ปกป้องอนาคตของชาติจาก ‘ภัยออนไลน์’ เทคโนโลยีที่เข้าถึงง่าย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   ท่ามกลางความเจริญทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ภัยเงียบที่แอบซ่อนมาและเข้าถึงกลุ่มคนทุกเพศทุกวัยอย่างที่ไม่ทันรู้สึกและตระหนักถึงอันตราย คือ “ภัยจากสื่อออนไลน์” ที่กำลังคืบคลานคุกคามต่อสุขภาวะของเด็กและเยาวชนไทยอย่างรุนแรง กว้างขวาง และรวดเร็ว ทั้งการเสพติดเกมและเสพเนื้อหาที่มีความรุนแรงสู่พฤติกรรมการเลียนแบบ เสพสื่อลามกสู่การล่วงละเมิดทางเพศ การเล่นเกมการเสี่ยงทายสู่การพนันออนไลน์ การกลั่นแกล้งรังแกบนโลกไซเบอร์ (Cyber bullying) สู่ภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย ฯลฯ
 
   ด้วยทุกปัญหาจากภัยออนไลน์ ล้วนมีผลต่อการหล่อหลอมทัศนคติและพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนในระยะยาว องค์กรต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสุขภาวะของเด็กและเยาวชน รวม 32 องค์กรเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ องค์กรสาธารณประโยชน์ ต่างตระหนักถึงปัญหาและมีความเห็นร่วมกันว่า ถ้าทุกองค์กรร่วมมือกันจัดการให้เด็กและเยาวชนเดินสู่เส้นทางการใช้โลกออนไลน์ที่เหมาะสม ก็จะได้อนาคตของชาติที่ดีที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ จึงได้ร่วมกัน “ประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือเพื่อการปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์” เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563
 
   

ประกาศ 4 มาตรการสำคัญบนความร่วมมือ

 
   

  • ร่วมกันกำหนดให้การปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์เป็นวาระเร่งด่วนที่สำคัญขององค์กรทุกระดับ นับตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ องค์กรสาธารณประโยชน์ องค์กรชุมชนและครอบครัว
  • ร่วมกันส่งเสริม สร้างความตระหนักและการรู้เท่าทันสื่อให้แก่เด็ก เยาวชน บุคคลแวดล้อมรอบตัวเด็กและประชาชนทุกกลุ่ม
  • ร่วมกันหนุนเสริมการพัฒนาระบบปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์
  • ประสานความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายหรือมาตรการที่จำเป็นต่อการปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์
  •  
       

    ผลสำรวจพบเยาวชนมีความเชื่อ-พฤติกรรมออนไลน์สุ่มเสี่ยง

     
       หากถามว่า ภัยคุกคามทางออนไลน์ที่เด็กและเยาวชนเผชิญคืออะไร ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนา ได้นำเสนอผลสำรวจสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ประจำปี 2563 ซึ่งมีการเก็บข้อมูลระหว่างเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2563 พบว่า กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเด็กมัธยมศึกษาอายุ 12-18 ปี จำนวน 14,945 คน มีพฤติกรรมเสี่ยงภัยออนไลน์ 6 อันดับแรก คือ (1) ซื้อสินค้าจากร้านค้าออนไลน์ที่ไม่รู้จัก ร้อยละ 44 (2) รับคนแปลกหน้าเป็นเพื่อน ร้อยละ 39 (3) ใส่ข้อมูลตัวตนบนสื่อโซเชียลมีเดีย ร้อยละ 26 (4) แชร์ข้อมูลโดยไม่ได้ตรวจสอบ ร้อยละ 24 (5) นำข้อมูลมาใช้โดยไม่รับอนุญาตหรือไม่อ้างอิงแหล่งที่มา ร้อยละ 24 (6) เข้าถึงสื่อลามก ร้อยละ 14
     
       นอกจากนี้เยาวชนยังมีอิสระในการใช้สื่อออนไลน์ค่อนข้างมาก โดยเด็กร้อย 89 เชื่อว่าโลกออนไลน์มีภัยอันตรายหรือความเสี่ยงต่างๆ แต่ร้อยละ 61 เชื่อว่าหากเผชิญภัยเหล่านั้นจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง ซึ่งดร.ศรีดา มองว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ผลสำรวจยังพบด้วยว่า เว็บไซต์หรือเนื้อหาที่ผิดกฎหมายหรือเป็นอันตรายที่เด็กเข้าถึงมากที่สุด 4 อันดับแรกคือ ความรุนแรงร้อยละ 49 การพนันร้อยละ 22 สื่อลามกอนาจารร้อยละ 20 และสารเสพติดร้อยละ 16
     
       ส่วนผลการสำรวจการเล่นเกมออนไลน์ของเยาวชนก็พบว่า จากกลุ่มตัวอย่าง 11,384 คน มีร้อยละ 26 ที่เล่นเกมออนไลน์ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 30 ใช้เวลา 3-10 ชั่วโมงต่อวัน และมีเยาวชนร้อยละ 5 เล่นมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน โดยที่มีการแจ้งว่ามีการพนันในเกมที่เล่นอยู่ราวร้อยละ 10 ส่วนการเติมเงินซื้อของในเกมมีจำนวนอยู่ที่ร้อยละ 34 ในจำนวนนี้ร้อยละ 7 ระบุว่าเติมเงินเดือนละ 201-500 บาท ขณะที่ผลของการเล่นเกมออนไลน์ทำให้เยาวชนไทยสนใจทำกิจกรรมอย่างอื่นน้อยลงมากถึงร้อยละ 43 ผลการเรียนแย่ลงร้อยละ 20 และความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวแย่ลงร้อยละ 13
     
       ดร.ศรีดา ย้ำว่าผลการสำรวจทำให้เห็นว่า เด็กมีความเชื่อและพฤติกรรมออนไลน์ที่สุ่มเสี่ยง อาจนำภัยมาถึงตัวได้ ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบการกำหนดนโยบายและวางแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดมาตรการ เครื่องมือ กลไกที่จะช่วยเหลือเด็กจากภัยออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
     
       

    เปิดให้ “เด็กและเยาวชน” เข้ามาร่วม คือ เส้นทางของความสำเร็จ

     
       นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวปาฐกถาเรื่อง ‘สื่อในโลกดิจิทัลกับโอกาสที่จะสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนไทย’ โดยมีใจความหลักสนับสนุน 4 มาตรการที่ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน ทั้งยังเน้นย้ำให้มีการเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดปัญหาและการแก้ไข โดยเฉพาะการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์
     
       นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนได้มาร่วมกันคิดร่วมกันทำโดยเน้นถึงต้นเหตุที่ต้องแก้ไข ทั้งการให้ความรู้ การคัดกรอง การให้แนวคิด ขณะที่กระทรวงดิจิทัลฯ ทำกฎหมายออกมาบังคับใช้อันเป็นการจัดการกับปลายเหตุของปัญหา
     
       “ทุกคนมาถามเมื่อไรจะจับ เมื่อไรจะปิด เราต้องหยุดพูดประโยคเหล่านี้ แล้วถามว่าเมื่อไรเด็กเราจะคิดได้ เมื่อไรเด็กเราจะเลือกได้ ผมเชื่อว่าน้องๆ เยาวชนหลายคนที่ผมได้ไปสัมผัส เกิน 80-90% เขารู้ว่าโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่พัฒนามาวันนี้ใช้ประโยชน์ได้ดีจริงๆ อาจมีแค่ 10-20% เท่านั้นที่เขาอาจจะไปใช้ในสิ่งที่ผิด” รัฐมนตรีกล่าวพร้อมกับย้ำว่า เด็กไทยถูกปลูกฝังให้คิดได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น หน้าที่ของผู้ใหญ่จึงต้องสนับสนุนให้เขาคิด และเปิดพื้นที่ให้เขามาแลกเปลี่ยน
     
       “เด็กรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้ เราไปตีกรอบแล้วไปสั่งให้เขาคิดไม่ได้ วันนี้สิ่งที่เราต้องทำและต้องทำต่อไป คือ ทำอย่างไรให้เด็กเขามาร่วมกันคิด ร่วมกันทำกับเรา เราจะไปคิดแทนเขาว่าอันนี้ไม่ได้ อันนี้ห้าม ยิ่งห้ามจะเหมือนยิ่งยุ ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือต้องดึงเขามามีส่วนร่วม จัดเวทีให้เขามามีส่วนร่วมกับเรา ให้เขามาคิดกับเราว่าถ้าจะป้องกันแบบนี้ น้องคิดว่าจะทำอย่างไร น้องจะบอกเพื่อนอย่างไร ไม่เข้าคลิปนี้ ไม่เข้าเว็บแบบนี้ได้ไหม” นายพุทธิพงศ์กล่าว
     
       

    เยาวชนกับการรู้เท่าทันโลกออนไลน์

     
       นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า จากการทำงานร่วมมือขององศ์กรภาคีเครือข่ายพบว่า เด็กและเยาวชนยังขาดความรู้เท่าทันและมีความเสี่ยงสูงจากภัยออนไลน์ โดย 1 ปีที่ผ่านมา หลายภาคส่วนได้ดำเนินการปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ ทั้งในการขับเคลื่อนงานผ่านยุทธศาสตร์ส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ พ.ศ. 2560 – 2564 ผ่านการจัดทำแผนปฏิบัติการ การติดตามและประเมินผลตามตัวชี้วัด สิ่งสำคัญคือ การมีพื้นที่ปฏิบัติงานจริง ทำให้เห็นภาพการทำงานที่เชื่อมโยงจากระดับนโยบายสู่พื้นที่การปฏิบัติงาน รวมทั้งมีการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน สิ่งที่ท้าทายสำหรับการทำงานในอนาคตก็คือ ต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างความรู้ ความเท่าทันต่อสื่อออนไลน์ และพัฒนากลไกให้มีประสิทธิภาพ พร้อมกับเชื่อมโยงเครือข่ายให้เป็นระบบปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากสื่อออนไลน์ได้อย่างแท้จริง รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพเด็ก เยาวชน และบุคคลแวดล้อมให้ตระหนักถึงการใช้สื่อยุคใหม่อย่างสร้างสรรค์ เท่าทัน และชาญฉลาด
     
       

    มติสมัชชาเด็กและเยาวชนฯ ว่าด้วย ‘ก้าวทันสื่อ รู้ทันสิทธิ์’

     
       ขณะที่ นายธนวัฒน์ พรหมโชติ รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เห็นว่า เด็กและเยาวชน คือ คนที่รู้ปัญหาที่ดีที่สุดและสามารถทบทวนแนวทางแก้ไขได้ด้วยตัวเอง แต่การจะนำความคิดของเด็กมาใช้ในการช่วยแก้ไขปัญหาหรือเป็นเครื่องมือให้กับหน่วยงานต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับเยาวชน โดยให้พวกเขาเข้ามาร่วมคิดร่วมทำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ในลักษณะ “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” เพื่อให้เยาวชนอยากเดินหน้าและส่งต่อสิ่งดีๆ กับเพื่อนเยาวชนและสังคมสืบไป
     
       รองประธานสภาเด็กฯ ยกตัวอย่างกิจกรรมที่ผ่านมาของเยาวชนว่า เมื่อปี 2561 มีกิจกรรมระดับโลกคือ การแข่งขันฟุตบอลโลก สภาเด็กฯ รณรงค์ต่อต้านพนันฟุตบอลออนไลน์ทั้งการยื่นหนังสือเรียกร้องต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง การให้ความรู้สื่อสารรณรงค์ จนปีนี้สภาเด็กฯ และเครือข่ายมีการเสนอมติสมัชชาเด็กและเยาวชนแห่งชาติเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องสื่อโดยตั้งชื่อว่า ‘ก้าวทันสื่อ รู้ทันสิทธิ์’ มีข้อเสนอต่อรัฐ เอกชน และประชาสังคม รวมเป็น ‘3 พ.’ ประกอบด้วย
     
       

  • พ. ที่ 1 คือ พัฒนาหลักสูตรในรายวิชาต่างๆ ให้เรียนรู้เกี่ยวกับสื่อและสิทธิ์ทั้งในและนอกห้องเรียน
  • พ. ที่ 2 คือ ส่งเสริมการผลิตสื่อสร้างสรรค์ สื่อและสิทธิ์สัมพันธ์กันอย่างไร รวมทั้งเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
  • พ. ที่ 3 คือ เพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายพร้อมกำหนดมาตรการกับสื่อต่างๆ
  •  
       

    สร้างความร่วมมือบนกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์

     
       นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สช. เป็นองค์กรกลางทำหน้าที่เชื่อมโยง สานพลังและบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายที่ผ่านความเห็นชอบของสังคมในกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญอันหนึ่งภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่มีการจัดขึ้นทุกปี และในการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา 12 ครั้งมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวกับผลกระทบจากสื่อต่อเด็กและเยาวชนถึง 4 มติ คือ (1) ในปี 2551 มติฯ ผลกระทบจากสื่อต่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว (2) ในปี 2555 มติฯ การจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก 24 ชั่วโมง : กรณีเด็กไทยกับไอที (3) ในปี 2557 มติฯ การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง และ (4) ในปี 2561 มติฯ ความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อสุขภาวะเด็ก ซึ่งเป้าหมายของการประกาศเจตนารมณ์ในครั้งนี้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนทั้ง 4 มติฯข้างต้น
     
       หลังการประกาศเจตนารมณ์ สิ่งสำคัญที่ 32 องค์กรจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน4 มาตรการสำคัญ คือ (1) การจัดทำแผนการขับเคลื่อนที่มีเป้าหมายร่วมกัน สิ่งท้าทายคือ จะบูรณาการและจัดสรรทรัพยากรร่วมกันอย่างไร (2) การสานพลังความร่วมมือ โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่ ให้โอกาสกับเด็กและเยาวชนในฐานะเจ้าของปัญหาตัวจริงได้เข้ามามีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมติดตาม ร่วมประเมิน จะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร (3) กลไกกลางที่ทำหน้าที่เสมือนฝ่ายเลขานุการ และ (4) ระบบการบริหารจัดการที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างความร่วมมือข้างต้นจะมีรูปแบบอย่างไร หน่วยใดจะเป็นหน่วยตั้งต้น สุดท้าย (5) การเชื่อมประสานกลไกระดับชาติที่มีอยู่ เช่น คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) คณะอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ จะเป็นกลไกเสมือน ครม.น้อย ที่สามารถช่วยกลั่นกรองประเด็น/ข้อเสนอให้คมชัด และช่วยผลักดันเสนอเรื่องสู่การพิจารณาในระดับนโยบายได้อย่างต่อเนื่องและเข้มข้น
     

    กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

    หมวดหมู่เนื้อหา