เปิดตัวอย่างหนังสือแสดงเจตนาไม่รับการรักษาเพื่อยื้อชีวิต | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดตัวอย่างหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับการรักษาเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต พร้อมเดินสายทำความเข้าใจสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ระบุมีระบบรองรับการดำเนินการที่ได้มาตรฐาน และการขอใช้สิทธิดังกล่าวไม่บังคับทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางวิชาชีพ นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อแพทย์และคนไข้
 
   วันนี้ (25 พฤษภาคม 2554) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช.เจาะประเด็นเรื่อง “บั้นปลายชีวิต ลิขิตได้” หลังจากที่แนวทางการปฏิบัติงานของสถานบริการสาธารณสุข ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ของสถานบริการสาธารณสุข พร้อมทั้งตัวอย่างหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา
 
   นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สิทธิปฏิเสธการรักษาเป็นสิทธิที่ทุกคนมีอยู่แล้ว แต่ในบั้นปลายของชีวิตหรือขณะที่ป่วยหนักจนเข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิตเราอาจจะไม่มีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์พอที่จะแจ้งความต้องการของเราต่อแพทย์หรือพยาบาลได้ ซึ่งมาตรา 12 ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติมีขึ้นเพื่อรับรองสิทธิและดำรงรักษาสิทธิดังกล่าว โดยเขียนหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขฯ ไว้ล่วงหน้า ขณะที่เรายังมีสติสมบูรณ์ ซึ่งสิทธินี้สามารถใช้ได้ตั้งแต่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2550 แล้ว แต่เพื่อให้บุคลากรสาธารณสุขทำงานได้อย่างมีมาตรฐาน และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ขอใช้สิทธิจึงออกเป็นกฎกระทรวง แต่ไม่อาจระบุรายละเอียดแนวทางการปฏิบัติทุกอย่างลงไปในกฎกระทรวงได้ จึงระบุให้ สช.ออกประกาศกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานของสถานบริการสาธารณสุข พร้อมทั้งตัวอย่างหนังสือแสดงเจตนา ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา
 
   “อย่างไรก็ตามการแสดงเจตนาฯ ไม่ได้จำกัดแค่การเขียนหนังสือเท่านั้น อาจแสดงโดยวาจาก็ได้ ยกตัวอย่างกรณีคุณยอดรัก แสดงเจตนาว่าจะไม่ขอรับการรักษาไว้ล่วงหน้ากับญาติ ซึ่งแพทย์และพยาบาลก็เคารพและปฏิบัติตามเจตนารมณ์ดังกล่าว แต่หากมีการบันทึกเป็นหนังสือแสดงเจตนาฯ ไว้ ซึ่งจะเขียนตามแบบฟอร์มที่ สช.หรือสถานพยาบาลทำไว้ หรือจะเขียนขึ้นเองก็ได้ ก็จะทำให้ญาติและบุคลากรทางการแพทย์มีหลักฐานยืนยันชัดเจน และเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้เกิดการพูดคุยกันเรื่องการตาย และเตรียมตัวตาย ซึ่งเป็นธรรมชาติของทุกคน” นายแพทย์อำพลกล่าว
 
   นายแพทย์อำพลยังกล่าวเสริมอีกว่า ที่ผ่านมา สช.ได้สนับสนุนสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน โรงเรียนแพทย์ให้เข้าใจถึงการปฏิบัติตามแนวทางที่ประกาศใช้แล้ว โดยมีการผลิตสื่อ อาทิ คู่มือผู้ให้บริการสาธารณสุข กฎหมายและแนวทางการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งคาดว่าจะเผยแพร่สู่สถานพยาบาลทุกระดับทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ และการจัดอบรมและประชุมทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
 
   “อย่างไรก็ตาม ผมอยากสร้างความเข้าใจไว้ ณ ที่นี้ว่า หนังสือแสดงเจตนาฯ เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างสบายใจ ไม่ได้เป็นเอกสารที่จะเอาเป็นเอาตายตามกฎหมาย ฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องนำหนังสือแสดงเจตนาฯ ไปพิสูจน์ทางกฎหมายใด ๆ จึงไม่อยากให้มุ่งประเด็นไปที่การปลอมหนังสือเพื่อการใดก็แล้วแต่ เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไร”
 
   ด้านนายแพทย์สุรชัย โชคครรชิตไชย รองผู้อำนวยการด้านคุณภาพและพัฒนาบุคลากร โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงขั้นตอนในการปฏิบัติหลังจากได้รับหนังสือแสดงเจตนาฯ ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ เพราะประกาศแนวทางฯ เพิ่งมีผลบังคับใช้ อาจต้องอาศัยเวลาประมาณ 2-3 เดือน ในการทำความเข้าใจกับสถานบริการทางการแพทย์และประชาชน ซึ่งคิดว่าเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลทุกแห่งที่จะต้องสร้างความสะดวกให้กับผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิได้ตามเจตนารมณ์ ขณะนี้ทางโรงพยาบาลได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเฉพาะขึ้นมา 1 ชุด เพื่อร่างแบบฟอร์มในการขอใช้สิทธิและให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน
 
   นายแพทย์สุรชัยกล่าวต่อว่า ส่วนขั้นตอนการปฏิบัติหากมีผู้ป่วยหรือญาติมายื่นแสดงความจำนงขอใช้สิทธิ สถานบริการทางการแพทย์ต้องพิจารณาเนื้อความในหนังสือว่าระบุไว้อย่างไร ถ้าหนังสือแสดงเจตนาชัดว่าไม่ขอรักษาหรือยื้อชีวิตในวาระสุดท้าย ก็ต้องดูว่าโรคที่เจ็บป่วยอยู่ ณ ขณะนั้น คณะแพทย์พิจารณาว่าแบบใด ถ้าป่วยธรรมดาแบบไม่เข้าข่ายในหนังสือแสดงเจตนาฯ แพทย์ก็ต้องทำการรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพ แต่หากวินิจฉัยแล้วพบว่าเป็นระยะสุดท้ายของชีวิต ก็ให้รักษาดูแลเบื้องต้นตามมาตรฐานในแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care ที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วย จนกว่าจะถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งการรักษาแบบ Palliative Care นี้ หลายโรงพยาบาลทำอยู่ เพราะเห็นว่ามีคุณค่าต่อผู้ป่วยระยะสุดท้ายมากกว่าการรักษาในทางเทคโนโลยี เนื่องจากเน้นการดูแลเรื่องสภาพจิตใจของผู้ป่วยและญาติ โดยการลดความเจ็บปวด สร้างความสบายใจ เปิดพื้นที่ให้ได้พูดคุยกัน หรือแม้แต่เชิญพระมานิมนต์เพื่อสร้างความสงบ ฯลฯ
 
   “ที่สำคัญคือต้องตรวจดูว่า ผู้ป่วยทำหนังสือแสดงเจตนาขึ้นมาในขณะที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์หรือไม่ และเนื้อหานั้นระบุว่าขอรับการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิตแบบใด เช่น ไม่ขอเครื่องช่วยหายใจ ไม่ให้ใส่สารอาหารและน้ำผ่านท่อสู่ร่างกาย หรือไม่ขอยื้อชีพด้วยการปั๊มหัวใจ ฯลฯ นอกจากนี้หากหนังสือแสดงเจตนาฯ เป็นสำเนา ต้องตรวจทานให้ถี่ถ้วนกับผู้ป่วยหรือกับพยานรับรองหนังสือกรณีผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวว่าหนังสือนี้ว่าเป็นจริง อย่างไรก็ตาม ทางโรงพยาบาลต้องนำหนังสือแสดงเจตนาฯ นี้ ใส่ไว้ในเวชระเบียนด้วย เพื่อสื่อสารให้ทีมสุขภาพของสถานพยาบาลได้เห็นถึงเจตนารมณ์ของคนไข้ และใช้วิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป” รองผู้อำนวยการด้านคุณภาพและพัฒนาบุคลากร โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาระบุ
 
   นอกจากนี้ นายแพทย์สุรชัยยังแนะนำเพิ่มเติมด้วยว่า การจัดทำหนังสือแสดงเจตนาตามมาตรา 12 แพทย์และพยาบาลสามารถให้ความเห็นร่วมกับผู้ป่วยได้ และสามารถทำไว้ล่วงหน้ากรณีมีโรคเจ็บป่วยเรื้อรังหรือแม้แต่คนปกติก็สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขคือ ขณะที่ทำต้องมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนสมบูรณ์และต้องมีอายุเกิน 18 ปี ขึ้นไป หากอายุไม่ถึงต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง อย่างไรก็ตามหนังสือแสดงเจตนาฯ สามารถยกเลิกและทำขึ้นใหม่ได้ตลอดเวลา
 
   “ในฐานะที่เป็นอายุรแพทย์ ผมมีความคิดว่าการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ไว้ เป็นเรื่องดีและเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่เจ้าตัวสามารถทำได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อกรณีผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวแล้วว่าต่อจากนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องจะปฏิบัติอย่างไร ญาติพี่น้องก็จะไม่ต้องทะเลาะกันอย่างที่ผ่านมา แม้แต่แพทย์ก็จะได้ดูแลผู้ป่วยด้วยความสบายใจไม่ต้องวิตกกังวล และยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรที่เกินความจำเป็นในทุกขั้นตอนของระบบสุขภาพโดยภาพรวมของประเทศด้วย ก็อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันเผยแพร่เรื่องนี้ให้สังคมเกิดความเข้าใจ” นายแพทย์สุรชัยกล่าว
 
   ขณะที่ นายแพทย์อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล อธิบายถึงระบบการรองรับการใช้สิทธิตามมาตรา 12 ไว้ว่า กฎกระทรวงมีคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้พอควรที่จะนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ว่าคนที่ขอใช้สิทธิต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ในส่วนของโรงพยาบาลก็มีแนวปฏิบัติเมื่อได้รับจดหมายแสดงเจตนาจากผู้ป่วยว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง เช่น เวลาต้องตัดสินใจทำอะไรตามเจตนาที่คนไข้แสดงความประสงค์ไว้ แพทย์ก็จะต้องอธิบายให้ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยฟัง และบอกผู้ป่วยว่าเมีสิทธิจะเปลี่ยนแปลงเจตนาหรือระงับการใช้สิทธิที่แจ้งไว้ได้ทุกเมื่อ
 
   “ในอดีตหากผู้ป่วยอยู่ในภาวะสมองตาย แพทย์ก็จะไม่กล้าถอดเครื่องช่วยหายใจ แต่หนังสือแสดงเจตนาที่ผู้ป่วยเขียนขึ้นมานี้จะทำให้คณะแพทย์ปฏิบัติงานได้ง่ายขึ้น ถือเป็นเครื่องมือช่วยดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย ที่เอื้อให้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย ญาติ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ได้เตรียมตัวก่อนที่วาระสุดท้ายของชีวิตจะมาถึงอย่างมั่นใจ กล่าวคือ ผู้ป่วยก็จะได้จากไปอย่างสงบสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในแบบธรรมชาติที่เคยเป็นมา ผู้ปฏิบัติก็ได้รู้แนวทางในการรักษา ทรัพยากรทางด้านสาธารณสุขทุกอย่างก็ถูกใช้อย่างเกิดประโยชน์และคุ้มค่า และยังเป็นการเผื่อแผ่โอกาสไปยังผู้อื่นที่ต้องการความช่วยเหลือที่มีอยู่จำนวนมาก ข้อดีอีกประการก็คือการฟ้องร้องระหว่างคนไข้ ญาติคนไข้ และแพทย์ก็จะลดลงด้วย ”
 
   อย่างไรก็ตาม ผอ.สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลกล่าวต่ออีกว่า ข้อปฏิบัติในหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาฯ ไม่มีการบังคับให้ทำทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งถ้าแพทย์เจ้าของไข้คนใดไม่เห็นด้วยกับการรักษาในแนวทางดังกล่าว เพราะคิดว่าแม้มีความหวังเพียงน้อยนิดก็ต้องช่วยชีวิตไว้ แพทย์อาจจะไม่ปฏิบัติตามคำร้องขอได้ แต่ต้องให้แพทย์อื่นมารับช่วงดูแลต่อ เป็นต้น
 
   “หนังสือแสดงเจตนาฯ ตามมาตรา 12 ถือเป็นพัฒนาการอีกขึ้นของทางการแพทย์ ที่ไม่ได้มองแต่ด้านวิชาการ หากได้นำมิติทางจิตวิญญาณในการอยู่ร่วมกันและคุณค่าของชีวิตมาพินิจพิจารณามากขึ้น อย่าลืมว่าช่วง 100 กว่าปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำทำให้ความตายซึ่งเป็นเรื่องปกติ กลายเป็นเรื่องไม่ปกติกับการฉุดรั้งยื้อชีวิตไป ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จะทำให้ทุกคนรับรู้วังวนปรัชญาชีวิตมากขึ้นว่า หากถึงวาระสุดท้ายแล้วเราก็ต้องตาย” นายแพทย์อนุวัฒน์กล่าว
 
   นางสารา วงษ์เจริญ ผู้แทนสภาการพยาบาล กล่าวทิ้งท้ายว่า ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยมากที่สุด เราดีใจที่มีกฎกระทรวงรองรับการขอใช้สิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาฯ เพราะเดิมสิ่งที่เหล่าพยาบาลต้องประสบก็คือ การกลัวความผิดในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่เข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิต แต่ถ้ามีเครื่องมือนี้มารองรับแล้วก็จะทำให้เราทำงานด้วยความสบายใจและเต็มประสิทธิภาพ และยังเป็นการเติมเต็มหลักการตายของทุกศาสนา ที่คิดค้นวิธีให้ทุกคนได้ตายอย่างสงบสมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วย
 
   ผู้ที่สนใจขอใช้สิทธิ เขียนหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thailivingwill.in.th โทร 0-2832-9091.
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140
        

รูปภาพ