ถ้ำหมูหริ่ง และพื้นที่หน้าถ้ำ

  6. ถ้ำพลู และพื้นที่หน้าถ้ำ

  7. ถ้ำพันคลิ้ง และพื้นที่หน้าถ้ำ

  8. ถ้ำหน้าเสือ และพื้นที่หน้าถ้ำ

  9. ถ้ำเลียงผา และพื้นที่หน้าถ้ำ

  10. ถ้ำเพิงตาไม้

 

แหล่งขุดพบโบราณคดี เขาถ้ำแรดแหล่งขุดพบโบราณคดี เขาถ้ำแรด

 

ผลการสำรวจพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างน้อย 26 ชนิด โดยส่วนใหญ่เป็นค้างคาว (16 ชนิด) เพราะค้างคาวเป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มหลักที่อยู่อาศัยในถ้ำและเป็นตัวกลางผู้ขับเคลื่อนพลวัตรของระบบนิเวศถ้ำ ในจำนวนนี้มีค้างคาวหน้ายักษ์กุมภกรรณ ซึ่งเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของไทยและหายาก พบเฉพาะในภาคใต้ของไทยและไม่พบในประเทศอื่นเลย มีสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และพบรวมกันทั้งหมดประมาณ 5,000 ตัวเท่านั้น โดยค้างคาวชนิดนี้มีประชากรในถ้ำแรด เขาเหมียงนี้มีขนาดประชากรประมาณ 400 ตัว ซึ่งนับว่าเป็นประชากรใหญ่และสำคัญมาก สมควรแก่การอนุรักษ์ไว้อย่างยิ่ง

ในขณะที่บริเวณปากถ้ำและรอบถ้ำ พบสัตว์ฟันแทะ 4 ชนิด สัตว์กินแมลงและกระแตอันดับละ 1 ชนิด โดยพบหนูเหม็น หรือสาทู ซึ่งเป็นสัตว์สัตว์ที่ค่อนข้างหายาก พบเฉพาะในภาคใต้ กินแมลงตามพื้นและไส้เดือนเป็นอาหาร นอกจากนั้นยังพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่หายากใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นลิงเสน หมูหริ่ง รวมทั้งเลียงผา และลิ่น ซึ่งสองชนิดหลังแม้จะยังไม่พบเห็นตัวแต่ก็มีร่องรอยและคำบอกเล่าที่น่าเชื่อถือจากชาวบ้านที่เคยพบเห็นอีกด้วย และก็บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่าพื้นที่นี้มีความสำคัญมากต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าหายากหลายชนิด

ในส่วนของนกบริเวณถ้ำ พบ 6 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกที่หากินตามต้นไม้นอกถ้ำ มีนก 2 ชนิดที่สัมพันธ์กับถ้ำโดยตรงและอาศัยทํารังอยู่ในบริเวณปากถ้ำคือนกเอี้ยงถ้ำ และนกนางแอ่นตะโพกแดง ในกลุ่มสัตว์สะเทินนํ้าสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลาน พบ 5 ชนิด ซึ่งล้วนแต่เป็นสัตว์ที่ปรับตัวอยู่คู่กับถ้ำ ไม่ว่าจะเป็นงูกาบหมากหางนิล ซึ่งกินค้างคาวในถ้ำเป็นอาหาร หรือตุ๊กกายหมอบุญส่งและจิ้งจกนิ้วยาวอาจารย์ธัญญา ที่พบเฉพาะในภาคใต้ กินสัตว์ขาข้อตอนกลางคืนตามพื้น ผนังถ้ำ หรือต้นไม้รอบๆ ถ้ำ และอาศัยวางไข่ติดกับผนังถ้ำ

ในกลุ่มของสัตว์กลุ่มครัสเตเชีย มอลลัสก์ และสัตว์ขาข้อ พบรวมกันทั้งหมดอย่างน้อย 35 ชนิด แต่ยังมีอีกหลายชนิดที่ยังต้องรอการจําแนกและระบุชนิดอย่างถูกต้องในห้องปฏิบัติการต่อไป

 

แหล่งขุดพบโบราณคดี เขาถ้ำแรดแหล่งขุดพบโบราณคดี เขาถ้ำแรด

 

ในภาพรวมความหลากหลายทางชีวภาพด้านสัตว์ป่าของพื้นที่เขาเหมียง นับว่าโดดเด่นมากจากทั้งการพบสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายมาก และหลายชนิดในจํานวนนั้นยังจัดว่าเป็นสัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ระดับโลกอีกด้วย เมื่อประกอบกับการค้นพบแหล่งโบราณคดีด้วยแล้ว จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะอนุรักษ์พื้นที่เขาเหมียงไว้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาวิจัย และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศหรือเชิงประวัติศาสตร์โดยให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ

พืช ป่าไม้

การสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์ไม้ในพื้นที่ป่าภูเขาหินปูน จำนวน 2 ครั้ง พบพันธุ์พืช 229 ชนิด เป็นพันธุ์ไม้ใหญ่ที่มีความสำคัญ เช่น ตะเคียนหมอ ท้ายเพา สาย มันหมู ขาวดำ สังเกียจ สามพอน ฯลฯ สำหรับพันธุ์ไม้อื่นๆนั้นขึ้นอยู่ตามแต่ละพื้นที่ตั้งแต่ในหุบเขา ลำห้วย เชิงเขา ถ้ำที่ราบลุ่มบนภูเขาและยอดเขา รายละเอียดรายชื่อพรรณไม้พื้นที่เขาควนเหมียงมีรายละเอียดระบุในภาคผนวก ในสภาพพื้นที่ที่มีภูมินิเวศสลับซับซ้อนเช่นนี้ ทำให้มีทั้งพันธุกรรมพืช - สัตว์หลากหลาย โดยเฉพาะพันธุ์ไม้ซึ่งมีทั้งไม้ชั้นสูง ชั้นกลาง ชั้นล่าง จึงเป็นลักษณะจำเพาะที่พบเห็นยากในพื้นที่อื่นๆ ทั้งไม้ใช้สอย สมุนไพร พืชอาหาร ไม้ดอก กล้วยไม้ ต้นปลง โดยเฉพาะพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งถิ่นที่อยู่ทั่วไปของ ว่านดงพญาเย็น ที่ชอบขึ้นตามซอกหิน หน้าผาชัน กล้วยไม้ตระกูลหวาย สิงโต และที่สำคัญพบกล้วยไม้ตระกูลรองเท้านารีอย่างน้อยสองสายพันธุ์ ทั้งนี้กรมป่าไม้ได้อนุมัติให้ดำเนินการโครงการป่าชุมชน ตามคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 5377/2561 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 จำนวน 237 ไร่ เพื่อแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า โดยใช้แผนงานยุทธศาสตร์ให้ประชาชน ดูแล รักษาและฟื้นฟูป่า ป้องกันและรักษาผืนป่าให้อยู่คู่กับชุมชน ชุมชนบ้านในเขาตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ได้ดำเนินกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามโครงการเยาวชนรักษ์น้ำ รักษ์ป่า มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 – ปัจจุบัน

 

แหล่งขุดพบโบราณคดี เขาถ้ำแรดแหล่งขุดพบโบราณคดี เขาถ้ำแรด

แหล่งน้ำ น้ำซับ น้ำผุด

พื้นที่เขาควนเหมียง เป็นต้นน้ำแหล่งกำเนิดลำคลองหลายสายของพื้นที่ตำบลปากแจ่มที่ไหลสู่แม่น้ำตรัง เป็นต้นกำเนิดลำคลองห้วยยาง อยู่ทางทิศตะวันตกของเขาควนเหมียง คลองห้วยยางเป็นที่อาศัยของปลาหายากและใกล้จะสูญพันธุ์ชนิดหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า “ปลาดุกลำพัน”ลำคลองห้วยยางไหลลงสู่คลองคลองคุ้ย คลองคลองคุ้ยไหลลงสู่คลองลำภูรา คลองลำภูราไหลลงสู่แม่น้ำตรัง ตามลำดับ เป็นต้นกำเนิดของทำนบใต้คลอง อยู่ทางทิศใต้ของเขาควนเหมียง เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ชาวบ้านใช้น้ำจากทำนบแห่งนี้สำหรับทำการเกษตรกรรม เป็นสายน้ำที่ไหลเพิ่มปริมาณน้ำให้กับคลองลำเหลง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาควนเหมียง และยังเป็นต้นกำเนิดของแหล่งป่าน้ำซับซึม ตาน้ำผุดขนาดใหญ่บริเวณบ้านไส้หว้าน หมู่ที่ 1 ตำบลปากแจ่ม อยู่ทางทิศใต้ของเขาควนเหมียง ซึ่งนายเปี่ยม หนูกูล อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ได้ทำการพิสูจน์แล้วว่า พื้นที่แหล่งน้ำซับซึมแห่งนี้ มีต้นกำเนิดจากเขาควนเหมียง

แหล่งน้ำที่มีต้นกำเนิดจากเขาควนเหมียงนี้ เป็นแหล่งน้ำที่คนในชุมชนใช้กันมาหลายชั่วอายุคน ชาวบ้านใช้ในการอุปโภคบริโภค ใช้ทรัพยากรน้ำเพื่อการประกอบอาชีพและใช้น้ำเพื่อประโยชน์อื่นๆ แหล่งน้ำซับนี้จะถูกนำไปใช้ในการอุปโภคไม่ได้ใช้ในการบริโภค ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก สามารถเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคยังเพียงพอและใช้ได้ตลอดทั้งปี ในส่วนของสภาพปัญหาด้านการใช้น้ำที่พบมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากภาวะแห้งแล้งตามฤดูกาล ชาวปากแจ่มส่วนใหญ่จะมีความเข้าใจถึงฐานทรัพยากรแหล่งน้ำน้ำซับน้ำผุด และแหล่งกำเนิดซึ่งก็คือป่า การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตลอดจนระบบนิเวศในพื้นที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งน้ำซับของคนในพื้นที่ตำบลปากแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียงที่มีน้ำเพียงพอใช้ได้ตลอดทั้งปี ซึ่งแม้จะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำตกลำคลองโดยตรง แต่เห็นถึงความสำคัญความจำเป็นอย่างมากต่อคนในชุมชน เป็นฐานทรัพยากรที่ชุมชนจะต้องดูแลรักษาและอนุรักษ์ป่าเพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี

 

แหล่งขุดพบโบราณคดี เขาถ้ำแรด

 

ข้อมูลด้านสังคมและทุนทางสังคมในพื้นที่

ความเชื่อของคนในชุมชนต่อเขาถ้ำแรด

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวบ้านนับถือ และมีความเชื่อนับถือศรัทธาสืบทอดต่อ ๆ กันมาตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ย่า - ตายาย ว่าเป็นบรรพบุรุษของคนที่นี่ คือ

“ทวดจันสุข” ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นผีบรรพบุรุษ เป็นผู้ที่เข้ามาปักหลักสร้างถิ่นฐานในพื้นที่นี่เป็นคนแรก ๆ เป็นต้นตระกูลของตระกูลโชติรัตน์ซึ่งเป็นตระกูลของผู้นำมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้ เป็นผู้ที่มีบุญคุณต่อลูกหลานที่ทำให้ชุมชนแห่งนี้ได้รู้จักกับพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์มากด้วยความหลากหลายของระบบนิเวศ ที่เอื้ออำนวยต่อการประกอบอาชีพในด้านการเกษตร และด้านความเป็นอยู่อื่น ๆ และยังทำหน้าที่ในการดูแลคุ้มครองลูกหลาน ชาวบ้านมีความเชื่อถือกันมาก และจะมีการแก้บนด้วยดอกไม้ ธูปเทียน หรือปะทัด เมื่อได้ตามที่ขอแล้วทุกครั้ง

หากมองบทบาทคุณค่าทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับความเชื่อทวดของชาวบ้านในพื้นที่นี้ เราจะพบว่าบริเวณป่าบริเวณเทือกเขาถ้ำแรด และเขาเล(เทือกเขาบรรทัด)แห่งนี้มีความสำคัญในเชิงศาสนาและวัฒนธรรมด้านวิถีความเชื่อดั้งเดิมของชุมชนเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของทวด “จันสุข” ชาวบ้านต่างเชื่อกันว่าทวดจันสุข เป็นงูบองหลาขนาดใหญ่ที่เลื้อยข้ามไปมาระหว่างเขาเล และเขาถ้ำแรด ไม่มีชาวบ้านคนใดที่กล้าทำร้ายทวด ซึ่งจากความเป็นจริงของสภาพพื้นที่ป่าในอดีตที่มีความอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่า เช่น งู จะมีลักษณะลำตัวที่ใหญ่มาก ยายเคยเล่าให้ฟังว่า เคยเห็นงูบองหลาเลื้อยผ่านหน้าบ้านทุกปี ตัวเท่ากอหมาก และปีใดที่เห็นงูทุกปีฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาลน้ำท่าจะดี ทำนาได้ผลผลิตดี จนชาวบ้านเชื่อว่าเป็นผลพวงมาจากทวดจันสุข ทำให้ชาวบ้านเชื่อและให้ความเคารพงูทวดเรื่อยมา และเมื่อใดก็ตามที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน หรือจัดกิจกรรมเพื่อชุมชนทุกอย่างก็จะกาดถึง (กล่าวถึง) ทุกครั้งเพื่อความสบายใจขอให้แคล้วคลาดปลอดภัย และประสบกับความสำเร็จ ทุกวันนี้ก็ยังคงมีความเชื่อนี้อยู่คู่ชุมชนแห่งนี้ และ “ทวดจันสุข” ทำหน้าที่อีกประการ คือ คอยควบคุมความพฤติกรรมของคนในชุมชน เมื่อมีการกระทำผิดจะให้สาบานต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ และเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะให้คุณให้โทษได้จริงๆ

นอกจากนับถือทวดจันสุขแล้วชาวบ้านยังมีการนับถือพระภูมิเจ้าที่ เจ้าป่า เจ้าเขา ซึ่งเกี่ยวข้องกับอาชีพและที่ดินที่ชาวบ้านครอบครองอยู่ จะมีการบนบานศาลกล่าวเพื่อให้พืชพรรณ เรือกสวนไร่นา อุดมสมบูรณ์ และไม่มีภัยอันตรายในการทำสวน ทำไร่ เจ้าของสวนจะทำการเซ่นไหว้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง นอกจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่กล่าวถึงแล้วข้างต้น ชาวบ้านยังนับถือวิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับ วิญญาณบรรพบุรุษในวันทำบุญเดือนสิบของทุกปี

 

แหล่งโบราณคดี เขาถ้ำแรดแหล่งโบราณคดี เขาถ้ำแรด

การละเล่นพื้นบ้าน

มโนราห์ นายปลด ขาวนิ่ม ซึ่งอดีตเคยเป็นมโนราห์ชื่อดัง ปัจจุบันอายุ 61 ปี อาศัยอยู่ บ้านเลขที่ 39 หมู่ที่ 1 ตำบลปากแจ่ม ส่วนหนังตะลุง ก็มี นายคลิ้ง โชติรัตน์ อดีตกำนันตำบลปากแจ่ม และยังเป็นผู้ที่มีความสามารถในด้านขับหนังตะลุง ได้ให้เหตุผลตามความเชื่อของคนโบราณว่า หากเมื่อใดก็ตามที่เลิกเล่นหนังตะลุงแล้ว ต้องนำรูปตัวหนังไปเก็บไว้นอกบ้านเรือนที่อาศัย ในส่วนของตัวท่านเมื่อเลิกเล่นหนังแล้วท่านได้นำรูปหนังไปเก็บไว้ที่บริเวณปากถ้ำเทือกเขาถ้ำแรด จุดประสงค์ของท่านเพื่อฝากให้รูปหนังตะลุงเหล่านี้ที่ชาวบ้านเชื่อกันว่ามีชีวิต และมีครูหมอ ได้เฝ้าระวัง ดูแลรักษาธรรมชาติเพื่อความยั่งยืนต่อไป เป็นความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งของชุมชนแห่งนี้

กระบวนการเรียนรู้ปัญหาและพัฒนาการเพื่อความอยู่รอดของชุมชน

การเรียนรู้ในชุมชนถึงความร่วมมือในการช่วยเหลือกันพิทักษ์รักษาป่าเขา ป่าต้นน้ำลำธาร เป็นวิธีการต่ออายุหรือสร้างความยั่งยืนให้ธรรมชาติที่ชุมชนหวงแหนไว้ได้ชาวบ้านปากแจ่มเข้าใจดีว่าหากวันใดชุมชนต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่และต้องหมดไปกับการใช้ประโยชน์อย่างไร้คุณค่าอย่างในอดีตอีกครั้ง ชุมชนแห่งนี้ต้องเจอกับวิกฤติครั้งยิ่งใหญ่ วิถีการประกอบอาชีพที่จำเป็นต้องพึ่งพิงอาศัยทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความอยู่รอดต้องประสบกับปัญหาอย่างรุนแรงและชุมชนปากแจ่มจะเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ล่มสลายยากที่จะเยียวยาได้อีก

กิจกรรมทำบุญสะเดาะเคราะห์ให้เจ้าป่า - เจ้าเขา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ใช้บริเวณหน้าถ้ำแรด (เขาควนเหมียง) เป็นสถานที่จัดกิจกรรมของชุมชน เป็นสถานที่รวมผู้คนในโอกาสการจัดงานเพื่อดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แสดงให้เห็นถึงการสำนึกบุญคุณที่ธรรมชาติให้ชุมชนได้อยู่ดีมีสุข มีความปลอดภัยและประสบความสำเร็จในด้านความเป็นอยู่รวมถึงการประกอบอาชีพด้านต่างๆ

กิจกรรมการบวชป่าบวชต้นไม้ และการทำบุญสืบชะตาขุนเขามาประยุกต์ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชน เพื่อเพิ่มความเชื่อความศรัทธาที่ชุมชนมีต่อป่าต่อขุนเขาที่มีผลต่อการกำหนดทางสภาพจิตใจ กำหนดแนวทางความประพฤติปฏิบัติให้แก่กลุ่มคนในชุมชนที่มีความศรัทธาความเชื่อร่วมกัน โดยนัยสำคัญของกิจกรรมนี้ มีคุณค่า มีความหมายและมีพลังต่อคนในชุมชนแห่งนี้ เมื่อความเชื่อ-ความศรัทธายังมีคุณค่าต่อคนอยู่

 

การค้นพบทางโบราณคดี

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562 กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีการพบโครงกระดูกและโบราณวัตถุภายในถ้ำที่เขาควนเหมียง กลุ่มโบราณคดีจึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562

ผลจากการตรวจสอบ พบหลักฐานทางโบราณคดีในพื้นที่ “ถ้ำแรด” ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเขาควนเหมียง โดยมีลักษณะเป็นถ้ำขนาดใหญ่ จากการสำรวจทางโบราณคดีพบเศษภาชนะดินเผากระจายอยู่บนผิวดินลานถ้ำ ส่วนโครงกระดูกพบบริเวณโพรงถ้ำทางด้านทิศเหนือของถ้ำแรด ตัวโพรงสูงจากผิวดินประมาณ 5 เมตร มีลักษณะเป็นโพรงเล็ก ๆ ปากโพรงกว้าง 2 เมตร ยาว 11 เมตร เพดานถ้ำสูง 70-90 เซนติเมตร หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ ได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ผู้ใหญ่จำนวน 1 โครง ลักษณะกระดูกแต่ละส่วนกระจาย ไม่อยู่ในตำแหน่งตามหลักกายวิภาค สันนิษฐานว่าเกิดจากการรบกวนของสัตว์ ใกล้กับที่พบกระดูกมนุษย์พบขวานหินขัดทรงสี่เหลียมคางหมูทำจากหิน mudstone 1 ชิ้น ฐานรองภาชนะดินเผาและภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยลายเชือกทาบคล้ายหม้อหวด 1 ใบ ส่วนทางด้านทิศตะวันออกสุดของโพรงถ้ำพบภาชนะดินเผาจำนวน 3 ใบ เป็น ภาชนะดินเผาก้นกลม จำนวน 2 ใบ และภาชนะดินเผาทรงกระถางปากผาย

 

แหล่งโบราณคดี เขาถ้ำแรดแหล่งโบราณคดี เขาถ้ำแรดแหล่งโบราณคดี เขาถ้ำแรดแหล่งโบราณคดี เขาถ้ำแรด

 

จากหลักฐานโบราณคดีดังกล่าวกำหนดอายุอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหินใหม่ราว 3,000 -4,000 ปีมาแล้ว โดยมนุษย์ได้เข้ามาใช้ถ้ำแรดบริเวณลานถ้ำด้านล่างเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวในช่วงฤดูกาล เนื่องจากพบหลักฐานทางโบราณคดี ได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาและจากความเหมาะสมของพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นเพิงผา ลานขนาดใหญ่ อากาศถ่ายเท สามารถหลบลมหลบฝนได้ ส่วนบริเวณโพรงถ้ำที่พบโครงกระดูกมนุษย์นั้นได้ถูกใช้เป็นพื้นที่สำหรับพิธีกรรมฝังศพ จากการพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ทั้งชิ้นเล็กและใหญ่ จึงสันนิษฐานว่าเป็นการฝังศพครั้งที่ 1 (Primary Burial) คือ มีการนำศพผู้ตายไปวางไว้ พร้อมกับสิ่งของอุทิศ

จากการสำรวจพบแหล่งโบราณคดีเขาควนเหมียง(ถ้ำแรด) ทางชุมชนปากแจ่ม และหน่วยงานในท้องถิ่นเล็งเห็นความสำคัญและอยากให้พัฒนาพื้นที่เทือกเขาควนเหมียงเป็นแหล่งเรียนรู้ ทางสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา จึงดำเนินการสำรวจเขาควนเหมียงและพื้นที่ใกล้เคียงเพิ่มเติม ทำให้พบแหล่งโบราณคดี 15 แหล่ง เป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ทั้งหมด จากความสำคัญดังกล่าว รวมทั้งการพบหลักฐานทางโบราณคดีใหม่บริเวณตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด ได้แก่ แหล่งโบราณคดีเขาคุรำ เขานุ้ย เขาหัวพาน ทางสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา จึงได้จัดทำ “โครงการสำรวจและปรับปรุงข้อมูลแหล่งโบราณคดีอำเภอห้วยยอดจังหวัดตรังขึ้น” โดยท่านประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากรได้จัดสรรงบประมาณเงินกองทุนโบราณคดีปี 2563 ให้จัดทำโครงการนี้ขึ้น ซึ่งผลจากการศึกษาในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มองค์ความรู้ทางโบราณคดี ทำให้สามารถมองเห็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดตรังและสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการอนุรักษ์ พัฒนาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมต่อไปได้

 

เขาควนเหมือง

แผนที่แสดงตำแหน่งแหล่งโบราณคดีเขาควนเหมียงและพื้นที่ใกล้เคียง

  1. แหล่งโบราณคดีเขาควนเหมียง (ถ้ำแรด)

  2. แหล่งโบราณคดีเขาควนเหมียง (เพิงผาลุงละม้าย)

  3. แหล่งโบราณคดีเขาหน้าผึ้ง

  4. แหล่งโบราณคดีเขาควนเหมียง (ถ้ำอ่าวพลู 1)

  5. แหล่งโบราณคดีเขาควนเหมียง (เพิงผาอ่าวพลู 2)

  6. แหล่งโบราณคดีเขาควนเหมียง (ถ้ำอ่าวพลู 3)

  7. แหล่งโบราณคดีเขาควนเหมียง (ถ้ำตาผอม 1)

  8. แหล่งโบราณคดีเขาควนเหมียง (ถ้ำตาผอม 2)

  9. แหล่งโบราณคดีเขาควนเหมียง (ถ้ำเขาหน้าแดง 1)

  10. แหล่งโบราณคดีเขาควนเหมียง (ถ้ำเขาหน้าแดง 2 ยายอารี)

  11. แหล่งโบราณคดีเขาควนเหมียงด้านตะวันตก

  12. แหล่งโบราณคดีเขาจังโหลน (ถ้ำตาหวาง)

  13. แหล่งโบราณคดีเขาจังโหลน (ถ้ำหน้าผึ้ง)

  14. แหล่งโบราณคดีเขาหัก (ถ้ำตาล้อม 1)

  15. แหล่งโบราณคดีเขาหัก (ถ้ำตาล้อม 2)

  16. แหล่งโบราณคดีเขากลาง ๑

  17. แหล่งโบราณคดีเขากลาง ๒

  18. แหล่งโบราณคดีเขาช้างโทรม

  19. แหล่งโบราณคดีเขาหน้าถ้ำ 1

  20. แหล่งโบราณคดีเขาหน้าถ้ำ 2

(ที่มา : กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา)

 

วิถีชีวิตของชุมชนรอบเขาถ้ำแรด

ความสัมพันธ์ของวิถีชุมชน กับธรรมชาติ และในปัจจุบันพื้นที่ป่าของชุมชนปากแจ่มที่ยังคงเหลืออยู่ คือ บริเวณเทือกเขาบรรทัดซึ่งถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ สปก. และเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่ - ย่า น้ำตกปากแจ่ม และป่าเทือกเขาควนเหมียง (เขาถ้ำแรด) ทำให้ชาวบ้านตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของชุมชนร่วมกับหน่วยงานของรัฐในพื้น และยังได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของเครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เทือกเขาบรรทัด เมื่อปี พ.ศ. 2544 ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนเกิดความสำนึกถึงบุญคุณของป่าเขา ธรรมชาติ และสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิต และชาวบ้านเชื่อว่าเมื่อไม่มีสิ่งเหล่านี้ ชีวิตก็อยู่ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ชุมชนจึงเริ่มต้นดูแลรักษาป่าต้นน้ำ และทรัพยากรธรรมชาติ โดยรอบของชุมชนซึ่งมีผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งชุมชนให้ดำรงอยู่จนถึงรุ่นลูกถึงหลานต่อไป และหากมองธรรมชาติทุกวันนี้จะเห็นว่า ธรรมชาติยังใกล้ชิดและผูกพันกับคนปากแจ่มในทุกด้าน แม้ในอดีตชาวปากแจ่มต้องพบเจอกับเรื่องราวความเจ็บปวดของธรรมชาติ และความทุกข์โศกของชุมชน แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายเรื่องราวที่นำมาซึ่งความสุข ความสดชื่น อันก่อเกิดจากการพึ่งพาอาศัยของคนกับธรรมชาติ ณ พื้นที่แห่งนี้ ตามสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ชุมชนปากแจ่มมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ และป่าเขามาเป็นเวลายาวนาน

กิจกรรมสร้างสรรค์ของชุมชนในพื้นที่

ประชาชนในเขตองคการบริหารสวนตําบลปากแจ่ม ไดผลิตของใชพื้นเมืองขึ้นใชในครัวเรือนและเหลือเอาไวจําหนายบาง ไดแก เครื่องจักรสานที่ทําจากวัสดุธรรมชาติ, ผาบาติก สินคา OTOP และผลิตทางการเกษตรสวน ผลไม เชน เงาะ มังคุด ทุเรียน ฯ

ในพื้นที่มีการทำกิจกรรมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ในเขานวัตวิถี หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อยู่ในตำบลปากแจ่ม อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง มีจุดเด่นคือหมู่บ้านที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ ภูเขา ลำธาร แหล่งต้นน้ำ และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม มีกิจกรรมมากมายภายในหมู่บ้าน ชมถ้ำ ปีนผา เดินป่า ชิมผลไม้ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ที่ทำงานร่วมกับชาวบ้านและเยาวชนในพื้นที่ ที่มีมาต่อเนื่อง มีการตั้งกลุ่มเด็กและเยาวชนจิตอาสา จ.ตรัง รวมพลังปกป้อง “เทือกเขาถ้ำแรด” จัดค่ายเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเสริมสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ นอกจากนั้น ยังมีการสวดผ้าไตรจีวร เพื่อนำไปบวชป่า และการเดินเท้าสำรวจป่า บริเวณพื้นที่ ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด อันเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในชุมชนมาอย่างยาวนาน รวมทั้งการสร้างฝายหิน เพื่อชะลอน้ำล้นและกักเก็บน้ำ เป็นต้น

 

 

ทางเลือกและข้อเสนอต่อการพัฒนา

 

แหล่งโบราณคดี เขาถ้ำแรด

 

ทุนและศักยภาพของพื้นที่ของตำบลปากแจ่ม

จากทุนศักยภาพของพื้นที่ในด้านสังคมและสุขภาพ รวมถึงการมีส่วนร่วมในงานพัฒนาของชุมชนที่ผ่านมา ทางพื้นที่มีการกำหนดทางเลือกในการพัฒนาไว้อย่างชัดเจนในด้าน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การปกป้องวิถีชีวิตวัฒนธรรม และการนำทุนทางสังคมเหล่านี้พัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนภายใต้วิถีดั้งเดิมที่เอื้อต่อสุขภาพที่ดีของชาวตำบลปากแจ่ม ทางเลือกการพัฒนาที่เหมาะสมของพื้นที่ศึกษา ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่น้อยกว่า และเป็นทางเลือกในการพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ที่มีความสอดคล้องตามแผนพัฒนาพื้นที่ที่ผ่านมา ทำให้เห็นถึงทุนศักยภาพของพื้นที่ตำบลปากแจ่ม สามารถสรุปได้ดังนี้

  1. ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรป่าไม้สัตว์ป่าที่มีความสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง

  2. คนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้เพื่อการยังชีพ เช่น เป็นอาหาร สมุนไพรยารักษาโรค และเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

  3. เป็นแหล่งต้นน้ำ เป็นป่าน้ำซับที่เป็นต้นน้ำของแหล่งน้ำหลายสายที่คนในชุมชนใช้ในชีวิตประจำวันทั้งในทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนการควบคุมการกัดชะพังทลายของดิน

  4. ค้นพบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในพื้นที่ถ้ำแรดอีกหลายจุด จากหลักฐานโบราณคดีดังกล่าวกำหนดอายุอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหินใหม่ราว 3,000 -4,000 ปีมาแล้ว นับเป็นการค้นพบครั้งสำคัญ ที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนเป็นอารยะธรรมที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ

  5. การมีส่วนร่วมในงานพัฒนาของชุมชนที่ผ่านมามีความชัดเจนและมีความเข้มแข็ง ผู้นำชุมชนและคณะกรรมการชุมชนมีความเข้มแข็ง มีวิสัยทัศน์ที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ชุมชนมีการกำหนดทางเลือกในการพัฒนาไว้อย่างชัดเจนในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การปกป้องวิถีชีวิตวัฒนธรรม

  6. การมีส่วนร่วมในการลงทุน และการปฏิบัติงานในกิจกรรมต่างๆที่เป็นสาธารณะประโยชน์ของชุมชน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อมีกิจกรรมชุมชนทุกครั้ง คนในชุมชนจะร่วมกันลงทุนลงแรง และปฏิบัติงานเท่าที่ทำได้ ไม่เฉพาะแต่กิจกรรมป่าชุมชน ล่าสุดเมื่อมีการค้นพบแหล่งโบราณสถานโบราณวัตถุ คนในชุมชนมีการผลัดเปลี่ยนเวรยามกันมาช่วยกันดูแลเป็นหูเป็นตาแทนกรมศิลปากร

  7. หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานด้านการศึกษา ให้การสนับสนุน และมีความร่วมมือกันเป็นอย่างดี

ทางเลือกและข้อเสนอต่อการพัฒนา

จากการนำเสนอผลการประมินผลกระทบด้านสุขภาพ การนำเสนอข้อมูลศักยภาพของพื้นที่ ในชุมชนต่างลงเห็นว่าควรกำหนดทิศทางในการพัฒนาบนพื้นฐานความมั่นคงของทรัพยากร 4 ด้าน ดังนี้

  1. การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ

  2. การอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการ และใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

  3. การมีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งโบราณสถาน และเครือข่าย 6 อำเภอที่มีความเชื่อมโยงกันเป็นอารยะธรรมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เพื่อเตรียมการเสนอต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESSCO) ในการเป็นเมืองสร้างสรรค์หรือมรดกของมวลมนุษยชาติ

  4. การใช้ศักยภาพพื้นที่ในการบูรณาการชุมชนเพื่อการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมโดยใช้ศักยภาพแหล่งเรียนรู้ต่างๆในพื้นที่

 

 

ที่มาของข้อมูล


มูลนิธิสถาบันทรัพยากรชายฝั่งแห่งเอเชีย(Corin-Asia)
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาลัยสาธารณสุขสิรินธร จ.ตรัง
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา
องค์การบริหารส่วนตำบลปากแจ่ม
อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเทือกเขาน้ำพราย
กลุ่มรักษ์เขาถ้ำแรด