สมัชชาสุขภาพแห่งชาติปีนี้ทุกฝ่ายนัดถกความก้าวหน้าแก้ปัญหาโรคอ้วนในเด็ก | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

     นายวิสุทธิ บุญญะโสภิต ผอ.สำนักสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติประจำปี 2554 ในวันที่ 2-4 ก.พ.นี้ ที่ศูนย์การประชุมองค์การสหประชาชาติจะมีการรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอให้มีฉลากโภชนาการส่วนประกอบของขนมเด็กบนซองขนม ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมากจากมติการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปี 2552 ได้มีการพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับโรคอ้วน และมีมติให้มีการดึงทุกภาคส่วนมาร่วมแก้ปัญหานี้ และมอบให้ สช. เป็นฝ่ายร่างแผนในการดำเนินการ ซึ่งในปัญหาดังกล่าวมีนักวิชาการเสนอว่า ปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคอ้วนก็คือ การบริโภคขนมกรุบกรอบของเด็ก เนื่องจากในขนนมกรุบกรอบจะมีส่วนผสมของไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง ที่จะทำให้อ้วน จึงมีการเสนอให้มีการแสดงสัญลักษณ์ทางโภชนาการ หรือ Guideline Daily Amounts (GDA) ลงบนซองขนมเพิ่มเติมจากการแสดงฉลากโภชนาการด้วย เพื่อให้ใช้ในการประกอบการตัดสินใจของเด็ก และผู้ปกครองก่อนที่จะซื้อขนมแต่ละชนิด โดยเบื้องต้นมีการเสนอว่าควรใช้สัญลักษณ์ GDA แบบสัญญาณไฟจราจร ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการเข้าใจ
 
   ผอ.สำนักสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามเมื่อมีการนำข้อเสนอการใช้สัญลักษณ์ GDA แบบสัญญาณไฟจราจร ไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ก็เห็นว่าสัญลักษณ์แบบดังกล่าวง่ายต่อความเข้าใจก็จริง แต่ในเชิงธุรกิจนั้นทำได้ยาก ทางอย. จึงได้เสนอรูปแบบสัญลักษณ์ GDA แบบสีขาวดำ กำหนดให้แสดงค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม และได้มีการนำไปใช้แล้วในปัจจุบัน โดยติดอยู่หน้าซองขนม ดังนั้นจะมีการนำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินงานในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ด้วย
 
   นพ.ทักษพล ธรรมรังสี รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า สัญลักษณ์ GDA ที่ทางอย.ออกมานั้น ต้องยอมรับว่ายังไม่ตรงกับความต้องการตามที่ภาคประชาชนเรียกร้อง เพราะจากผลการสำรวจที่ผ่านมา ทั้งในประเทศและในต่างประเทศ พบว่าสัญลักษณ์GDA แบบสัญญาณไฟจราจรให้ผลการรับรู้ดีกว่าแบบสัญลักษณ์สีเดียวถึง 5 เท่า ดังนั้นยืนยันว่าจะมีการผลักดันให้มีการนำสัญลักษณ์แบบสัญญาณไฟจราจรมาใช้อย่างแน่นอน
 
   นพ.ทักษพล กล่าวต่อไปว่า โดยส่วนตัวแล้วสัญลักษณ์ตามแบบที่ทางอย. กำหนดมานั้น ยังไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร ซึ่งเรื่องนี้ในหลายประเทศก็กำลังดำเนินการกันอยู่ แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดที่นำสัญญลักษ์แบบสัญญาณไฟจราจรมาใช้ในวงกว้าง เพราะมักจะถูกภาคธุรกิจเข้ามาแทรกแซง แต่นักวิชาการด้านอาหารในหลายประเทศก็จะเดินหน้าในเรื่องนี้ต่อ เพราะปัญหาโรคอ้วนในขณะนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก
 
   “ ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติที่กำลังจะมาถึง อยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาสนใจในเรื่องนี้ด้วย เพราะต้องยอมรับว่าเด็กถูกชักจูงได้ง่าย โดยเฉพาะจากการโฆษณา จึงควรหาทางที่จะทำให้เด็กได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และหากยังไม่เร่งดำเนินการ เชื่อได้ว่าอีกไม่เกิน 20 ปี ประเทศไทยจะมีประชากรเด็ก และผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอ้วนเกินครึ่งประเทศแน่นอน” นพ.ทักษพล กล่าว

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140

รูปภาพ