วิจัยเผย “กระจายอำนาจไปไม่ถึงไหน” สช. – สวรส. เปิดเวทีถกหาแนวทางปฏิรูปสุขภาวะ ปชช. | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   จากงานประชุมวิชชาการปฏิรูประบบสุขภาพและชีวิต ปฏิรูปจิตสำนึกประชาธิปไตย ในโอกาส 9 ปี สช. ณ อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 11 มิย.58 ที่ผ่านมา ในส่วนเวทีเสวนา กระจายอำนาจแล้ว...ใครรับผิดชอบสุขภาวะประชาชน? มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของเจ้าภาพหลักในเรื่องการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย นักวิชาการ เทศบาล และชุมชนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ เวทีเป็นการแลกเปลี่ยนโดยใช้ข้อมูลจากงานวิจัยการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขเป็นฐานสำคัญในการพูดคุย โดยมี ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ทำหน้าที่ดำเนินรายการ
 
   รศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเครือข่ายนักวิจัย สวรส. ระบุ ผลการวิจัยภายใต้โครงการวิจัยประเมินผลแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้านสุขภาพ พบว่า ปัญหาสำคัญด้านการกระจายอำนาจของประเทศไทย คือ 1) ความเข้าใจเรื่องการกระจายอำนาจที่ไม่ตรงกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในทางปฏิบัติเป็นเพียงแค่กระบวนการมอบภารกิจให้ อปท. ไปทำแทนรัฐบาลเท่านั้น 2) ขาดการผลักดันเรื่องกระจายอำนาจควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบราชการ ทั้งใน ระดับโครงสร้างอำนาจและแผนการถ่ายโอน โดยต้องให้ท้องถิ่นมีอำนาจที่แท้จริงทั้งเรื่องงบประมาณและบุคลากร ซึ่งในเรื่องคนนั้นนับเป็นจุดอ่อนอย่างมากในขณะนี้ 3) ความ ชัดเจนในแนวทางการถ่ายโอนอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข และความพร้อมหรือความ ต้องการของ อปท. ต่อการรับภาระในการกระจายอำนาจ ซึ่งงานสาธารณสุขเป็นงานที่ต้องทำร่วมกัน ไม่สามารถถ่ายโอนให้ขาดจากกันได้อย่างสิ้นเชิง โดยบางเรื่องท้องถิ่นมีความสามารถดำเนินการเองได้ แต่บางเรื่องยังจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินการของส่วนกลางซึ่งจะทำได้ดีกว่า เช่น การเป็นกลไกกำกับดูแล การสร้างมาตรฐานบริการ ฯลฯ รวมทั้งงานสาธารณสุขหรือการดูแลสุขภาพยังเป็นเรื่องของประชาชนโดยตรงที่ต้องมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเอง 4) ความสามารถในการแข่งขันตามกรอบร่าง รัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน มีความพยายามทำให้วิธีการของการกระจายอำนาจมีความหลากหลาย ไม่จำกัดอยู่ที่ อปท. โดยจะเปิดให้ภาคส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ภาคประชาสังคมที่มีความสามารถดำเนินการได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ ซึ่งในอนาคตต้องเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพประชาชนให้มากขึ้น
 
   นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นว่า นโยบายการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข เป็นวาระที่ประเทศให้ความสำคัญมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่มี พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 รวมทั้งการดำเนินการอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ตลอดจนแผนพัฒนาเศรษฐกิจเกือบทุกฉบับ และนโยบายรัฐบาลในยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ในทางปฏิบัติการกระจายอำนาจยังดำเนินการไปได้อย่างล่าช้า ทั้งนี้การกระจายอำนาจมิได้มีเพียงการถ่ายโอนเท่านั้น ยังมีการดำเนินงานในรูปแบบอื่นๆ อีกหลายรูปแบบ
 
   ในขณะที่ ดร.โชคชัย เดชอมรธัญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความเห็นที่แตกต่างไปว่า ปัญหาของการกระจายอำนาจอยู่ที่แนวคิด ซึ่งการกระจายอำนาจต้องไปถึงประชาชนอย่างแท้จริง ในทางปฏิบัติต้องกลับไปทบทวนว่ากระทรวงสาธารณสุขมีการกระจายอำนาจไปถึงประชาชนได้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการกระจายอำนาจไปที่ผู้บริหารของกระทรวงที่อยู่ในพื้นที่เท่านั้น
 
   ทั้งนี้ การดำเนินการที่ผ่านมายังทำได้น้อย จากจำนวน รพ.สต. กว่า 9,000 แห่ง สามารถถ่ายโอนให้ท้องถิ่นไปได้เพียง 43 แห่งเท่านั้น รวมทั้งด้านความสมัครใจของของบุคลากรยังมีความต้องการไปอยู่กับท้องถิ่นค่อนข้างน้อย โดยบุคลากรที่ถ่ายโอนไปต้องใช้งบประมาณของท้องถิ่นซึ่งรวมอยู่ใน 28% ของงบที่ท้องถิ่นได้รับซึ่งใช้ในการจัดการสำหรับทุกเรื่อง ขณะที่บุคลากรเหล่านี้ยังต้องรับนโยบายจากกระทรวงสาธารณสุข
 
   “โดยสรุปแล้วประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ นโยบายต้องชัดเจนเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติให้กับท้องถิ่นได้ ความพร้อมหรือศักยภาพของท้องถิ่นต้องมี ตลอดจนงบประมาณต้องสนับสนุนให้กับท้องถิ่นในการดำเนินการได้จริง” ดร.โชคชัย กล่าว
 
   ด้าน นพ.สุธี ฮั่นตระกูล รองนายกเทศมนตรี เทศบาลนครพิษณุโลก กล่าวทิ้งท้ายว่าถึงปัญหาในช่วงที่ผ่านมาว่า เป็นความไม่ชัดเจนหรือมุมมองในเรื่องการกระจายอำนาจที่ไม่ตรงกัน เช่น กระทรวงสาธารณสุข ที่มีมุมมองไม่ตรงกับ สปสช. และแม้ว่าทุกภาคส่วนจะมีส่วนในการดูแลสุขภาพประชาชนก็จริง แต่ต้องชัดเจนในบทบาทหน้าที่ว่าใครทำอะไรอย่างไร
 
   “ในเรื่องการถ่ายโอน ต้องทำบทบาทหน้าที่ของทุกภาคส่วนให้ชัด เช่น บทบาทของท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย อปท. หรือกระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ แล้วจะทำงานร่วมกันในแบบใด ก็ควรมีแผนงานที่ชัดเจนในแต่ละระยะ ที่สำคัญหน่วยงานที่ดำเนินการอยู่เดิมต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการเตรียมความพร้อมให้กับ อปท. ด้วย”
 

ท่านสามารถดูภาพที่เหลือโดยกดที่นี่

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144

รูปภาพ