มติ คสช.ย้ำน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ อันตรายมหันต์ต่อผู้บริโภค | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   มติ คสช.ย้ำน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ อันตรายมหันต์ต่อผู้บริโภค พร้อมเร่งคลอดยุทธศาสตร์จัดการปัญหาครบวงจรหวังหยุดใช้น้ำมันทอดซ้ำ
 
   วันนี้ (15 มีนาคม 2555) ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) มีพลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2554 เรื่อง “ความปลอดภัยทางอาหาร : การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ” และให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นแนวทางร่วมในการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
   นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีผู้เข้าร่วมเกือบ 2,000 คน เห็นว่าน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพเป็นภัยต่อสุขภาพ เพิ่มปัจจัยเสี่ยงแก่ผู้บริโภคเพราะอาจก่อเกิดโรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และในยุคน้ำมันแพง มีพ่อค้านำน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพมาฟอกสีให้ใส เรียกว่า “น้ำมันลูกหมู” เพื่อนำไปแบ่งถุงขายปลีก จำหน่ายในราคาถูกลงกว่าเดิม ทำให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบมาก
   นพ.อำพล กล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่ผ่านมา สช.ได้จัดการประชุมหารือการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเรื่องนี้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อการขับเคลื่อนมติเกิดผลในทางปฏิบัติ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นเจ้าภาพจัดทำยุทธศาสตร์การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งน่ายินดีที่ได้ทราบว่า ขณะนี้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขได้หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นนโยบายเร่งรัดการดำเนินการแล้ว ต้องมีการสร้างองค์ความรู้เพิ่มเติม เพื่อการพัฒนาฉลากให้ความรู้กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ การรณรงค์ สื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้วยข้อมูลที่ง่าย ชัดเจน และปฏิบัติได้ รวมถึงการทบทวนมาตรการทางกฎหมาย บทลงโทษผู้กระทำผิดที่เหมาะสม การควบคุมการนำเข้าน้ำมันทอดซ้ำจากต่างประเทศ การพัฒนาชุดทดสอบอย่างง่ายเพื่อให้ใช้ได้จริงและราคาถูก นอกจากนี้ยังสนับสนุนและส่งเสริมให้มีพื้นที่นำร่องในการควบคุมปัญหาและสามารถนำน้ำมันทอดซ้ำไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอื่นๆ
   สำหรับที่ประชุม คสช. ในวันนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนมติดังกล่าว โดยให้ข้อเสนอแนะอย่างกว้างขวาง พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา ประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ให้ทุกฝ่ายเร่งดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งในวันนี้กรรมการสุขภาพแห่งชาติได้กล่าวถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างชัดเจน
   นอกจากนี้กรรมการสุขภาพแห่งชาติยังได้ให้ข้อเสนอที่สำคัญคือ ให้มีมาตรการรณรงค์โดยใช้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมอย่างสำคัญ คู่ขนานไปกับการเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดกระแสสังคม จาก นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะผู้แทนนายกองการบริหารส่วนตำบล
   นายสนั่น วุฒิ กรรมการสุขภาพแห่งชาติ เสนอให้มีการจัดระบบการจัดเก็บน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น นำไปทำไบโอดีเซล เพื่อเป็นรายได้ทดแทนให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยป้องกันมิให้มีการนำน้ำมันทอดซ้ำกลับมาสู่วงจรอาหารอีก
   ด้าน เภสัชกร วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ ๗อุบลราชธานี ในฐานะรองประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นในประเด็นดังกล่าวของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๔ และยังเป็นผู้รับผิดชอบโครงการปฏิวัติน้ำมันทอดซ้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง เริ่มมีการจัดการน้ำมันทอดซ้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการผลิตไบโอดีเซลใช้เองและเริ่มมีการรวมกลุ่มกันเฝ้าสำรวจอาหารในชุมชน เพื่อศึกษาดูสถานการณ์น้ำมันทอดซ้ำอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นไปได้ว่า ประชาชนหรือผู้บริโภคเริ่มตื่นรู้กับพิษภัยของน้ำมันทอดซ้ำ จึงมีการเฝ้าระวังที่เข้มงวดมากขึ้น อาทิที่ จ.ตรัง จ.มหาสารคาม จ.อุดร จ.ขอนแก่น จ.กระบี่ และ จ.เชียงใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เริ่มเกิดขึ้นชัดเจน ดังนั้นระดับหน่วยงานใหญ่ๆ จึงควรให้ความสำคัญในการเสนอเป็นนโยบาย และวางกรอบจริยธรรมไว้ เพื่อให้ผู้ประกอบการเลิกเอาเปรียบผู้บริโภค แต่ที่สำคัญต้องมีการหาทางออกแก่พวกเขาด้วย เนื่องจากบางครั้งการค้าขายต้องลงทุนสูง หากทำไปแล้วไม่ได้กำไรก็ไม่มีพ่อค้าหรือแม่ค้ารายใดอยากทำ ดังนั้น การเสนอเป็นกรอบนโยบายโดยคำสั่ง ครม. เช่น กำหนดให้กระทรวงพลังงาน ดูแลเรื่องพลังงานไบโอดีเซลจากน้ำมันทอดซ้ำ กำหนดให้กระทรวงสาธารสุขออกประกาศควบคุมและป้องกันการประกอบอาหารจากน้ำมันเสื่อมสภาพ ที่ชัดเจน ทุกอย่างคงเป็นรูปธรรมมากขึ้น
   “สำหรับอันตรายของน้ำมันทอดซ้ำนั้น เคยมีนักวิจัยลองเอาไปทดลองในหนูทดลอง โดยการป้ายที่ผิวหนังพบว่า ผิวหนังเริ่มมีรอยไหม้ แสดงอาการเหมือนเนื้อมะเร็งผิวหนัง แต่ในคนไม่สามารถทดลองได้เนื่องจากผิดจริยธรรม ดังนั้น จึงต้องเริ่มที่การรณรงค์ให้ความรู้ และการวางกรอบนโยบายเพื่อจัดการปัญหา” เภสัชกร วรวิทย์ กล่าว

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140

รูปภาพ