ประสิทธิภาพ โปร่งใส | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารใหม่ การจัดขบวนการทำงานแบบใหม่ และต้องดูแลจัดงานประจำปีขนาดใหญ่หลายงานในเวลาที่ไร่เรี่ยกัน ผมได้เห็นการทำงานหนักของน้องๆ สช. (สุชน คนใฝ่ดี) ทำให้เกิดความรู้สึกสองแบบขึ้นมาในพร้อมกัน
 
   แบบหนึ่ง เป็นความชื่นชม ชื่นใจ และเชื่อมั่นศรัทธาในด้านจิตสำนึกการทำงานอย่างทุ่มเทของบุคลากร อันเป็นค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรที่ปลูกฝังและเสริมสร้างกันมาจากอดีต นับเป็นฐานทุนสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนภารกิจ
 
   อีกแบบหนึ่ง เป็นความห่วงกังวลว่างานจะหนักเกินจนทำให้พนักงานเกิดความเครียด ความอ่อนล้า และหมดแรงลงเสียกลางครัน เป้าหมายที่อยากเห็น งานได้ผล คนเป็นสุขจะไม่เป็นจริง
 
   แต่เท่าที่สังเกตติดตามอย่างใกล้ชิดก็ยังไม่พบสัญญาณเช่นที่ว่า ตรงข้าม ทุกทีมงานกลับมีแต่ความคึกคักเบิกบาน กำลังสนุกสนานกับสถานการณ์และความท้าทายใหม่ๆ
 
   ในแผนงานหลัก (ฉบับที่ 3) ของ สช. เราได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาไว้ประการหนึ่งว่า จะเสริมสร้างองค์กรให้เป็นต้นแบบด้านธรรมาภิบาล ซึ่งหลักธรรมาภิบาลหรือการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีนั้นประกอบด้วย หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักความมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า
 
   ในการทำงานยุคประเทศไทย 4.0 ไม่ว่า สช. หรือองค์กรไหนๆก็ควรมีเป้าหมายในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของตนให้สูงยิ่งขึ้น ซึ่งหมายความว่าได้ผลงานมากขึ้น โดยออกแรงหรือใช้เงินลงทุนเท่าเดิมหรือน้อยลง คือได้ทั้งความคุ้มค่า และความโปร่งใสไปพร้อมกัน
 
   สช. เป็นหน่วยงานระดับนโยบายขนาดเล็กที่มีบทบาทสำคัญในทางเชื่อมโยงและหนุนเสริม สช. ไม่ได้มีหน้าที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาของประชาชนโดยตรงหรือรณรงค์ทางสังคมด้วยตัวเอง เพราะสิ่งเหล่านั้นต่างมีกระทรวงและหน่วยงานรับผิดชอบเป็นหลักอยู่เรียบร้อยแล้ว
 
   หน้าที่ของเราคือการไปส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกหน่วยงาน กลุ่ม องค์กรและภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ ได้มีความรู้ความเข้าใจ ตระหนักและสามารถใช้กระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเหล่านั้นโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคีต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างครบวงจรและมีคุณภาพ เพื่อเพิ่มความเป็นเจ้าของร่วมกัน ลดความขัดแย้ง พัฒนาคุณภาพประชาชนพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย และเป็นการเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน
 
   ในเชิงกระบวนการ สช. มักให้บริการแก่หมู่คณะหรือองค์กรมากกว่าการให้บริการแก่ปัจเจกชน เว้นเสียแต่เป็นการให้บริการในด้านความรู้และข้อมูลข่าวสาร ซึ่งประชาชนทั่วไปย่อมสามารถเข้ามาขอรับบริการจาก สช. ได้ตลอดเวลาเช่นกัน
 
   แม้กระนั้นเรากลับพบว่า สิ่งที่ใช้เวลาและสมาธิของพนักงานมากที่สุดกลับเป็นงานจัดทำเอกสาร การจัดประชุมและการจัดการกับฐานข้อมูล ซึ่งเป็นงานที่ต้องทำซ้ำๆ กันในกระบวนการต่างๆ โดยในปัจจุบันส่วนใหญ่ของสำนักงานยังคงเป็นระบบอนาล็อก (analog based) ทำให้พนักงานของ สช. ต้องทำงานที่ซ้ำซ้อนกันอยู่มาก
 
   ดังนั้นเพื่อลดภาระงานที่ไม่จำเป็น เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน (life-work balance) ของพนักงานอย่างจริงจัง สช. จึงมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนผ่านระบบสำนักงานและฐานข้อมูล จากอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล(digital based) อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งตั้งใจให้แล้วเสร็จโดยพื้นฐานภายในปีนี้
 
   นอกจากนั้น เพื่อให้เป็นไปตามหลักความรับผิดชอบและพร้อมรับการตรวจสอบจากภายนอกตลอดเวลา เรายังตั้งใจที่จะสร้างสรรค์ สช. ให้เป็นองค์กรที่มีภาพลักษณ์ความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลในทุกด้าน
 
   ผมหวังว่าทั้งหมดนี้ จะเป็นสิ่งที่ภาคีเครือข่ายและสังคมทั่วไปจะสามารถสัมผัสได้ ภายในปี 2560 ด้วยเช่นกันนะครับ.
 

รูปภาพ