ชุมชนมุสลิม รวมพลังป้องกัน ‘โควิด19’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   พี่น้องชาวมุสลิมจังหวัดชายแดนใต้สานพลังสู้ภัยโควิด19 ขานรับมาตรการทางสังคมเหตุสอดรับกับคำสอนของศาสนาอิสลามอย่างเป็นเนื้อเดียว พร้อมระดมสมองสร้าง “ข้อตกลงร่วมของพื้นที่” ช่วยหนุนเสริมความเข้มแข็งชุมชน
 
   80% ของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้นับถือ “ศาสนาอิสลาม” มีความเชื่อ ความศรัทธา และปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาอย่างเคร่งครัด การละหมาดร่วมกันที่มัสยิดในวันศุกร์ การฟังบรรยายทางศาสนา ประเพณีการสลามด้วยการสัมผัสมือ การสวมกอด การสัมผัสแก้ม คือวิถีชีวิตที่ผูกติดกับลมหายใจของพี่น้องมุสลิมมาอย่างยาวนาน
 
   ทว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด19 พี่น้องมุสลิมกลับสามารถตระเตรียมความพร้อมในการรับมืออย่างดีเยี่ยม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการล้างมือ การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ตลอดจนการกักตัวอยู่แต่ในเคหะสถาน ล้วนแต่เป็นเนื้อเดียวกับหลักคำสอนในศาสนาทั้งสิ้น
 
   ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ให้ความสำคัญกับคติที่ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” จึงมีการวางกระบวนการดูแลสุขภาพของจิตใจและกายในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการกิน การดื่ม การออกกำลังกาย และวิธีการใช้ชีวิตในมิติต่างๆ รวมไปถึงการขอดุอาอ์ด้วย
 
   เริ่มตั้งแต่ “การรักษาความสะอาดร่างกาย” ซึ่งมีบัญญัติไว้ว่า ประชาชาติอิสลามจะละหมาดวันละห้าเวลา โดยทุกครั้งที่จะทำการละหมาดสมควรอาบน้ำชำระร่างกายใหม่ และต้องล้างมือทั้งสองข้างถูระหว่างซอกนิ้วทั้งหมด บ้วนปาก สูดน้ำเข้าจมูกแล้วสั่งออกมา ล้างมือถึงข้อศอก เช็ดศรีษะและหู จบลงด้วยการล้างเท้าทั้งสองข้างและถูกระหว่างซอกนิ้วเท้า ซึ่งแต่ละขั้นตอนต้องทำทั้งหมด 3 ครั้ง
 
   หรือมาตรการ “กักตัวอยู่ในบ้าน” ที่ช่วยได้ทั้งป้องกันตัวเองจากโรคร้ายและยังช่วยลดการแพร่ระบาดไปยังผู้อื่น ซึ่งสอดคล้องกับที่ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวเอาไว้ว่า “ความปลอดภัยของคนผู้หนึ่งในช่วงฟิตนะห์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงโรคระบาด) คือการที่เขากักตัวอยู่ในบ้าน
 
   ขณะที่แนวปฏิบัติเพื่อ “หลีกเลี่ยงการรวมตัวกัน” ในที่ชุมชน ในที่ที่มีคนจำนวนมาก หรือลดกิจกรรมที่แออัดหนาแน่นนั้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า เมื่อพวกท่านได้ยินเกี่ยวกับโรคระบาดในดินแดนใด ก็จงอย่าเข้าไปในพื้นที่นั้น และเมื่อมันเกิดในแผ่นดินที่พวกท่านอาศัยอยู่ ก็จงอย่าออกไป
 
   นอกเหนือจากการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมซึ่งเปรียบได้กับ “การรับผิดชอบตัวเอง” แล้ว พี่น้องมุสลิมยังได้ร่วมแรงร่วมใจดูแลชุมชนของตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสร้ายลุกลามเข้ามา โดยตัวอย่างหนึ่งมาจาก ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
 
   พื้นที่แห่งนี้มีการตั้งวงหารือกัน เพื่อกำหนดมาตรการความร่วมมือและสนับสนุนการจัดการปัญหาโควิด-19 อย่างเป็นระบบ โดยทีมสมัชชาสุขภาพจังหวัด ภาคประชาสังคม นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้นำศาสนา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ภาคเอกชน ฯลฯ
 
   ไม่ว่าจะการช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชน การประชาสัมพันธ์ การกำหนดมาตรการและแนวปฏิบัติ ตลอดจนแนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ภายใต้สถานการณ์การระบาด และที่สำคัญคือการเผยแพร่และสื่อสารหลักการทางศาสนาอิสลามในการปฏิบัติตนในชุมชน กลุ่มทั่วไป กลุ่มคนที่ถูกกักตัว และญาติมิตร
 
   จากกระบวนการมีส่วนร่วมที่เกิดขึ้น นำมาสู่ “ข้อตกลงร่วมกันของพื้นที่” อาทิ ให้ทุกมัสยิดละหมาดได้ไม่เกิน 3 คน ให้เชิญชวนทุกคนละหมาดที่บ้าน ห้ามเยาวชนเล่นฟุตบอลหรือกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันหลายๆ คน ห้ามนั่งหรือดื่มน้ำชาในร้าน โดยเบื้องต้นข้อตกลงนี้จะมีผล 14 วัน แต่อาจมีการเพิ่มระยะเวลาไปตามสถานการณ์
 
   หรืออย่างใน ชุมชนบือตง เทศบาลเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ที่ทีมสมัชชาสุขภาพจังหวัดได้หารือร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจถึงสถานการณ์และกำหนดมาตรการเพื่อรับมือการระบาดของไวรัสโควิด19 เช่นกัน
 
   การเปิดพื้นที่กลางเพื่อกำหนดข้อตกลงร่วมกันในพื้นที่ นำมาสู่แนวปฏิบัติที่ได้รับความร่วมมืออย่างกว้างขวาง ทั้งการกำหนดละหมาดวัคตูวันละ 3 เวลาเป็นการชั่วคราว ขอให้แต่ละคนละหมาดอยู่ที่บ้านชั่วคราว และงดเว้นการละหมาดยุมอัตวันศุกร์จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
 
   ข้อตกลงร่วมกันเหล่านี้เปรียบได้กับ “ภูมิคุ้มกัน” ที่จะช่วยป้องกันภัยคุกคามด้านสุขภาพ และสร้างความเข้มแข้งให้ชุมชนไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในที่สุด
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

หมวดหมู่เนื้อหา