ปีนี้พลิกโฉม ‘สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ’ ครั้งที่ 13 | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   คจ.สช. เตรียมความพร้อมจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2563 ภายใต้ประเด็นหลัก “พลังพลเมืองตื่นรู้ ... สู้วิกฤตสุขภาพ” พร้อมประกาศ 5 หมวดประเด็นย่อย เป็นกรอบจัดทำ-รับข้อเสนอ แง้ม 3 ทางเลือกการจัดงานบนความไม่แน่นอนภายใต้สถานการณ์โควิด-19
 
   นับเป็นการพลิกโฉมครั้งใหญ่ สำหรับการจัดประชุม สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และในปีนี้นับเป็นครั้งที่ 13 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 18 ธันวาคม 2563 ณ อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) พ.ศ.2563-2564 ที่มี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธาน คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานในปีนี้จะสามารถสร้าง “แรงสะเทือน” ได้มากขึ้น
 
   ความแตกต่างที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นผลจากความพยายามของ คจ.สช. ที่ต้องการ “เพิ่มจุดเน้น” ให้กระบวนการสมัชชาสุขภาพฯ มีพลานุภาพมากไปกว่าเพียงแค่การแสวงหา “ฉันทมติ” ในระเบียบวาระการประชุม
 
   ปีนี้ จึงให้น้ำหนักสำคัญไปที่ “การเฉลิมฉลอง” ทั้งในแง่บทบาท ผลงาน รวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ตลอดจน “การตระเตรียมความพร้อม” เพื่อจัดงานสมัชชาสุขภาพฯ ในปี 2564 ด้วย
 
   นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า คจ.สช. โดยคณะอนุกรรมการวิชาการ ได้ระดมสมองกันอย่างหนัก ก่อนจะร่อนตะแกรง ข้อเสนอ โดยพิจารณาจาก สถานการณ์สุขภาพ ขนาดของปัญหา และความเป็นไปได้ที่จะใช้นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมเข้ามาแก้ไข ภายใต้ประเด็นหลัก (Theme) ของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13
 
   นั่นก็คือ “พลังพลเมืองตื่นรู้ ... สู้วิกฤตสุขภาพ” ประกอบด้วย 2 คำสำคัญ
 
   เริ่มจาก “พลังพลเมืองตื่นรู้” หมายถึง การที่พลเมืองของประเทศไทยมีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม มีความตระหนักรู้และกระตือรือร้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจของประเทศ
 
   ส่วนคำว่า “วิกฤตสุขภาพ” หมายถึง ภาวะทางสุขภาพทั้ง 4 มิติ ที่ไม่อยู่ในภาวะปกติ เป็นเหตุการณ์ที่มีอยู่ในภาวะอันตราย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมโดยรวม ควรต้องมีนโยบายหรือการตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาภายในเวลาที่จำกัด
 
   นอกจากนี้ ในกระบวนการสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 13 ยังมีอีกหนึ่งไฮไลท์คือ เป็นครั้งแรกที่มีการ “ประกาศหมวดประเด็นย่อย” (Sub theme) เพื่อใช้เป็นกรอบในการพิจารณา “ข้อเสนอ” เป็นระเบียบวาระ ซึ่งจะช่วยพุ่งเป้าให้ได้ระเบียบวาระภายใต้ขอบเขตของประเด็นหลักได้เป็นอย่างดี
 
   “จะไม่มีข้อเสนอของใครที่จะตกหล่น เพราะทุกข้อเสนอมีความสำคัญเราจึงเคารพทั้งหมด และถึงแม้ว่าข้อเสนอนั้นจะไม่ผ่านอนุกรรมการวิชาการ ก็ยังมีคณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมฯ และคณะอนุกรรมการสนับสนุนฯ อีก ดังนั้นทุกข้อเสนอนั้นจะได้รับการพิจารณาและผลักดันผ่านทุกช่องทางที่มี” นพ.ณรงค์ศักดิ์ ระบุ
 
   นพ.สมชาย พีระปกรณ์ ประธานอนุกรรมการวิชาการ อธิบายว่า หมวดประเด็นย่อยหรือซับธีม ที่ คจ.สช. ออกประกาศมานั้น ครอบคลุมการจัดงานปี 2563 - 2564 โดยประกอบด้วย 5 หมวดย่อย ได้แก่ 1.วิกฤตสุขภาพจากโรคอุบัติใหม่ 2.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับวิกฤตสุขภาพ 3.ปัจจัย 4 ในภาวะวิกฤต 4.วิกฤตสุขภาพของกลุ่มคน 5.วิกฤตสุขภาพกับสังคมออนไลน์
 
   รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ที่ปรึกษา คจ.สช. แสดงความคิดเห็นว่า การจัดงานสมัชชาสุขภาพฯ ตลอด 12 ครั้งที่ผ่านมา เกิดบทเรียนดีๆ ขึ้นมาก ทั้งการสร้างและขับเคลื่อนนโยบายที่ต้องใช้เวลา แต่บทเรียนดีๆ เหล่านั้นยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมา ดังนั้น งานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 13 จึงควรมีการ “เฉลิมฉลอง” เพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้ขับเคลื่อน และกระตุ้นให้รัฐหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นถึงความสำคัญ
 
   นพ.ชูชัย ศรชำนิ กรรมการ คจ.สช. เสนอเพิ่มเติมว่า เมื่อเกิดวิกฤตสุขภาพครั้งใหญ่ คนเล็กคนน้อยจะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด ดังนั้นควรเพิ่มเติม Sub Topic เรื่องความเสมอภาคเข้าไป พร้อมทั้งวางแผนเพื่อดึงกลุ่มคนที่ตื่นรู้แล้ว เช่น Influencer มาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน รวมถึงให้ความสำคัญการลงทุนทางสังคมด้วย
 
   นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ขมวดประเด็นว่า กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มีหน้าที่ทำให้เสียงและพลังที่หลากหลายของสังคมไปสู่จุดสมดุล นั่นก็คือสังคมสุขภาวะ “เราต้องนำการเรียนรู้ของสังคมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารมาประยุกต์ใช้ เพื่อออกแบบการจัดงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 13 โดยความก้าวหน้าเหล่านี้ จะทำให้สามารถเปิดเวทีสมัชชาสุขภาพฯ ได้ในรูปแบบที่หลากหลายยิ่งขึ้น”
 
   “ความก้าวหน้าดังกล่าว จะช่วยให้เราเปิดเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และหาฉันทมติได้ในแง่เนื้อหาได้ไม่ยาก แต่ในปีนี้ มีจุดเน้นเรื่องวาระแห่งการเฉลิมฉลองด้วยแล้ว คงต้องช่วยกันคิดว่า จะใช้ความก้าวหน้าทางการสื่อสารอย่างไร เพื่อให้เกิดความแตกต่างและบรรลุเป้าหมายทั้งหมด” นพ.ประทีป ระบุ
 
   นอกจากนี้ ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่ต้องรับภารกิจจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และ คจ.สช. มาดำเนินการ เพื่อให้เกิดความเชื่อมต่อระหว่างกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สมัชชาสุขภาพพื้นที่หรือสมัชชาสุขภาพจังหวัด รวมไปถึงสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นหรือกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ โดยทั้งหมดนี้ จะเกิดขึ้นคู่ขนานพร้อมกับการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ “บรรยากาศเช่นนี้ ข้อเสนอต่าง ๆ จากทุกภาคส่วนก็จะถูกนำไปใช้ในเวทีสมัชชาสุขภาพทุกระดับ” นพ.ประทีป ระบุ
 
   ช่วงท้ายของการประชุม ผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้บอกเล่าถึงแผนการจัดงานสมัชชาสุขภาพฯ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งมีการเตรียมพร้อมไว้ 3 แนวทาง ได้แก่
 
   1. กรณีที่สถานการณ์โควิด 19 กลับสู่ปกติ เสนอให้มีการจัดการประชุมในรูปแบบปกติร่วมกับการผสมผสานการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อทำให้การเข้าถึงเพิ่มขึ้น อาทิ การถ่ายทอดสดและการสัมภาษณ์ทางออนไลน์
 
   2. กรณีสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลายแต่ยังไม่ยุติ เสนอให้มีการลดรูปแบบของการจัดงาน และผสมผสานการนำเทคโนโลยีมาใช้ ลดจำนวนวันจัดงาน และลดจำนวนผู้เข้าร่วม เพื่อให้เป็นไปตามหลัก physical distancing
 
   3. กรณีสถานการณ์โควิด 19 ยืดเยื้อต่อเนื่อง ไม่สามารถจัดประชุมที่รวมคนได้ อาจเสนอให้มีการจัดเฉพาะการประชุมพิจารณาระเบียบวาระที่สำคัญเร่งด่วน โดยการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเต็มรูปแบบในลักษณะเดียวกันกับการประชุมออนไลน์ของสมัชชาองค์การอนามัยโลก (WHA)
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ (เพิ่มเติม)
หมวดหมู่เนื้อหา