สังคมไทยได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤตโควิด19 | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   สวัสดีครับ...นิตยสารสานพลังฉบับนี้ ผมอยากชวนเพื่อนภาคีแลกเปลี่ยนเรื่อง “สังคมไทยได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤตโควิด19” หลังจากรัฐบาลได้ใช้มาตรการค้อนเหล็ก เน้น Social distancing ปิดการเดินทางเข้าออกประเทศและบางจังหวัด ปิดสถานประกอบการและปิดกิจกรรมรวมคนทุกประเภท ร่วมกับมาตรการของประชาชนภายใต้ข้อตกลงร่วมหรือธรรมนูญประชาชน ช่วยชาติสู้ภัยโควิด19 หรือที่เรียกชื่ออื่น ที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้อง และการยินยอม พร้อมใจ มีส่วนร่วมของประชาชน อาสาสมัคร องค์กรชุมชน เครือข่ายประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานรัฐในพื้นที่ ทุกตำบล ชุมชน หมู่บ้าน ทำให้ประเทศไทยขึ้นอันดับเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดของโลกในการรับมือและยับยั้งการระบาดของโรคโควิด19 ตามที่นายแดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้กล่าวชื่นชมมาตรการที่ประเทศไทยและคนไทยใช้ในการรับมือกับวิกฤตการระบาดของไวรัสครั้งนี้
 
   หลายเดือนของการรับมือเพื่อเอาชนะกับการระบาดของโรคโควิด19 เราได้เห็นอะไรเชิงระบบเกิดขึ้นในสังคมบ้าง
 
   ๑. เราได้เห็นระบบสาธารณสุขไทยมีความพร้อมทั้งการตั้งรับและทำงานเชิงรุกเพื่อการควบคุมการระบาดของโรคติดต่อได้ดีเยี่ยม เรามีระบบบริการทางการแพทย์ที่เข้มแข็งขณะที่ในทุกพื้นที่มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มากว่าหนึ่งล้านคน มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เกือบ ๑๐,๐๐๐ แห่ง และมีโรงพยาบาลชุมชนกว่า ๘๐๐ แห่ง เป็นเครือข่ายทั่วประเทศที่พร้อมเป็นฐานรองรับผู้ป่วยส่งต่อจากโรงพยาบาลใหญ่
 
   ๒. เราได้เห็นประชาชนมีความสามารถในการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนบทบาทจากเริ่มแรกตื่นกลัวกลายเป็นการตื่นรู้ และมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการต่างๆ ของตัวเองและของชุมชนที่จะเสริมมาตรการของรัฐในรับมือกับการระบาดของไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
   ๓. เราได้เห็นมาตรการต่างๆ ของประชาชน ผ่านทางสภาองค์กรชุมชนตำบลมากกว่า ๗,๗๙๐ สภา และกองทุนสวัสดิการชุมชนมากกว่า ๖,๐๐๐ กองทุน และมีหลายพื้นที่ได้ยกระดับเป็นข้อตกลงร่วมหรือธรรมนูญประชาชน และมีการประกาศเป็นสัญญาประชาคมไว้อย่างชัดเจน เพื่อควบคุมให้กำลังใจกลุ่มเสี่ยงเผยแพร่โรค และป้องกันดูแลกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรังในชุมชน พร้อมกับมีมาตรการดูแลทางสังคมและเศรษฐกิจ เช่น การรวมกลุ่มผลิตหน้ากากอนามัย การตั้งโรงทาน การเตรียมการเรื่องความมั่นคงทางอาหาร
 
   ๔. เราได้เห็นการกระจายอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้บริหารมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลกลาง นำไปสู่การปฏิบัติที่รวดเร็วและสอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ รวมทั้งสามารถระดมความร่วมมือจากประชาชนได้มากขึ้น
 
   

นอกจากสิ่งที่ได้เห็นดังกล่าวแล้ว วิกฤตของประเทศครั้งนี้สังคมได้เรียนรู้อะไรบ้าง

 
   ๑. สังคมได้เรียนรู้ว่าความเสี่ยงมีอยู่ทุกเวลา ทุกสถานที่ และเกิดขึ้นได้กับทุกคน คนรวย คนจน มีโอกาสได้รับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นหลากหลาย รุนแรงและไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ดังนั้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการสร้างระบบของประเทศที่ดี มีประสิทธิภาพ จึงเป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
 
   ๒. สังคมได้เรียนรู้ว่า ปัญหาเรื่องสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ทุกอย่างเกี่ยวข้องกันทั้งหมด เมื่อเกิดปัญหาโรคระบาดขึ้นจึงกระทบทุกระบบของประเทศ การลงทุนภาครัฐจะเน้นเฉพาะด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ ต้องลงทุนด้านสุขภาพ และสังคมควบคู่ไปด้วย
 
   ๓. สังคมได้เรียนรู้ว่าการแก้ปัญหารวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ ต้องมีการกระจายอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้ประชาชนในพื้นที่ จึงจะสามารถรับมือกับวิกฤตได้อย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ
 
   ๔. สังคมได้เรียนรู้ว่าวิกฤตที่เกิดขึ้น มีพื้นฐานจากประเทศมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้และมีช่องว่างทางความคิด เห็นได้จากคนรวยและคนชั้นกลางในเมืองต้องการนโยบาย Lockdown ที่คุมเข้ม ปิดกิจกรรม ห้ามออกนอกบ้านเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เพราะมีกำลังทางเสรษฐกิจจึงต้องการความปลอดภัย ขณะที่คนยากจนอีกกลุ่มใหญ่เลือกที่จะต้องทำมาหากินไว้ก่อน ไม่เช่นนั้นอาจจะอดตายได้ ช่องว่างระหว่างคนสองกลุ่มนี้ชัดเจนและประเทศต้องมีทางออกให้คนทุกกลุ่มอยู่ร่วมกันได้ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้า
 
   การระบาดของโรคโควิด19 และขยายเป็นวิกฤตใหญ่ของประเทศ ทำให้ได้เห็นสิ่งดีๆ เชิงระบบที่มีอยู่ในสังคมไทย และคนในสังคมได้เรียนรู้ปัญหามากมาย แม้คนส่วนหนึ่งจะเห็นปัญหาแต่ยังรับกับสภาพปัจจุบันได้เพราะอาจหาทางออกที่ดีให้กับประเทศไม่ได้ แต่เชื่อว่าวิกฤตนี้ได้ปลุกให้ประชาชนกลุ่มใหญ่และคนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของประเทศจะไม่ยอมทน เพราะพวกเขาได้เรียนรู้และพร้อมมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา ร่วมกำหนดอนาคตของประเทศ ดังนั้นแนวโน้มสังคมไทยหลังวิกฤตโควิด19 น่าจะมีการพัฒนาหรือปฎิรูประบบต่างๆ ของประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะประชาชนไทยต่างได้รับผลกระทบและเรียนรู้ระหว่างการรับมือกับวิกฤตินี้ร่วมกันอย่างถ้วนหน้า
 

เขียนและเรียบเรียงโดย นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ

รูปภาพ
หมวดหมู่เนื้อหา