อนาคต ‘สนามบินนครปฐม’ กับ ‘ทางเลือก’ ของชุมชน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   

เมื่อการพัฒนาถูกตั้งคำถามจากคุณภาพชีวิต...


 
   ‘เหรียญมีสองด้าน’ เช่นเดียวกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาล ในมุมหนึ่งคือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้ความคาดหวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เติบโตขึ้น ทว่าอีกมุมหนึ่งคือ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับคนในพื้นที่จัดตั้งโครงการ
 
   ย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 กรมท่าอากาศยาน ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของ โครงการท่าอากาศยานสำหรับรองรับการบินเชิงธุรกิจ (Business Aviation Airport) เพื่อรองรับการขยายตัวด้านการท่องเที่ยว
 
   

เมื่อ ‘นครปฐม’ คือ พื้นที่เป้าหมาย


 
   ที่สุดแล้ว บริษัทที่ปรึกษาลงความเห็นว่า พื้นที่ขนาด 3,500 ไร่ ใน อ.นครชัยศรี และ อ.บางเลน จ.นครปฐม มีความเหมาะสมมากที่สุดจากการปูพรมศึกษาทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียงรวม 11 พื้นที่
 
   การเกิดขึ้นของโครงการขนาดใหญ่อย่าง “โครงการสนามบินนครปฐม” นำมาซึ่งข้อกังวลจากภาคประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจฐานราก สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม
 
   ชาวนครปฐมจึงได้หยิบยกเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่เรียกว่า การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment : HIA) เข้ามาใช้ เพื่อจัดทำข้อมูลวิชาการที่แสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงในทุกมิติ
 
   โจทย์ใหญ่จากนี้คือ จะทำอย่างไรให้การลงทุน ‘สมดุล’ กับคุณภาพชีวิตของทุกฝ่าย และเกิดการพัฒนาที่ไม่ทำลายวิถีชีวิตของคนในพื้นที่
 
   สำหรับ HIA เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม เพื่อวิเคราะห์และคาดการณ์ผลกระทบต่อสุขภาพทั้งเชิงบวกและลบ รวมถึงปัจจัยทางสังคมที่ผลกระทบต่อสุขภาพ โดยจะใช้ข้อมูลจากแต่ละพื้นที่เป็นตัวตั้ง ซึ่งในกระบวนการจัดทำ HIA จะมีการนำเครื่องมือที่หลากหลายเข้ามาช่วยวิเคราะห์ มีการนำกระบวนการการมีส่วนร่วมของพื้นที่เข้ามาใช้
 
   ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ “การสร้างข้อเสนอเชิงนโยบาย” ที่มีทางเลือกหลากหลาย เพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่มากที่สุด
 
   น.ส.ชุติมา น้อยนารถ คณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครปฐม เล่าว่า ภาคประชาชนเริ่มทราบข้อมูลโครงการในช่วงต้นปี 2562 ซึ่งเป็นการศึกษาครั้งที่สองของกรมท่าอากาศยาน แต่การรับรู้นั้นเป็นไปเฉพาะข้อมูลเชิงบวกของโครงการตามที่บริษัทที่ปรึกษานำเสนอ
 
   อย่างไรก็ดี เพื่อความรอบด้าน เครือข่ายภาคประชาชนจึงได้ปรึกษากับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในการนำเครื่องมือ HIA เข้ามาร่วมศึกษาคู่ขนานอย่างถูกต้องบนหลักวิชาการ เมื่อดูในรายละเอียด จึงพบว่าสนามบินเชิงธุรกิจแห่งนี้ เป็นสนามบินสำหรับเครื่องบินเล็กหรือเครื่องบินส่วนตัวของกลุ่มบุคคลพิเศษ นักธุรกิจ หรือผู้มีฐานะเท่านั้น แต่ละเที่ยวบินมีผู้โดยสารเฉลี่ยเพียง 2.7 คน
 
   นอกจากนี้ แม้จะพิจารณาจากตัวเลขคาดการณ์ในอีก 20 ปีข้างหน้า หรือปี 2589 ว่าอาจมีเที่ยวบินสูงสุดถึง 11,700 ลำ แต่ก็ยังมีผู้โดยสารเฉลี่ยเพียง 98 คนต่อวันเท่านั้น นั่นจึงไม่มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามามากขึ้น
 
   

ข้อมูลวิชาการจากกระบวนการมีส่วนร่วม


 
   “เราเริ่มกระบวนการ HIA ด้วยการทำข้อมูลพื้นฐานทางกายภาพของพื้นที่ ซึ่งพบว่า นอกจากจะมีความมั่นคงทางอาหารดีมากแล้ว ยังมีความเปราะบางทางระบบนิเวศ ด้วยสภาพของพื้นที่เป็นแก้มลิงขนาดใหญ่ที่รองรับน้ำในช่วงน้ำหลาก หากสนามบินเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบกับลุ่มแม่น้ำท่าจีนตอนล่าง และมีความเสี่ยงที่น้ำจะล้นไปถึง กทม.หรือนนทบุรี” ผู้แทนในพื้นที่ระบุ
 
   ขณะเดียวกัน ได้มีการจัดเวทีในชุมชนเพื่อพูดคุยถึงข้อห่วงกังวลในประเด็นต่างๆ โดยมีการพูดถึงผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งในเรื่องของน้ำ อากาศ เสียง ไม่ว่าจะผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือคนในพื้นที่ 3,500 ไร่ ที่จะต้องย้ายถิ่นฐาน หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมคือผู้อยู่อาศัยโดยรอบในระยะ 15-20 กิโลเมตร ที่จะพบปัญหาระยะยาวทั้งจากมลพิษ หรือความเปลี่ยนแปลงของเมืองที่รวดเร็ว ซึ่งอาจนำไปสู่การแย่งชิงทรัพยากร และกระทบกับคนในพื้นที่ที่มีเงินน้อยและเข้าถึงทรัพยากรได้น้อยกว่า
 
   มากไปกว่านั้น ยังมีข้อค้นพบอีกมากที่ในรายงานการศึกษาของโครงการ ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
 
   “HIA เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราจำแนกข้อมูลได้ชัดเจนขึ้นว่าอะไรที่กระทบกับสุขภาพและเป็นความเดือดร้อน ซึ่งวิเคราะห์ไปได้ถึงในระดับนโยบาย ดังนั้น HIA จึงเป็นใบเบิกทางที่ดีและมีน้ำหนัก ถือเป็นการจัดทำข้อมูลวิชาการบนกระบวนการการมีส่วนร่วมที่จะนำไปสู่การสร้างทางเลือกในการดำเนินนโยบายหรือโครงการใหญ่ๆ ได้อย่างแท้จริง” น.ส.ชุติมา ระบุ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147