สตรี “สตรอง” รู้ทัน...ปกป้อง “สิทธิ” | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   สวัสดีครับ...นิตยสารสานพลังฉบับต้อนรับวันสตรีสากล ๘ มีนาคม ๒๕๖๓ ผมขอขึ้นต้นและลงท้ายด้วย สตรี “สตรอง” รู้ทัน...ปกป้อง “สิทธิ” ย้อนรำลึกถึงตำนานการลุกขึ้นสู้ของสตรี เริ่มตั้งแต่กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้ารัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ลุกขึ้นประท้วงขอเพิ่มค่าแรงและเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่เหตุการณ์นั้นผู้หญิงกว่าร้อยรายก็ต้องจบชีวิตลงเนื่องจากมีการลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่ชุมนุมกัน ตามด้วยการต่อสู้ของกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก เพราะทนไม่ไหวต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบของนายจ้าง จากที่ต้องทำงานหนักวันละ ๑๗ ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด ไม่มีสวัสดิการใดๆ และการต่อสู้ครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของผู้หญิงอย่างต่อเนื่อง และแล้ว CLARA ZETKIN นักการเมืองสตรีแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมัน ได้ระดมเหล่ากรรมกรสตรี ลุกขึ้นนัดหยุดงานและเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาทำงานเหลือวันละ ๘ ชั่วโมง ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง นั่นจึงเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงทั่วโลกตระหนักถึงสิทธิและพลังของตัวเองมากขึ้น ความพยายามในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิและการได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมของสตรีเกิดขึ้นหลายครั้ง ในหลายๆประเทศ กระทั่งวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๐ ตัวแทนผู้หญิงจาก ๑๗ ประเทศ ได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ ๒ ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี พร้อมปรับค่าแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย รวมถึงคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กด้วย และกำหนดให้วันที่ ๘ มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสตรีสากล (International Women's Day) จนถึงทุกวันนี้นานาประเทศต่างจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญและสิทธิเสมอภาคของผู้หญิงทั่วโลก
 
   กลับมาที่ประเทศไทย เรามีกฎหมายคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงในเรื่องต่างๆ อยู่มาก หนึ่งในนั้นก็คือ มาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่เข้าสู่ปีที่ ๑๓ ได้ระบุไว้ว่า “สุขภาพของหญิงในด้านสุขภาพทางเพศและสุขภาพของระบบเจริญพันธุ์ ซึ่งมีความจำเพาะ ซับซ้อน และมีอิทธิพลต่อสุขภาพหญิงตลอดช่วงชีวิต ต้องได้รับการสร้างเสริม และคุ้มครองอย่างสอดคล้องและเหมาะสม” นอกจากนี้กฎหมายมาตรานี้ยังครอบคลุมถึงสุขภาพของเด็ก คนพิการ คนสูงอายุ คนด้อยโอกาสและกลุ่มคนต่างๆ ในสังคมที่มีความจําเพาะด้านสุขภาพอีกด้วย
 
   และในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๒ เมื่อวันที่ ๑๘ – ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา มีสมาชิกสมัชชากว่า ๒,๕๐๐ คนที่เป็นผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ทั่วประเทศ ได้มีฉันทมติเห็นชอบในประเด็นที่ Hot Hit มากที่สุดคือ มติว่าด้วยเรื่องวิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว (Gender Approach: Family Health Empowerment) ที่มุ่งให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญ ความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะ และความเสมอภาคของผู้หญิงทั่วโลก ขจัดการเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมทางเพศ สู่เป้าหมายความเสมอภาค (equity) และเป็นธรรม (fairness) ด้วยการใช้กระบวนการรื้อแนวคิดที่ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรมทางเพศ สร้างแนวคิดและวิธีการใหม่ที่ใช้พลังความเสมอภาคและเป็นธรรมทางเพศของทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และผู้หลากหลายทางเพศ เพื่อให้ครอบครัวมีสุขภาวะ ความมั่นคง และสงบสุข นับเป็นมติสมัชชาสุขภาพที่ก้าวหน้า สอดรับกับการสนับสนุนบทบาทที่แข็งแกร่ง และมุ่งปกป้องสิทธิที่เท่าเทียมในทุกมิติของสตรี ซึ่ง สช. ในยุคสมัยที่ผมเป็นเลขาธิการนี้จะร่วมกับภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปด้วยกัน เพื่อสนับสนุน สตรี “สตรอง” รู้ทัน...ปกป้อง “สิทธิ” ครับ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ
หมวดหมู่เนื้อหา