ออกแบบ ‘อนาคต’ ตามบริบทของพื้นที่ ด้วยเครื่องมือ ‘สมัชชาฯ’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

   สวัสดีครับพี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่าน ในเดือนกันยายนนี้จะมีการจัดประชุมสุดยอดระดับผู้นำด้านระบบอาหารโลก (UN Food Systems Summit) ขึ้น โดยประเทศไทยจะไปนำเสนอแผน “Food System Transformation” ซึ่งมีสาระสำคัญเชื่อมร้อยกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๓ “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต” เมื่อปีที่ผ่านมา
 
   ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้ประสานความร่วมมือมายังสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เพื่อสานพลังร่วมกันในการจัดเวทีรับฟังความเห็น “National Dialogue” หรือการรับฟังความคิดเห็นระดับชาติ ก่อนจะสรุปเนื้อหา-องค์ความรู้ ไปประกอบการจัดทำแผนนำเสนอในเวทีโลก โดยจะเริ่มต้นหารือกันภายในเดือนมีนาคมนี้ ส่วนรายละเอียดและแง่มุมที่น่าสนใจเพิ่มเติม ทุกท่านสามารถพลิกอ่านได้ใน “จุลสารสานพลัง”
 
   พี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่าน เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในวงหารือเล็กๆ ที่มีผู้หลักผู้ใหญ่-ผู้ที่มีความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง
 
   การพูดคุยในวันนั้นมีเรื่องราวที่น่าสนใจที่ผมอยากจะนำมาเล่าต่อครับ เพราะนอกจากจะเกี่ยวข้องกับงานที่พวกเราได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำมาโดยตลอดแล้ว ยังสัมพันธ์โดยตรงกับภารกิจการสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้ประเทศไทยจากฐานราก ในแบบฉบับที่เรียกได้ว่า “จับต้องได้จริง”
 
   จากมุมมองที่ถ่ายทอดเป็นบทความสู่สังคมของอาจารย์ประเวศ วะสี “ทุกวันนี้สังคมไทยกำลังเป็นสังคมที่ส่วนต่างๆ หลุดออกจากกัน อาจารย์ใช้คำว่า Social Disintegration หรือการสลายตัวทางสังคม ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างปราศจากความต่อเนื่องและขาดพลัง” โดยสภาพการเช่นนี้จำเป็นต้องใช้ “พลังแห่งการถักทอ” ของภาคีเครือข่ายในวงกว้าง จึงได้มีการชักชวน สภาพัฒน์ฯ โดยมูลนิธิพัฒนาไท ซึ่งมีจุดแข็งด้านการวางแผน-กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ที่ให้น้ำหนักความสำคัญกับมิติทางการเมือง-เครือข่ายท้องถิ่น มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ในฐานะองค์กรวิชาการ และ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งมีประสบการณ์เป็นนักสานพลัง ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย และมีเครื่องมือภายใต้การจัดกระบวนการการมีส่วนร่วม เข้ามาพูดคุยกัน
 
   จนกระทั่งได้ข้อสรุปจากการหารือวงเล็กร่วมกันว่า จะมีการหยิบยกและ “เปิดพื้นที่” ให้กับประเด็นใหญ่ระดับประเทศ (Thailand Big Issues) ที่ต้องการวิธีการและทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ไข โดยจะทำงานผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “เวทีทิศทางอนคตประเทศไทย”
 
   เวทีดังกล่าวจะมีการเชื้อเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นๆ รวมถึงเยาวชน-คนรุ่นใหม่ เข้ามาถกแถลงร่วมกัน เพื่อกำหนดแนวทาง-วิธีการทำงาน ตลอดจนจัดทำเป็นข้อเสนอต่อสังคม ที่จะนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาหรือประเด็นเหล่านั้นให้สำเร็จ โดยช่วงแรกคุยกันว่าจะเริ่มจากการจัด ๓ เวที ในทุก ๑-๒ เดือนครับ
 
   เวทีที่๑ จะพูดคุยกันเรื่อง “เค้าโครงร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓” ที่สภาพัฒน์กำลังทำอยู่ เวทีที่๒ พูดเรื่อง “การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น” หลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นไปแล้วและสถาบันพระปกเกล้ากำลังจะชวนผู้บริหารท้องถิ่นตั้งวงคุย และเวทีที่๓ จะหยิบยกเรื่อง “การสร้างเครือข่ายของคนทำงานรุ่นใหม่ในพื้นที่” มาพูดคุยกัน โดยเวทีสุดท้ายนี้ สช.เป็นแม่งานครับ
 
   สำหรับเวทีแรกที่จะจัดขึ้นนั้น กำหนดกันว่าจะจัดในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่กำลังจะถึงนี้ครับ โดยทางสภาพัฒน์ฯ ได้ประเมินไว้ว่า ขณะนี้สถานการณ์ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ ๑๓ ให้ได้มากกว่าแนวทางหรือความฝัน นั่นคือต้องเป็นแผนที่จับต้องได้จริงๆ
 
   เบื้องต้นทางสภาพัฒน์ฯ ได้วางร่างกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ ๑๓ ไว้แล้ว โดยจะทำใน ๔ มิติ ได้แก่ ๑.เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ๒.สังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค ๓.วิถีชีวิตที่ยั่งยืน ๔.ปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ ทั้งหมดนี้ครอบคลุม “๑๓ หมุดหมาย สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน”
 
   พี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่านครับ จากทิศทางของร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ข้างต้น ผมคิดว่าเป็นโอกาสดีของเรา ที่จะบูรณาการงานระดับพื้นที่-เครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ เข้าไปหนุนเสริมกันและกัน เพื่อให้เกิดเป็น “พลังแห่งการถักถอ” และ “รูปธรรม” ตามที่ท่านอาจารย์ประเวศพูดเอาไว้
 
   ผมคิดว่า ในขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ระดับประเทศกำลังเดินหน้าจัดทำกันไป และปกติแต่ละจังหวัดจะมีการจัดทำแผนของแต่ละหน่วยงานแล้วรวมกันเป็นแผนยุทธศาสตร์จังหวัดอยู่แล้ว หากเราใช้โอกาสนี้ผลักดันให้เกิดการจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์จังหวัดหรือแผนแม่บท ๕ ปีของจังหวัด” ที่ตั้งต้นมาจากประเด็นปัญหาของแต่ละพื้นที่ โดยใช้ “สมัชชาสุขภาพจังหวัด” เป็นเครื่องมือได้ และขีดกรอบอยู่ภายใต้ “๔ มิติ ของร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ” ของสภาพัฒน์ฯ ได้ คงจะดีไม่น้อย
 
   ขณะนี้ สช.และเครือข่ายในพื้นที่หลายจังหวัด อยู่ระหว่างการขึ้นรูปสมัชชาสุขภาพจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนราชการ สถาบันวิชาการ ผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน ผู้แทนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม เข้ามาทำงานร่วมกัน ฉะนั้นหากเราใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัด ไปออกแบบอนาคตของจังหวัด โดยสอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ของสภาพัฒน์ฯ ก็จะยิ่งทำให้แผนนั้น มีประสิทธิภาพและมีผลต่อการปฏิบัติการภายใต้งบประมาณกระจายอำนาจที่ปัจจุบันมีอยู่แล้ว
 
   กล่าวคือ แผนยุทธศาสตร์จังหวัดหรือแผนแม่บท ๕ ปีของจังหวัด ที่ตั้งต้นมาจากกระบวนการการมีส่วนร่วมตามประเด็นของพื้นที่ จะเชื่อมต่อกับแผนงบประมาณของภาครัฐได้อย่างเป็นเนื้อเดียว
 
   นั่นหมายความว่าในระยะเวลา ๕ ปีของแผนฯ นี้ แต่ละจังหวัดก็จะมีงบประมาณจากงบกระจายอำนาจในการขับเคลื่อนงาน และถึงแม้ในอนาคต หากมีการปรับเปลี่ยนหรือโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้บริหารหน่วยงานของจังหวัด ก็จะไม่มีผลกระทบต่อแผนระดับจังหวัดให้ต้องสะดุด
 
   ผมเชื่อว่ากระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัดที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จากเดิมทำและขับเคลื่อนแต่ละมติสมัชชาสุขภาพจังหวัด จะสามารถขยายไปสู่การทำและขับเคลื่อน “แผนแม่บท ๕ ปีของจังหวัด” ที่ทุกภาคส่วนของจังหวัดเป็นผู้ร่วมสร้างและร่วมกันรับประโยชน์ ซึ่งที่สุดแล้ว หากทำได้สำเร็จ ประเทศไทยจะมีความเข้มแข็งและมีความยั่งยืนอย่างแน่นอนครับ
 

ด้วยรักและศรัทธาครับ...นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ

รูปภาพ
หมวดหมู่เนื้อหา