ขยับมติ ‘การใช้ยาสมเหตุผล’ สร้างความเข้าใจภาคี – วางบทบาทการขับเคลื่อน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   เริ่มแล้ว! ขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ มุ่งสู่ “ประเทศไทยใช้ยาสมเหตุผล” ถกร่วมทำความเข้าใจ 10 ข้อ ก่อนประมวลทิศทางการดำเนินงาน-กำหนดบทบาทเจ้าภาพร่วมกัน
 
   ทุกวันนี้ หลายประเทศกำลังประสบปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรม “การใช้ยาไม่สมเหตุผล” โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า งบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 10-40% ของประเทศทั่วโลก ต้องสูญเสียไปเพราะการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง
 
   WHO ยังระบุอีกว่า มากกว่า 50% ของการใช้ยาในประเทศกำลังพัฒนา เป็นการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมและสูญเปล่า ซึ่งแน่นอนว่า “ประเทศไทย” อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
 
   ความพยายามแก้ไขปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผลมีมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา นับเป็นอีกครั้ง ที่ประเทศไทยได้แสดงถึงความเอาจริงเอาจังในการจัดการปัญหาดังกล่าว โดยที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ได้มีฉันทมติในระเบียบวาระ “การจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง” (Rational Drug Use: RDU)
 
   สาระสำคัญของมตินี้ คือ การขับเคลื่อนนโยบายประเทศให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล มุ่งจัดการระบบยาโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากการใช้ยา มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถพึ่งตนเอง
ด้านสุขภาพ โดยสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน หน่วยงานรัฐ และเอกชนในการออกแบบระบบสุขภาพชุมชน
ที่มีระบบการเฝ้าระวัง การเตือนภัย การสร้างความรอบรู้ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และมีความสามารถ
ในการดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อเจ็บป่วย

 
   ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะองค์กรสานพลัง ได้เปิดพื้นที่กลางให้ทุกฝ่ายมาพูดคุย ประชุมปรึกษาหารือการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 พ.ศ.2562 “มติ 12.4 การจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง”
 
   นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข ชี้แจงว่า มติดังกล่าว เป็นการยกระดับงานด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เพราะถึงแม้ที่ผ่านมา จะเคยมีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเข้าถึงยาทั่วหน้าของประชากรไทย จากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเมื่อปี 2551 หรือมติฯ การจัดการโฆษณาที่ผิดกฎหมายฯ เมื่อปี 2554 หรือมติเชื้อดื้อยา เมื่อปี 2558 แต่ก็พบว่า ยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่ทุกคนมุ่งหวัง
 
   “มตินี้ จะเป็นร่มใหญ่ที่กว้างกว่างานที่ผ่านมา ทำให้การรณรงค์มีประสิทธิผลมากขึ้น การทำงานเรื่องนี้ เราต้องการความร่วมมือจากคนในชุมชน ถ้าประชาชนเข้มแข็งพอ สามารถดูแลตนเองและควบคุมการใช้ยาได้ ก็จะช่วยให้งานสำเร็จตามเป้าหมายได้” นพ.ศุภกิจ ระบุ

 
   พญ.จริยา แสงสัจจา เลขานุการคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล รายงานว่า การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมาจะเน้นการขับเคลื่อนในระดับนโยบายและหน่วยงานระดับปฏิบัติ แต่ผลสำเร็จที่แท้จริงขึ้นอยู่กับชุมชนที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วม จึงเสนอการขับเคลื่อนมตินี้ตามแนวทางของ WHO ใน 3 องค์ประกอบหลักที่เชื่อมโยงกัน คือ (1) การมีจิตสำนึกที่ดีและความตระหนักรู้ของบุคคล (2) การบริหารจัดการที่ดี และ (3) การกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องครอบคลุมทั้งยาแผนปัจจุบัน สำหรับสัตว์และมนุษย์ รวมทั้งยาสมุนไพร
 
   นางสาวนิพัทธา อินทรักษา ผู้แทนจากกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า ถ้าการขับเคลื่อนในชุมชนเป็นหัวใจสำคัญ ดังนั้นชุมชนต้องเข้าถึงความรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและต่อเนื่อง การสื่อสารประชาสัมพันธ์จึงต้องหาช่องทางและความร่วมมือของสื่อต่างๆ ที่เข้าถึงประชาชน เช่น ทีวี วิทยุกระจายเสียง วิทยุชุมชน และอื่นๆ ทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ควรเข้ามาช่วยเสริมกัน
 
   นางสาวปิยมาภรณ์ รอดบาง ผู้แทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แจ้งว่า ในการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษาและการศึกษาขั้นพื้นฐาน
มีสอดแทรกการเรียนการสอนเรื่องการใช้ยาสมเหตุผลแล้ว ส่วนการให้ความรู้แก่ชุมชนได้ดำเนินการภายใต้ภารกิจการบริการวิชาการชุมชนที่ไปตรวจสุขภาพ จ่ายยา บอกวิธีการใช้ยา และพบว่า ฉลากยายังเป็นข้อความที่อ่านเข้าใจยาก

 
   ยังมีความเห็นและข้อเสนออื่นๆ ที่หลากหลายแง่มุมจากผู้เข้าร่วมประชุม โดยเฉพาะจากหน่วยงานที่ไม่ใช่สายการแพทย์และการสาธารณสุข
 
   บทสรุปในช่วงท้าย ที่ประชุมต่างเห็นตรงกันว่า โจทย์สำคัญ คือ ต้องมีเจ้าภาพหลัก ซึ่งนอกจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่เกี่ยวข้องโดยตรงแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือจากภาคีทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานระดับกระทรวง กรม หน่วยงานอิสระ ท้องถิ่น หรือองค์กรเอกชนต่างๆ
 
   การบ้านของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมติต่างๆ จะกลับไปทบทวนและร่วมกันกำหนดแนวทางขับเคลื่อนของแต่ละข้อมติอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งหน่วยงานภายในที่เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง การกำหนดกิจกรรม เป้าหมาย ไปจนถึงตัวชี้วัดต่างๆ สรุปเป็นแผนการทำงานที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ และนำกลับมาเสนอในการประชุมครั้งต่อไป สู่เป้าหมาย “ประเทศใช้ยาสมเหตุผล (RDU Country)”
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

หมวดหมู่เนื้อหา