ธีรยุทธย้ำ! ต้องสร้างสังคมเข้มแข็ง ปลุกประชาชนเป็นพลเมือง เปลี่ยนโฉมหน้าประชาธิปไตยไทย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   “ศ.ธีรยุทธ บุญมี” ชี้ประชาธิปไตยเป็นวิถีชีวิต สร้างคำใหม่ “พลเมือง”ยังไม่แก้ปัญหา เสนอร่าง รัฐธรรมนูญใหม่ ต้องมีเครื่องมือกระตุ้นประชาชนให้ลุกขึ้นมาเป็น “พลเมือง”เกิดสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ยกสมัชชาเป็นหนึ่งในตัวอย่างปฏิบัติการประชาธิปไตย ยืนยันรูปแบบประชาธิปไตยไม่มีพิมพ์เขียวเดียว ที่ใช้เหมือนกันทั่วโลกได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมแต่ละประเทศ ขณะที่ นพ.อำพล ยืนยันการปฏิรูประบบสุขภาพ กับปลุกจิตสำนึกประชาธิปไตย เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ต้องมุ่งเป้าพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่เป็นฐานรากของสังคม ด้วยทฤษฏีผลักปิรามิดกลับหัวให้สำเร็จ
 
   การประชุมวิชชาการ “ปฏิรูประบบสุขภาพและชีวิต ปฏิรูปจิตสำนึกประชาธิปไตย ในโอกาส ๙ ปี สช.” จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๐-๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๘ ณ อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ปิดฉากลงด้วยปาฐกถาพิเศษ เรื่อง พลังพลเมือง สร้างสังคมสุขภาวะ โดย ศ.ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
   ศ.ธีรยุทธ กล่าวเปิดปาฐกถาด้วยคำถามว่า ประชาธิปไตยนำไปสู่ความสุขจริงหรือ เพราะตัวอย่างบางประเทศ ชี้ให้เห็นแล้วว่าประชาธิปไตยอาจไม่ได้ส่งผลดี เช่น ในยุคฮิตเลอร์หรือมุโสลินีก็มาจากการเลือกตั้ง แม้ปัจจุบันโลกเคลื่อนสู่ประชาธิปไตย การเคารพความคิดเห็นของคนอื่นเป็นกระแสกหลักของโลกไปแล้ว แต่ยืนยันไม่มีรูปแบบประชาธิปไตยที่เป็นพิมพ์เขียวฉบับเดียวใช้ด้วยกันได้ทั้งหมด ทุกประเทศต่างมีประชาธิปไตยเกิดขึ้น เพื่อสนองภารกิจของประเทศนั้นๆ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่คนไทยควรมีสิทธิค้นหารูปแบบประชาธิปไตยที่เหมาะสม
 
   คำว่า “พลเมือง” ในโลกตะวันตกและตะวันออกมีรากฐานแตกต่างกัน ประชาธิปไตยในสองซีกโลกจึงไม่เหมือนกันด้วย ในโลกตะวันตก พลเมืองบ่งบอกถึงสิทธิ อำนาจ หน้าที่ ความรับผิดชอบและสถานะของคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ ในสมัยโบราณการได้จะเป็นพลเมืองหรือ Citizen จึงไม่ใช่เรื่องง่าย อันเป็นที่มาของแนวคิด Republican หรือแนวคิดที่ให้สาธารณะชนเป็นใหญ่ในต่างประเทศ พลเมืองในสังคมเช่นนี้ต้องมีหน้าที่มีความกระตือรือร้น และรัฐควรมีบทบาทให้น้อย ส่วนในโลกตะวันออกต้องยอมรับว่าความเป็นพลเมืองอ่อนแอกว่า ความหมายของคำว่า “พลเมือง” ในภาษาไทยหมายถึงเพียงการเป็นกำลังของเมือง คำว่าพลเมืองในสังคมไทยแต่เดิมจึงไม่ใช่อำนาจประชาชน
 
   ที่ผ่านมา ก็มีความพยายามหารูปแบบทางการเมืองที่เหมาะสม เพื่อแก้ปัญหาให้ประเทศ ในหลายยุคหลายสมัย เช่น ยุคหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ที่พยายามสร้างพรรคการเมืองแบบรัฐสภาให้เข้มแข็ง พอยุคหลัง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เมื่อมีการยึดอำนาจเกิดประชาธิปไตยครึ่งใบ จึงมีการปรับความคิดใหม่ นำความคิดที่ว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้มาเป็นแรงขับ นำไปสู่รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ มุ่งให้มีผู้นำที่เข้มแข็ง แต่ก็เกิดภาวะรัฐบาลเข้มแข็งเกินไป จนสุดท้ายจึงเกิดตุลาการภิวัฒน์ขึ้น มีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหารและนักการเมือง จนถึงในช่วงภาวะพิเศษขณะนี้ประเทศไทยก็กำลังอยู่ในอีกช่วงที่มีการทดลองใหม่ ว่าจะหาอะไรให้ระบอบการปกครองที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ก่อนสรุปในเบื้องต้นว่า โครงสร้างอำนาจไทยเป็นลักษณะพหุอำนาจ ระบอบประชาธิปไตยไทยจึงไม่สามารถใช้อำนาจเดี่ยวได้ ข้อเสนอสำคัญคือ “ทำให้สังคมเข้มแข็ง ดีกว่า ทำให้รัฐบาลเข้มแข็ง ซึ่งสอดคล้องกับที่ ศ.ประเวศ วะสีเสนอว่า ต้องทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งหมายถึงรากหญ้า ส่วนสังคมเข้มแข็งนั้นหมายถึงสังคมโดยกว้าง”
 
   ศ.ธีรยุทธ กล่าวว่า โชคดีที่สังคมไทยยังมีแพทย์ที่อุทิศตัวเพื่อสังคมมาก เป็นกองหน้าในการบุกเบิกหลายอย่างให้ประเทศ เราพัฒนาจากการแพทย์รักษา มาเป็นการแพทย์แบบป้องกัน แล้วนำสู่การปฏิรูประบบสุขภาพ สิ่งที่แพทย์กำลังทำคือการทดลองใหญ่ที่สำคัญ ข้อเสนอในร่างรัฐธรรมนูญถึงสมัชชาพลเมืองก็น่าจะพัฒนามาจากกระบวนการสมัชชาสุขภาพที่เป็นบทปฏิบัติการกันมา แต่ปัญหาประชาธิปไตยประเทศแก้ไม่ได้เพียงด้วยการเขียนกฎหมายหรือร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นได้ชัดว่าทำมาหลายรอบ ตราบใดที่เราแก้ปัญหาหาบเร่ วินจักรยานยนต์ รถตู้ โดยต้องใช้อำนาจพิเศษ จะแก้ได้แบบไม่ได้ถาวร ควรจะผลักดันให้ท้องถิ่น ชุมชนหรือพลเมืองในที่นั้น เป็นผู้จัดการดูแลแก้ปัญหา
 
   ผมไม่สนใจกระบวนการเลือกตั้งใหม่ แต่สนใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเกิด จะมีอะไรให้กับประชาชน ไม่ใช่แค่ให้เงิน แต่ต้องให้กระบวนการ เครื่องมือ ที่จะสามารถแก้ปัญหา กระตุ้นให้ประชาชนลุกขึ้นมาเป็นพลเมือง ทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคน ให้โอกาสสนับสนุนบทบาททรัพยากรทั่วถึง ให้ข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริงก็สำคัญ มีองค์กรที่จะทำตามความมุ่งหมาย คือ กลุ่มสมัชชาพลเมือง ระดับหมู่บ้าน ตำบล เน้นกิจกรรม ชักนำไปสู่เยาวชน ถึงที่สุดแล้วต้องผลักให้เป็นการกระทำที่เป็นจริง ซึมเข้าไปในหัวใจของพลเมืองไทย ชุมชน เป็นวิถีปฏิบัติ จนเรารู้สึกว่า ต้องไม่มีใครมาจัดการการเมืองไทยแทนประชาชนอีกต่อไป” ศ.ธีรยุทธ กล่าว
 
   ก่อนปิดการประชุม นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้กล่าวสรุปการประชุมวิชชาการ ๙ ปี สช. “ก้าว ก้าว ก้าว สู่อนาคต” ว่า การประชุมวิชชาการ “ปฏิรูประบบสุภาพและชีวิต ปฏิรูปจิตสำนึกประชาธิปไตย ในโอกาส ๙ ปี สช.” ตลอด ๓ วันที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก มีภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการเมือง นักวิชาการ และภาคประชาสังคม เข้าร่วมมากกว่า ๑,๐๐๐ คน จากทั่วประเทศ มาร่วมกันถ่ายทอดบทเรียนและองค์ความรู้ เกี่ยวกับการปฏิรูประบบสุขภาพ ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังมี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่สร้างความตื่นตัวของทุกภาคส่วนในสังคม นำไปสู่การปฏิรูปสุขภาพ ที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
 
   “ภาคีเครือข่ายทั้งหมดที่เข้าร่วมประชุมวิชชาการ ๙ ปี สช. ครั้งนี้ ต่างเห็นด้วยในการขับเคลื่อนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าปฏิรูประบบสุขภาพต่อไป เพราะถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนไทยในทุกมิติ และทุกๆนโยบายของภาครัฐควรใส่ใจสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ
 
   หลังการประชุมวิชชาการ ๙ ปี สช.ครั้งนี้ สิ่งที่จะต้องทำต่อมี ๔ เรื่อง คือ ๑. ต้องสร้างเสริมพลังเครือข่าย พลเมือง ซึ่งตรงกับกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำอยู่ เสริมสร้างเครือข่ายพลังพลเมืองให้เติบโตมากขึ้น ๒. เห็นชัดว่าสิ่งที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า โดยใช้ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีเดิม ไม่มีใครเก่งกว่าใคร แต่อยู่ที่กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติจริง (Interactive Learning Through Action) นำทฤษฏีมาช่วยอภิบาย ต่อยอดความรู้ให้เป็นชุดความรู้ใหม่ ๓.มุ่งทำงานชุมชนท้องถิ่นที่เป็นฐานรากของสังคม เพราะสังคมไทยเปรียบเหมือนปิรามิด การตัดสินใจทุกเรื่องมาด้านข้างบน ต้องช่วยผลักดันให้ปิรามิดกลับหัวให้ได้ โดยใช้พลังพลเมืองที่มีอยู่ทั่วประเทศ และ ๔. การพัฒนาเครื่องมือทางสังคมไทยที่เน้นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม นำสู่สังคมสุขภาวะ ที่ต้องการเครื่องมือสาธารณะใหม่ๆ มาใช้ วันนี้เราอาจมีธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ สมัชชาสุขภาพ และการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) อาจไม่พอ จะต้องมีการพัฒนาเครื่องมือเหล่านี้ต่อไปอีก
 

ท่านสามารถดูภาพที่เหลือโดยกดที่นี่

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144

รูปภาพ