ชาวอุบลฯ งัด ‘ธรรมนูญสุขภาพ’ สู้ภัยโควิด19 | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   ถอดบทเรียน จ.อุบลราชธานี ใช้ “ธรรมนูญสุขภาพ” สู้ภัยโควิด 19 กำหนดข้อตกลง-แนวปฏิบัติร่วมกัน หากฝ่าฝืนอาจถูกมาตรการทางสังคม “นพ.นิรันดร์” ในฐานะประธาน กขป. ระบุ เดินหน้าสานพลังเครือข่ายทุกระดับในพื้นที่ พร้อมต่อยอดความสำเร็จไปสู่เขตสุขภาพอื่น
 
   จ.อุบลราชธานี เป็นหนึ่งในจังหวัดที่นำเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ไปปรับใช้เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นแก่คนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) กำลังแพร่ระบาด ได้มีการสร้างความร่วมมือร่วมใจผ่านเครื่องมือ “ธรรมนูญสุขภาพ” จนก่อเป็นความเข้มของชุมชนในการสู้ภัยสุขภาพครั้งนี้
 
   นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต 10 บอกเล่าถึงการดำเนินการของ จ.อุบลราชธานี ผ่านหัวข้อ “ธรรมนูญตำบล ช่วยชุมชนสู้ภัยโควิด 19” ในรายการคลื่นความคิด FM 96.5 ตอนหนึ่งว่า สมัชชาสุขภาพและเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ได้หลอมรวมการทำงานเพื่อป้องกันโควิด 19 เข้ามาเป็นเนื้อเดียวกัน โดยมี “ธรรมนูญสุขภาพ” ที่เป็นข้อตกลงร่วมหรือข้อปฏิบัติในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ไปจนถึงหมู่บ้าน เป็นเครื่องมือสำคัญ
 
   “ภายใต้สถานการณ์ขณะนี้ที่ต้องเผชิญกับโรคระบาด เราได้สร้างข้อตกลงหรือข้อปฏิบัติร่วมในระดับพื้นที่ขึ้นมา เช่น การล้างมือ การสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน รวมไปถึงการงดเว้นกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน” นพ.นิรันดร์ อธิบาย
 
   ตัวอย่างการทำงานที่น่าสนใจมาจาก อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันร่างธรรมนูญสุขภาพขึ้น โดยมีนายอำเภอเป็นประธานในการจัดทำ ร่วมกับสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ของทั้ง 14 ตำบลในพื้นที่ ซึ่งมีการลงไปทำประชาพิจารณ์ในระดับหมู่บ้าน เพื่อรับฟังความเห็นในการออกข้อตกลงร่วมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ในการปฏิบัติตนเพื่อดูแลตัวเองในช่วงเวลานี้
 
   “การสร้างความเข้าใจนี้ไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นความตกลงที่จะรับรู้และร่วมกันปฏิบัติ ตั้งแต่เรื่องการงดเว้นกิจกรรมต่างๆ การแจ้งกำนันผู้ใหญ่บ้านเมื่อพบสิ่งผิดปกติ ไปจนถึงการให้ รพ.สต. ตรวจสอบติดตามหรือส่งไปยังจังหวัดในกรณีที่มีการพบเชื้อ ซึ่งถ้าเป็นข้อตกลงนี้เขาจะยินดีร่วมกันปฏิบัติมากกว่า แทนที่จะเป็นการสั่งการด้วยมาตรการทางกฎหมาย เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ถือเป็นยาแรง เพราะเรื่องนี้เป็นมาตรการทางสังคม ซึ่งทุกคนจะสมัครใจร่วมกัน เมื่อเขารู้ถึงผลกระทบถ้าเขาไม่ทำ” นพ.นิรันดร์ ระบุ
 
   แม้ว่าธรรมนูญสุขภาพจะไม่ใช่กฎหมาย หากแต่ก็มีพลังมากพอจะทำให้คนในพื้นที่ไม่ฝ่าฝืน ประการแรกคือเป็นข้อตกลงที่ทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของ ประการต่อมาคือมีมาตรการทางสังคมคุ้มครองอยู่ คือหากพบผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามก็จะมีการพูดคุยสร้างความเข้าใจก่อน แต่ถ้ายังไม่ได้ผล คนเหล่านั้นก็อาจต้องเจอกับการถูกสังคมบอยคอต คว่ำบาตร ไม่ให้ความร่วมมือ
 
   ในฐานะประธาน กขป.เขต 10 นพ.นิรันดร์ อธิบายว่า กขป.ได้เชื่อมโยงหน่วยงานรัฐในระดับพื้นที่ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มี “กองทุนสุขภาพตำบล” เป็นกองทุนที่ให้ อบต. หรือเทศบาล ใช้ในเรื่องของการส่งเสริมป้องกันโรค ซึ่งอยู่ระหว่างการพูดคุยให้สามารถนำเงินจากกองทุนนี้ มาผลักดัน อปท. ในพื้นที่ให้ทำงานในด้านของโควิด 19 อย่างไร เช่นเดียวกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ที่มีเครือข่ายของการทำงานมากมายในทุกระดับตำบล หมู่บ้าน
 
   “นี่เป็นภาพการบูรณาการระหว่างภาครัฐ ประชาชน และองค์กรอิสระ มาร่วมกันทำงานเพื่อป้องกันโรคระบาด โดยเฉพาะในแง่ของการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง การดูแลป้องกันตัวเอง การกักกัน หรือกระทั่งระยะห่างทางสังคม จึงมั่นใจว่าเมืองไทยเราทำได้ ด้วยโครงสร้างการทำงานในระดับพื้นที่ที่มีมาตลอด 20 ปี เป็นหัวใจสำคัญที่จะลดการระบาด ลดอัตราการตาย ฉะนั้นที่เรากลัวว่าสถานการณ์จะลุกลามเข้าสู่ระยะที่ 3 โดยสมบูรณ์ จึงคิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น” นพ.นิรันดร์ ระบุ
 
   นพ.นิรันดร์ ทิ้งท้ายด้วยว่า การดำเนินงานของ กขป.เขต 10 ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ทาง สช. ตั้งใจที่จะทำให้เห็นเป็นกรณีตัวอย่าง รวมถึงผลลัพธ์ที่จะมีการสรุปและผลักดันขยาย ต่อยอดไปยังเขตสุขภาพฯ ใกล้เคียง และเขตสุขภาพฯ อื่นๆ ต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

หมวดหมู่เนื้อหา