หัวเลี้ยว หัวต่อ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   เผลอแพล็บเดียวเวลาทำงานของผมที่สช.ได้ผ่านไปแล้วหนึ่งเดือน ภารกิจประจำวันต่างๆทั้งภายในและภายนอกสำนักงานที่ประดังกันเข้ามา ทำให้ได้เรียนรู้สถานะ บทบาทของ สช. และได้สัมผัสปัญหา ข้อจำกัดการทำงานของภาคีเครือข่ายในสนามจริงเกือบครบทุกมิติแล้ว นับเป็นประโยชน์อย่างมาก แต่แผนการส่วนตัวต่างๆที่ตั้งใจว่าจะต้องทำในช่วงสามเดือนแรกที่เข้ามารับหน้าที่นั้น ก็ยังคงสามารถเดินไปได้ด้วยดีตามเป้าหมายครับ
 
   ปลายเดือนที่แล้ว หนึ่งสัปดาห์ก่อนวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ผมมีโอกาสเข้าร่วมการสัมมนา เชิงปฏิบัติการของ สปพส. (สำนักงานประสานการพัฒนาสังคมสุขภาวะ เป็นหน่วยงานภายในเฉพาะกิจหน่วยงานหนึ่งของ สช.) กับกลุ่มผู้อาวุโสจากข่ายงานชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมทั่วประเทศ และได้อยู่ร่วมกิจกรรมตลอดทั้งสองวันของการแลกเปลี่ยนระดมความคิด เพื่อประเมินสถานการณ์บ้านเมืองและสรุปบทเรียนการร่วมงานขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพกับ สช. ทั้งแบบทางตรงและทางอ้อมในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา
 
   ที่ประชุมมองว่า บัดนี้กระแสการเมืองระบบตัวแทนและราชการรวมศูนย์จะอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ ในขณะที่การเมืองแบบมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองจะเติบโตขึ้นอย่างมั่นคงจนใกล้ที่จะถึงจุดตัดทางข้าม และการลงประชามติ7 สิงหาคม 2559 จะเห็นภาพสะท้อนการเปรียบเทียบดุลกำลังทั้งสอง โดยคาดการณ์ผลประชามติว่าน่าจะผ่านในระดับ60:40 หลังจากนั้นจะเข้าสู่เฝสหรือระยะใหม่ของการเมืองไทยในยุคสมัยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
 
   นอกจากนั้นกลุ่มฯยังมีความตระหนักร่วมกันว่า ในห้วงเวลา 5 ปีของแผนหลัก สช.ฉบับที่3 (พ.ศ.2560-2564) จะเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านบ้านเมืองครั้งสำคัญยิ่ง ควรที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและเครือข่ายนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่ขับเคลื่อนงานอยู่ทั่วประเทศต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
 
   เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2559 เป็นวันที่ผมต้องนำคณะไปชี้แจงงบประมาณต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญและอนุกรรมาธิการฯของ สนช. เป็นครั้งแรกในชีวิต ทีมงานเจ้าหน้าที่ของเราเตรียมงานกันแข็งขันมากเพราะมีประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นกันมาก่อน
 
   งบประมาณประจำปี 2560 เป็นตัวเลขที่เราเสนอไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วตามกระบวนการและขั้นตอนของทางราชการ เป็นการจัดทำไปตามกรอบภารกิจของแผนหลัก สช. ฉบับที่2 ในขณะที่ปีหน้านี้เป็นปีแรกที่เราต้องเริ่มขับเคลื่อนตามแผนหลักฉบับใหม่และมียุทธศาสตร์ใหม่ๆซึ่งต้องการทรัพยากรเพิ่มขึ้น จึงเป็นความท้าทายว่า เมื่อขอเพิ่มก็ไม่ได้ ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้ถูกตัดงบประมาณไปมากกว่านี้
 
   บรรยากาศในเวทีพิจารณางบประมาณทั้งเช้าและบ่ายในวันนั้น ผมใจชื้นขึ้นมาหน่อยเมื่อทราบว่ามีกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการหลายท่านที่มีความคุ้นเคยกันดี แต่เมื่อต้องโคจรมาพบกันในเวทีที่ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ตรงข้าม ในที่สุด สช. ถูกตัดงบประมาณไปทั้งสิ้น 11 ล้านบาท คงเป็นอาถรรพ์แห่งเลข 11 กระมัง
 
   อย่างไรก็ตาม อนุสนธิ์จากการชี้แจงงบประมาณในคราวนี้ ทีมงานของเรามีข้อสังเกตตรงกันว่า กรรมาธิการที่เป็นผู้คุ้นเคยกับเราเป็นอย่างดีท่านหนึ่งเปรยออกมาว่า ท่านสับสนไปหมดกับงานของ สช. ว่ามันทำหน้าที่อะไรกันแน่ และมันต่างจากกระทรวงสาธารณสุข สสส. และ สปสช. อย่างไร จนบัดนี้ท่านก็ยังไม่เข้าใจเลย แต่วันนี้ต้องขอตัดงบก่อนนะ
 
   นั่นแหละคือโจทย์ข้อใหญ่ ที่พวกเรารับมาเต็มๆ ในวันนั้นครับ.
 

รูปภาพ