สช.จับมือกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ เคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ สร้างสังคมสุขภาวะด้วยภูมิปัญญาไท วิถีไท | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในฐานะหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “สานพลังขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท ฉบับที่ 2” ขึ้นระหว่างวันที่ 24- 25 มีนาคม 2555 ณ โรงแรมรติลานนา อ.เมือง จ. เชียงใหม่ เตรียมพร้อมผลักดันสร้างสุขภาวะคนไทยด้วยศาสตร์ภูมิปัญญาไท
 
   นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมครั้งนี้ว่า เป็นไปเพื่อแสวงหาแนวทางในการขับเคลื่อน (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2555-2559) ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) แล้ว และรอเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แผนยุทธศาสตร์ชาติฯ ฉบับที่ 2 นี้จัดทำขึ้นโดยสานความต่อเนื่องจากแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ ฉบับที่ 1 มุ่งใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) และธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 เป็นหลัก โดยมี 6 ยุทธศาสตร์คือ 1.) การสร้างและจัดการความรู้ ภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท 2.) การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนและระบบบริการสาธารณสุข 3.)การพัฒนากำลังคน 4.)การพัฒนาระบบยาจากสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร 5.) การพัฒนาระบบและกลไกการคุ้มครองภูมิปัญญาไทย และ 6.) การสื่อสารสาธารณะ
 
   “ผลจากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ จะก่อให้เกิดเครือข่ายนักวิจัยทุกระดับ มีชุดความรู้สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ มีการพัฒนามาตรฐานการบริการด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และมาตรฐานบุคลากร การสร้างความเข้มแข็งของระบบยาไทย มีการส่งเสริมการปลูกสมุนไพร และผลิตยาสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน เพื่อใช้ในระบบยาของประเทศ ตลอดจนมีระบบการคุ้มครองภูมิปัญญาไทผ่านระบบฐานข้อมูลดิจิทัลภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์แผนไทย (TKDI) เพื่อใช้ในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบว่ามีการละเมิดภูมิปัญญาไทยหรือไม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาบทบาทเชิงรุกของประเทศไทยในเวทีเจรจาระหว่างประเทศด้วย” น.พ.วิชัย กล่าว
 
   ด้านนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ให้เป็นจริงจำเป็นต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการทำงาน กฎหมายหลักที่กรมฯดูแลอยู่ คือ พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ซึ่งขณะนี้มีกฎหมายลูกอีกหลายฉบับมารองรับให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพเกี่ยวข้องอยู่ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดูแลเป็นหลักอยู่ด้วย ส่วนนี้กรมฯ จะมีบทบาทในการให้ข้อมูลเชิงวิชาการ และเป็นที่น่ายินดีว่า องค์ความรู้เรื่องนี้เรามีอยู่เป็นจำนวนมากนั้นมีการต่อยอดมากขึ้นเป็นลำดับ อีกพลังสำคัญในการขับเคลื่อนคือการมีส่วนร่วม ขณะนี้ภาคประชาชน และภาควิชาการเข้ามามีส่วนร่วมค่อนข้างมาก ขุมพลังสำคัญคือมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้มีคณบดีและนักวิชาการจากหลากหลายสถาบันเข้าร่วม ทั้ง ม.รังสิต รพ.ศิริราช ม.มหิดล ม.ขอนแก่น และ ม.สงขลานครินทร์ ซึ่งมหาวิทยาลัยมีบทบาทในการวิจัย กรมฯไม่ต้องการเครื่องไม้เครื่องมือวิจัยราคาแพง แต่ต้องการงบประมาณเพื่อการวิจัยให้แก่อาจารย์มหาวิทยาลัย โดยกรมฯจะเป็นผู้ตั้งโจทย์การวิจัยให้ และส่งนักวิชาการของกรมฯเข้าร่วมเป็นทีมนักวิจัยด้วย
 
   “กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ จะรับเป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้ ในการประชุมครั้งนี้มีผู้อำนวยการทุกสำนักที่เกี่ยวข้องมาเข้าร่วม เพื่อให้ผู้บริหารของกรม ได้เห็นภาพทั้งหมดของแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ และได้ทราบว่าเครือข่ายที่ร่วมขับเคลื่อนเรื่องนี้ ต้องการให้กรมฯ ดำเนินการเรื่องใดบ้างในยุทธศาสตร์แต่ละด้าน จากนี้กรมฯจะนำข้อมูลทั้งหมด กลับไปวางแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาคประชาชน ธุรกิจ ภาควิชาการ และหน่วยงานรัฐ อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” นพ. สุพรรณ กล่าว
 
   นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวทิ้งท้ายว่า “เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และสนับสนุนการให้บริการการแพทย์แผนไทยแก่ประชาชน ขณะนี้ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ชาติฯ ฉบับที่ 2 อยู่ระหว่างการรอพิจารณาให้ความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะได้รับการพิจารณาในเร็ววันนี้”
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140

รูปภาพ