‘ตระกูล ส.’ ผนึกภาคียุทธศาสตร์ด้านสังคม ปลุกพลเมืองสู้โควิด19 | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   “....บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน พวกเขาจะไม่โดดเดี่ยวในสถานการณ์สู้รบครั้งนี้...”
 
   สถานการณ์โรคโควิด19 ระบาด เพื่อผ่อนแรงไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เปรียบดั่ง “ทัพหน้า” ในการสู้ศึกไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ต้องบอบช้ำจนเกินไป เหล่าทัพหลวงซึ่งก็คือ ประชาชนทุกคนในประเทศจึงต้องมีวินัยและปฏิบัติตัวตามแนวทางรับผิดชอบต่อสังคม
 
   นอกจากการดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัดแล้ว ภาคประชาชนยังเป็นกำลังสำคัญในการหนุนช่วยภาครัฐรับมือกับภัยสุขภาพครั้งร้ายแรง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะหน่วยงานสานพลัง จึงได้เชื่อมร้อยภาคียุทธศาสตร์-บูรณาการภารกิจและทรัพยากรของแต่ละองค์กร เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายสูงสุดคือการ “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ หนุนช่วยรัฐสู้ภัยโควิด19”
 
   เวทีการพูดคุยเพื่อจัดทำแผนการดำเนินงาน เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมี นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน จึงได้รับความร่วมมือจากภาคีด้านสุขภาพจำนวนมาก ตั้งแต่เจ้าบ้านอย่าง สช. ไปจนถึงกัลยาณมิตร “ตระกูล ส.” ทั้ง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) และภาคีด้านสังคมอย่าง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เครือข่ายภาครัฐ สถาบันวิชาการ ธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่
 
   นพ.สำเริง บอกว่า สิ่งสำคัญที่จะเกิดขึ้นคือ การบูรณาการงานจากส่วนกลางลงไปในพื้นที่ในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และชุมชน โดยมีภาคีเครือข่ายยุทธศาสตร์เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งการทำงานในแนวราบร่วมกันในครั้งนี้จะเป็นหนึ่งในบททดสอบของการปฏิรูประบบสาธารณสุขมูลฐานให้เป็นจริง
 
   นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อธิบายว่า หัวใจของการทำงานอยู่ที่พื้นที่ โดยจะมี สช. และ พอช. จะผู้ประสานงานกลางช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนงานในทุกมิติ พร้อมกันนี้จะมีการจัดตั้ง ศูนย์ประสานงานสนับสนุนการสู้ภัยโควิด19 ขึ้นอย่างเป็นทางการด้วย
 
   สำหรับแนวทางการทำงาน จะใช้กลไก คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เข้ามาร่วมหารือกับภาคีในพื้นที่ เพื่อกำหนดประเด็นและทิศทางการต่อสู้ พร้อมทั้งยกระดับให้โควิด-19 เป็น “วาระอำเภอ”
 
   อย่างไรก็ดี เพื่อกำหนดประเด็น-ทิศทางการต่อสู้ให้เป็นหนึ่งเดียว จะมีการนำกระบวนการ “ธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่” หรือการจัดทำข้อตกลงร่วมของชุมชนเข้ามาปรับใช้ เพื่อให้เกิดเป็น “ธรรมนูญประชาชนสู้ภัยโควิด19” ขึ้นในลักษณะสัญญาประชาคมที่ง่ายต่อการปฏิบัติ ซึ่งเนื้อหาอาจประกอบด้วยมาตรการต่างๆ การกำหนดบทบาทและหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ เป้าหมาย
 
   ขณะเดียวกัน จะมีการสร้างทีมวิทยากรพี่เลี้ยงอำเภอที่ประกอบด้วยสาธารณสุขอำเภอ และแกนนำภาคประชาสังคมในพื้นที่ขึ้นมาเป็นลำดับแรก คนกลุ่มนี้จะเข้าไปช่วยสนับสนุนการทำงานในตำบล ชุมชน และหมู่บ้าน ผ่านความร่วมมือของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และอาสาสมัครอื่นๆ
 
   แน่นอนว่า การขับเคลื่อนกิจกรรมจำเป็นต้องใช้งบประมาณ ซึ่งหน่วยงานอย่าง สสส. สปสช. รวมทั้ง สช. เอง ก็พร้อมให้การสนับสนุนผ่านรูปแบบต่างๆ อาทิ โครงการย่อย กองทุนตำบล ฯลฯ
 
   “แม้ว่าเราจะมีมาตรการหลักที่รัฐบาลมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานทำงาน แต่สิ่งสำคัญที่ไม่หยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ มาตรการที่หน่วยงานต่างๆ จะสนับสนุนภาคประชาชนให้ตื่นตัวและเข้ามาหนุนมาตรการของรัฐ ถ้าโมเดลนี้เกิดขึ้นได้ เราก็สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส รองรับกับภัยพิบัติอื่นๆ ได้ในอนาคต” นพ.ประทีป ระบุ
 
   นอกจากนี้ การประชุมยังเต็มไปด้วยข้อเสนอที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการวางฐานในระดับตำบล จัดตั้งศูนย์ข้อมูลตำบลหรือหมู่บ้านเพื่อร่วมสำรวจประวัติการเคลื่อนย้ายตัวของประชากร การวางแผนบริหารจัดการคุณภาพชีวิตในอนาคตของผู้ที่ได้รับผลกระทบ การกระจายองค์ความรู้ผ่านคู่มือแนวทาง ไปจนถึงการสนับสนุนทรัพยากร ซึ่งปัจจุบันงบประมาณหลายส่วนเปิดช่องให้นำมาขับเคลื่อนได้เต็มที่มากขึ้น
 
   นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. เสนอว่า อาจต้องเริ่มต้นทำงานในพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งก่อน และใช้ความสำเร็จจากพื้นที่เป็นยุทธศาสตร์ที่แสดงพลังให้พื้นที่อื่นๆ เห็นตัวอย่างต่อไป สอดคล้องกับ ผศ.ดร.นพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ให้ความสำคัญกับการพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จมาเสนอผ่านสื่อเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ขยายวงออกไป
 
   ด้าน นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ให้มุมมองว่าภารกิจครั้งนี้จะเป็นงานระยะยาว ฉะนั้น ต้องวางแผนการใช้ทรัพยากรโดยไม่ทุ่มจำนวนมากลงไปในคราวเดียว แต่ให้ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน เช่นในสถานการณ์โควิด19 ขณะนี้ กลุ่มเสี่ยงที่สุดคือผู้สูงอายุที่จะต้องให้ความสำคัญอันดับแรก
 
   ภาพที่เกิดขึ้นจากวงประชุมคือ การสานพลังทุกภาคส่วนเพื่อหนุนเสริมรัฐบาลสู้ภัยโควิด ซึ่งอย่างน้อยก็ช่วยสร้างความอบอุ่นให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนได้ว่า พวกเขาจะไม่โดดเดี่ยวในสถานการณ์สู้รบครั้งนี้
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

หมวดหมู่เนื้อหา