สช.สานพลังหน่วยงานปกครอง-สุขภาพ-สังคม ผนึกกำลัง “รัฐ-เอกชน” สู้โควิดระลอกใหม่ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   สช.เปิดวงถกแผนงานรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ สู้ภัยโควิด-19 ระลอกใหม่ ภาคีทุกภาคส่วนเห็นพ้องจำเป็นต้องคลี่คลายปัญหา “แรงงานข้ามชาติ” รวมพลังจัดทำข้อเสนอสร้างประกันสุขภาพ-ควบคุมให้อยู่ในระบบ-พัฒนาคุณภาพชีวิต “นพ.ประทีป” ลุยจัดเวทีวิชาการ “ลดอคติ-สร้างความเข้าใจ” หนุนเสริมการทำงานภาครัฐ
 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมหารือแผนปฏิบัติการ “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19 ระลอกใหม่” ร่วมกับผู้บริหารหน่วยงานภาคีด้านปกครอง สาธารณสุข สังคม สื่อสาร และภาคเอกชน เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564 ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting เพื่อนำเสนอภาพรวมสถานการณ์ การมีส่วนร่วม รวมถึงแนวทางการสานพลังแบบบูรณาการ ในการสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันการแพร่ระบาดของภาครัฐ
 
   นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ความเสี่ยงของประเทศไทยในขณะนี้ ปัจจัยสำคัญยังคงเป็นเรื่องแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ที่มีแรงงานข้ามชาติทั้งในและนอกระบบรวมกันไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาคัดกรองอีกไม่น้อยกว่า 1-2 เดือน จึงจะทราบผลการควบคุมได้ ฉะนั้น ต้องมีการปิด จ.สมุทรสาคร ไปอีกสักระยะไม่ให้มีการเคลื่อนย้าย แต่หากยังมีการลักลอบข้ามชายแดนอยู่ ก็จะทำให้มีสถานการณ์การะบาดระลอกใหม่เข้ามาไม่จบ จนกว่าจะเริ่มมีการฉีดวัคซีนที่ช่วยให้สถานการณ์ควบคุมได้มากขึ้น
 
   นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า จากประสบการณ์ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา พบว่าปัญหาของแรงงานข้ามชาติคือ การขาดรายได้ ต้องหางานใหม่หรือเปลี่ยนนายจ้าง ทำให้ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนที่อย่างเป็นระบบได้ รวมไปถึงปัญหาเรื่องของค่าใช้จ่าย ค่าเช่าที่พัก การขาดหลักประกันสุขภาพเนื่องด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้แรงงานจำนวนมากเสี่ยงที่จะหลุดออกนอกระบบ ซึ่งจะยิ่งกลายเป็นปัญหาต่อการควบคุมโรคระบาดต่อไป
 
   “สิ่งที่เราห่วงคือการรักษาแรงงานให้อยู่ในระบบ รวมถึงการดึงแรงงานที่ผิดกฎหมายให้เข้ามาในระบบมากขึ้น ซึ่งข้อเสนอคือภาครัฐจะต้องมีมาตรการรับมือ ใช้กลไกทางกฎหมาย เช่น เยียวยาการถูกเลิกจ้างเพื่อให้แรงงานยังคงอยู่ในพื้นที่ต่อไปได้ การสร้างแรงจูงใจกับผู้ประกอบการเพื่อให้นำแรงงานเข้ามาในระบบ ทำให้ระบบการจดทะเบียนแรงงานใหม่ง่ายและถูกกว่านี้ รวมไปถึงการป้องกันการลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย เป็นต้น” นายอดิศร ระบุ
 
   ดร.ประกาสิต กายะสิทธิ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ภาครัฐควรใช้โอกาสนี้ในการจัดระบบแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอย่างถูกต้อง มีประกันสุขภาพ อย่างน้อยที่สุด อาจให้มีการแบ่งจ่าย 3 ส่วนคือ จากนายจ้าง แรงงาน และภาครัฐ รวมไปถึงข้อกำหนดเงื่อนไขต่างๆ เช่น การต้องมีอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) อยู่ในเงื่อนไข ตลอดจนการสร้างแรงจูงใจ เช่น ให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการเฝ้าระวังโรคระบาดมาลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น
 
   นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแก่งคอย จ.สระบุรี กล่าวว่า ภาพรวมของสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศ ปัจจุบันยังคงอยู่ในกลุ่มก้อนหลัก เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร ระยอง ซึ่งคาดว่าแนวโน้มของตัวเลขผู้ติดเชื้อจะยังคงเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย ก่อนจะเริ่มเสถียรมากขึ้น อย่างไรก็ตามจากจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ทั่วโลกยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความเสี่ยงของพื้นที่บริเวณชายแดนของไทย ทำให้การระบาดระลอกใหม่นี้อาจไม่ใช่รอบสุดท้าย แต่จะยังคงมีการะบาดระลอกอื่นๆ ที่ตามมาต่อเนื่อง
 
   “ขณะนี้รัฐบาลกำลังพูดคุยถึงการตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาในส่วนของบ่อนการพนัน รวมถึงแรงงานข้ามชาติ จะทำอย่างไรให้แรงงานเข้ามาในระบบได้แบบสมาร์ท ไม่ต้องลักลอบ โดยเฉพาะการที่แรงงานข้ามชาติจะช่วยรับผิดชอบตัวเองบางส่วนอย่างไรได้บ้าง เช่นเดียวกับนายจ้างที่ต้องมีการดูแลอย่างไร ไม่ให้เกิดการลักลอบนำเข้าแรงงานหรือปล่อยลอยแพจนกลายเป็นปัญหา” นพ.ประสิทธิ์ชัย ระบุ
 
   นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล กล่าวว่า การให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมทำงานกับภาครัฐ ควรมุ่งไปที่การทำงานเชิงรุกโดยไม่ต้องรอให้มีการติดเชื้อก่อน เช่น กระบวนการคัดกรองแบบเฝ้าระวัง เพื่อค้นหาว่าสถานประกอบการใดที่มีปัญหา รวมไปถึงเรื่องของวัคซีน ซึ่งสถานประกอบการอาจจะต้องร่วมกันกับท้องถิ่นเพื่อลงขันงบประมาณ ในการจัดหาวัคซีนเพื่อฉีดให้กับกลุ่มแรงงาน อันเป็นกลุ่มสำคัญที่จะทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ แต่อาจอยู่นอกกลุ่มเป้าหมายการฉีดของภาครัฐ
 
   ภญ.วิมลศิริ ปัญจธนศักดิ์ ที่ปรึกษาคลัสเตอร์สุขภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาในภาพรวมของกลุ่มภาคเอกชน ได้มีการประสานให้ความช่วยเหลือกับการดำเนินงานของภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคสร้างโรงพยาบาลสนาม หรือความรับผิดชอบในเรื่องของระบบงาน การทำงานที่บ้านต่างๆ เพื่อรักษาการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจให้ยังคงเดินหน้าต่อได้ อย่างไรก็ตามยังคงมีช่องว่างในกระบวนการดำเนินงานของภาครัฐหลายส่วน ที่ไม่สามารถดำเนินการออนไลน์ได้สะดวก จึงอาจต้องขอให้เกิดการสนับสนุนหรือผ่อนปรนเพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น
 
   ขณะที่ นพ.สำเริง แหยงกระโทก ประธานกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต 9 กล่าวว่า ความแตกต่างกับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกแรก ที่มุ่งปิดเพื่อให้โรคเหลือเป็นศูนย์แต่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจอย่างมาก หากแต่ในครั้งนี้ได้มีการกลับมาพูดถึงเรื่องของเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะการจะทำให้ลดลงจนเหลือศูนย์นั้นเป็นเรื่องยาก แต่เราจะต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโรคระบาดให้ได้ โดยที่ไม่กลัวเกินเหตุแต่ก็ไม่กล้าเกินไปจนทำให้การ์ดตก ฉะนั้นหากมีการจัดสมัชชาสุขภาพในระดับพื้นที่เพื่อลงรายละเอียด ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเหล่านี้ลงสู่ภูมิภาคมากขึ้น จะทำให้ความรู้เหล่านี้แผ่กว้างเป็นแนวราบ
 
   นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากภาพรวมสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทย ปัจจุบันได้มีการพูดคุยกันถึงแนวทางการชักชวนภาคเอกชนเข้ามาร่วมเป็นแรงหนุนเสริมมาตรการของภาครัฐเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีข้อมูลทางวิชาการที่เสนอว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติ และคนวัยทำงาน น่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการพุ่งเป้าเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด ทั้งในแง่ของแนวทางการจัดการ รวมไปถึงการจัดสรรวัคซีนต่างๆ
 
   “สิ่งสำคัญคือการสื่อสารสังคมเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงการปรับเปลี่ยนกรอบความคิดที่ว่าแรงงานข้ามชาตินั้นไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นฟันเฟืองให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสามารถเดินหน้าได้ โดยบทบาทของ สช. จะต้องสร้างเวทีทางวิชาการเพื่อสื่อสารแลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆ ให้ยกระดับสู่ข้อเสนอแนวทาง โดย สช.เองกำลังเตรียมการที่จะนำเรื่องเหล่านี้ไปสู่สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น หรือสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ว่าด้วยเรื่องคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติต่อไป” นพ.ประทีป ระบุ
 
   นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ ได้มองเห็นถึงสภาพปัญหาทั้งความไม่เข้าใจของสังคมต่อแรงงานข้ามชาติ หรือความไม่เข้าใจถึงธรรมชาติของโรคและวัคซีน ซึ่งการจัดการในช่วงเร่งรัดขณะนี้หากทำได้ไม่ดีพอ จะทำให้มีแรงงานที่หลุดออกจากระบบ ต่อเนื่องเป็นปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาอีกมาก
 
   “ข้อเสนอของแผนงานที่จะนำทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมหนุนเสริมมาตรการของภาครัฐ โดยมีเป้าหมายใน 3 ระยะ คือตัดวงจรการแพร่กระจายให้เร็วที่สุด ควบคู่กับการลดผลกระทบของเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก ผลกระทบทางสังคม ไปจนถึงสร้างการลงทุนระบบเฝ้าระวังเพื่อป้องกันและรับมือกับวิกฤตสุขภาพในอนาคต เพื่อให้เกิดสังคมหนึ่งเดียวที่ไม่มีการตีตราหรือแบ่งแยกคนกลุ่มใด” นพ.ปรีดา ระบุ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ
นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ