บอร์ดใหญ่ คสช.หนุนตั้ง ‘ศูนย์พักคอยใกล้บ้านใกล้ใจ’ ใน กทม.-ปริมณฑล เคาะแผน ‘ตัดวงจรโควิดระบาด’ ในชุมชนทั่วประเทศ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

   คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช) เห็นชอบแนวทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมสำคัญเพื่อตัดวงจรโควิดระบาดในชุมชนทั่วประเทศ ไฟเขียวสนับสนุนให้จัดตั้ง “ศูนย์พักคอยใกล้บ้านใกล้ใจ” ขึ้นในชุมชนแออัด กทม.-ปริมณฑล และเมืองใหญ่ ใช้ต้นแบบการทำงานจาก “คลองเตยโมเดล” ในฐานะนวัตกรรมใหม่ ด้านสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จับมือเครือข่ายเดินหน้าสรุปบทเรียน-จัดทำคู่มือประชาชน เตรียมขยายทั่วประเทศ
 
   ที่ประชุม คสช. เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ซึ่งมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช. สาธารณสุข รองประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มีมติเห็นชอบแนวทางตัดวงจรโควิดระบาดในชุมชน ด้วยการขยายการจัดตั้ง “ศูนย์พักคอยใกล้บ้านใกล้ใจ” ออกไปยังชุมชนแออัดทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นสถานที่พักพิงรอการส่งตัวเข้ารักษา และพักฟื้นรับการส่งตัวกลับจากโรงพยาบาล รวมทั้งฟื้นฟู สนับสนุนด้านเศรษฐกิจ สังคมให้ผู้ติดเชื้อโควิดในชุมชน และใช้เป็นศูนย์บริหารจัดการของชุมชนเพื่อหนุนช่วยการฉีดวัคซีนโควิดที่กำลังจะให้บริการครั้งใหญ่ในเร็วๆ นี้
 
   สำหรับศูนย์พักคอยใกล้บ้านใกล้ใจถือเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานในระดับพื้นที่ของชุมชน ภายใต้แผนงาน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้โควิด-19 ระลอกสาม” ซึ่ง สช. ร่วมกับภาคประชาสังคม และภาคียุทธศาสตร์สำคัญ อาทิ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมควบคุมโรค (คร.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คณะสงฆ์ในพื้นที่ ตลอดจนภาคเอกชน ฯลฯ ดำเนินการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เมื่อต้นปี 2564 นี้
 
   ศูนย์พักคอยฯ ดังกล่าวจะตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชน บริหารจัดการโดยคณะกรรมการของชุมชน ทำหน้าที่เป็นด่านหน้าในการรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ซึ่งถูกแยกตัวออกมาจากครัวเรือน และนอกจากจะเป็นการตัดวงจรระบาดยุติการแพร่เชื้อต่อในชุมชนแล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการดูแลเบื้องต้นที่ถูกวิธี และง่ายต่อการประสานงานเพื่อส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาตามระบบที่รัฐบาลวางไว้ โดยนำร่องแห่งแรกที่วัดสะพานในชุมชนแออัดคลองเตย ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา
 
   ดร.สาธิต กล่าวว่า ขณะนี้กรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล เป็นพื้นที่เสี่ยงสูงสุด มีชุมชนแออัดกระจายอยู่หลายแห่ง ชุมชนคลองเตยเป็นที่รวมของคนกว่าหนึ่งแสนคนที่แต่ละวันต้องกระจายทำงานไปหลายพื้นที่ และแต่ละครอบครัวก็อยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น เมื่อมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จึงมีโอกาสกระจายเชื้อได้อย่างกว้างขวางและระบาดรวดเร็ว การเกิดขึ้นของศูนย์พักคอยใกล้บ้านใกล้ใจตั้งขึ้นแห่งแรกในชุมชนคลองเตย จึงถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีส่วนสำคัญในการหนุนเสริมการทำงานของรัฐบาลเป็นอย่างมาก ช่วยให้วงจรการระบาดถูกตัดทอนลงอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
 
   “ศูนย์พักคอยใกล้บ้านใกล้ใจคลองเตย นับเป็นต้นแบบสำคัญของการลุกขึ้นมาจัดการกันเองของชุมชนและประชาชน สะท้อนให้เห็นถึงพลังของกระบวนการการมีส่วนร่วม ซึ่งโมเดลการทำงานของคลองเตย จะถูกนำไปขยายผลและประยุกต์ใช้กับชุมชนอื่นๆ ได้ทั่วประเทศ โดยเบื้องต้นจะเริ่มในชุมชนแออัด กรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อน” นายอนุทิน กล่าว
 
   รมช.สาธารณสุข กล่าวต่ออีกว่า กลไกที่สำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคในระดับพื้นที่ คือคณะกรรมการโรคติดต่อของแต่ละจังหวัด ซึ่งที่ประชุม คสช. ได้เห็นชอบให้ สช. ประสานกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ให้พิจารณาเพิ่มองค์ประกอบให้มีผู้แทนภาคประชาชนอยู่ในคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดของทุกจังหวัด เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมรับรู้ มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และร่วมดำเนินมาตรการควบคุมโรคภายในจังหวัดให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่มากขึ้นด้วย
 
   นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการจัดตั้งศูนย์พักคอยใกล้บ้านใกล้ใจ คือการสร้างระบบดูแลกันเองของประชาชนในระดับชุมชนที่เชื่อมต่อกับระบบใหญ่ของรัฐ ลดความตื่นตระหนกของประชาชน ลดภาระของระบบบริการหลัก ที่สำคัญคือเป็นการเตรียมความพร้อมด้านอาสาสมัครในชุมชน เกิดระบบบริหารจัดการและระบบสนับสนุนอื่นๆ ของประชาชน ซึ่งทั้งหมดจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ในระยะยาว “หลังจากนี้ สช.จะสรุปข้อเรียนรู้ของคลองเตยโมเดลและเร่งจัดทำคู่มือบทบาทของชุมชนในการตัดวงจรการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการใช้ศูนย์พักคอยฯ เป็นเครื่องมือ พร้อมกับการระดมจัดระบบสนับสนุนด้านเศรษฐกิจและสังคมให้คนในชุมชน รวมถึงให้ชุมชนมีบทบาทช่วยบริหารจัดการและรณรงค์หนุนช่วยการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแต่ละพื้นที่ในระยะต่อไปด้วย” เลขาธิการ คสช. กล่าว
 
   ทั้งนี้ ที่ประชุม คสช. ยังได้รับทราบความคืบหน้าการขับเคลื่อนมติการจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา และการจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 ประจำปี 2564 ที่กำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 25 พฤศจิกายน ปีนี้ รวมทั้งรับทราบผลการประเมินเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ว่าส่วนใหญ่บรรลุตามวัตถุประสงค์ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงความคืบหน้าในการสรรหา กขป.ชุดใหม่ โดยจะปิดรับสมัครในวันที่ 31 พ.ค.นี้ และสรรหาให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.นี้
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9141

รูปภาพ
ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ