4P-W พลังสังคมสุขภาวะ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   1 ตุลาคม 2559 นับเป็นวันแรกของการใช้ยุทธศาสตร์ใหม่และโครงสร้างการบริหารจัดการที่ปรับใหม่ ตามแผนงานหลักของ สช. ฉบับที่3 พศ. 2560-2564 บรรยากาศในสำนักงานและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้ง 5 ภูมิภาค กำลังมีการซักซ้อมเตรียมความพร้อมกันเป็นที่คึกคักพอประมาณ
 
   ในแผนงานหลักฉบับนี้ สช. ในฐานะกลไกเลขานุการกลางของภาคีเครือข่ายการพัฒนาและขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมทั่วประเทศ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า ระบบสุขภาพไทยพัฒนาจากกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนฐานทางปัญญา (Participatory Public Policy Process based on Wisdom : 4P-W) และวางกรอบพันธกิจว่า สช. จะเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ สานพลังปัญญา สร้างสรรค์นโยบายสาธารณะ
 
   เป้าประสงค์ภายใน 5 ปีของแผนงาน มุ่งให้เกิดนโยบายสุขภาพที่ใช้กระบวนการ 4P-W จำนวน 500 เรื่อง โดยร้อยละ 80 จะผ่านกระบวนการที่มีคุณภาพ และร้อยละ 25 จะถูกนำไปปฏิบัติการจนเกิดผล จะมีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งร้อยละ 80 และสร้างองค์ความรู้ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆจำนวน 30 เรื่อง
 
   อันที่จริง แผนงานหลักนี้ก็มีสถานะเป็นเพียงงานของหน่วยงานรัฐหน่วยหนึ่งเท่านั้น ในเมื่อ สช. มีหน้าที่ต้องแสดงเป้าหมายเพื่อแลกงบประมาณมาทำงาน ก็ทำไปสิ ไม่เห็นจะเกี่ยวกับภาคีเครือข่ายที่ตรงไหน แต่ที่ผมนำมาเล่านี้ก็เพื่อให้รับรู้รับทราบทั่วกันว่า สช.ได้ประกาศความมุ่งมั่นต่อสาธารณะไว้อย่างไร จะได้ช่วยกันติดตามให้กำลังใจ ร่วมออกแรงและช่วยประเมินผลว่าการทำงานของสช.มันมีความคุ้มค่ากับงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับไปในแต่ละปีหรือไม่ ตามหลักธรรมาภิบาล
 
   ก่อนอื่นใด สช.จะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้สังคมทั่วไปได้รู้จักและสามารถแยกแยะออกว่า สช. มีความแตกต่างจากกระทรวงสาธารณสุข และต่างจาก สสส. กับ สปสช. อย่างไร เพราะผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอำนาจหน้าที่หลายท่านยังข้องใจว่าอันไหนเป็นอันไหน
 
   กระทรวงสาธารณสุขนั้น เป็นหน่วยงานราชการที่มีอำนาจและหน้าที่ (Health Authority) ในการดูแลระบบงานสาธารณสุขของประเทศและเป็นต้นสังกัดของหน่วยบริการทางการแพทย์ที่มีจำนวนมากที่สุด จากระดับตำบล อำเภอจังหวัดและศูนย์การแพทย์ระดับเขตพื้นที่และส่วนกลาง
 
   สปสช. เป็นหน่วยงานรัฐที่จัดตั้งขึ้นตาม พรบ. หลักประกันสุขภาพ พ.ศ.2545 ทำหน้าที่ดูแลระบบหลักประกันสุขภาพเมื่อยามเจ็บป่วย (Health Security) โดยการบริหารเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้าและควบคุมคุณภาพบริการทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปจำนวน45ล้านคนได้มีหลักประกันเมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วย
 
   สสส. เป็นหน่วยงานรัฐที่เกิดขึ้นตามพรบ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2545 โดยทำหน้าที่รณรงค์ส่งเสริมสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยงทางพฤติกรรมและจากภาวะแวดล้อม(Health Promotion) โดยเน้นบทบาทการขับเคลื่อนของภาคพลเมืองและประชาสังคม ตามความหมายของสุขภาพหรือสุขภาวะสี่มิติ อีกทั้งยังเป็นการช่วยเติมเต็มการทำงานของหน่วยงานราชการที่มีอยู่
 
   ส่วน สช. ก็เป็นหน่วยงานรัฐที่มีบทบาทในการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ(Health Policy) อันไปเกี่ยวข้องกับภารกิจของหลายกระทรวง เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงบูรณาการกัน โดยทำงานภายใต้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและรัฐมนตรีอีก 6 ท่านร่วมเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ
 
   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สช.จะต้องสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาคีต่างๆ ทั้งภาควิชาการ ภาคนโยบายและภาคสังคมให้เข้ามาร่วมกันทำงานในลักษณะที่เป็นหุ้นส่วนและมีความสัมพันธ์ที่เสมอกันในแนวระนาบ ซึ่งเป็นงานที่หน่วยราชการทั่วไปมักไม่ถนัด
 
   เป้าหมายของ สช. คือการทำให้ทุกนโยบายของรัฐ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น เป็นนโยบายที่ห่วงใยสุขภาพของประชาชน(Health in All Policies) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประชากรเปาะบางและผู้ไร้อำนาจต่อรองทางสังคมทั้งหลาย นะครับ
 

รูปภาพ