สช. จัดระบบเฝ้าระวัง ‘ชุมชน’ สู้ภัย ‘โควิด-19’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (Covid–19) ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ดูเหมือนจะลดระดับความรุนแรงลงบ้างแล้ว แต่สำหรับพื้นที่อื่นๆ รวมถึงประเทศอื่นๆ กลับเป็นไปอย่างตรงกันข้าม
 
   “ในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกประเทศจีนเพิ่มขึ้น 13 เท่า และจำนวนผู้ติดเชื้อในจีนเพิ่มขึ้น 3 เท่า แน่นอนว่าในวันข้างหน้าจำนวนผู้ติดเชื้อ-ผู้เสียชีวิต ก็จะเพิ่มสูงขึ้นอีก” ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุ
 
   ถ้อยแถลงดังกล่าวยังได้ระบุถึง “การระบาดใหญ่” หรือ Pandemic จากการลุกลามไปยัง 118 ประเทศ เหล่านี้สะท้อนถึงภัยคุกคามครั้งประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ ที่มนุษย์ทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา
 
   นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในช่วง “สานพลังสร้างสุขภาวะ” ทางสถานีวิทยุ อสมท. คลื่นความคิด FM 96.5 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา ว่า ภายใต้สถานการณ์ที่แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางสาธารณสุขทำงานอย่างเต็มที่ ฟากฝั่งประชาชน ชุมชน หรือปัจเจกชนก็ต้องร่วมมือกันยับยั้งปัญหาควบคู่กันไปด้วย
 
   “ถ้าไม่ร่วมมือกัน โอกาสที่เราจะรับมือ ยับยั้ง หรือชะลอการระบาดใหญ่คงยากมาก จึงอยากเห็นแต่ละจังหวัดร่วมมือกันระดมความคิด สรรพกำลัง พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง” นพ.ปรีดา ระบุ
 
   รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แสดงความคิดเห็นว่า สิ่งที่ต้องทำให้เกิดคือการเตรียมความพร้อม ทั้งในระดับครอบครัวและบุคคล สร้างความรู้ความเข้าใจในชุมชน ให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันปฏิบัติตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่สำคัญคือ การสร้างระบบให้เกิดการเฝ้าระวังช่วยเหลือแบ่งปันกันในชุมชน
 
   “อย่างกรณีที่เขาต้องกักตัวอยู่บ้าน สังคมชุมชนจะช่วยเขาอย่างไรในเรื่องการกินอยู่ การติดต่อสื่อสาร การให้กำลังใจ ตลอดจนสร้างความเข้าใจที่ไม่ใช่การตั้งข้อรังเกียจหรือทำให้เกิดความแบ่งแยกในชุมชน ทั้งหมดนี้เราควรมาช่วยกันคิดและวางระบบกันอย่างจริงจัง” นพ.ปรีดา ยกตัวอย่างการสร้างระบบเฝ้าระวังภัยภายในชุมชน
 
   แนวคิดของ นพ.ปรีดา เกิดขึ้นได้จริง หากมีการขับเคลื่อนปูพรมลงไปในระดับตำบลทั่วประเทศ โดยเครือข่ายสุขภาวะของสช.และสภาองค์กรชุมชนของพอช.
 
   มากไปกว่านั้น หากมีความร่วมมือกับ “กองทุนตำบล” ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พลังที่เกิดขึ้นจะยิ่งใหญ่มากและเกิดผลลัพธ์อย่างยิ่ง
 
   นพ.ปรีดา มั่นใจว่า หากทำได้แบบนี้ภายในช่วงระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า ความร่วมมือจะขยายไปทั่วประเทศ ตรงนี้จะเป็นชุดเปลี่ยนที่ทำให้งานของบุคลากรสาธารณสุขเบาลง คนไข้รายใหม่ก็จะเกิดขึ้นน้อยลง การแพร่กระจายเชื้อก็จะน้อย โรงพยาบาลไม่เกิดความโกลาหลดังปัจจุบัน
 
   “สถานการณ์ตอนนี้ ถ้าเราไม่รีบเปลี่ยนความตระหนกมาเป็นความตระหนักและเร่งสร้างความเข้าใจลงไปถึงระดับชุมชน ระดับบุคคล ก็อาจทำให้การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างมาก ซึ่งแน่นอนว่าเราคงไม่อยากเห็นภาพแบบเดียวกันกับในประเทศแถบยุโรป” รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุ
 
   สำหรับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดทั่วประเทศ ตลอดจนภาคีที่เกี่ยวข้องกับหน้างานด้านสุขภาพ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) และกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการหารือถึงแนวทางรับมือ ยับยั้ง และชะลอการระบาดใหญ่
 
   ทั้งนี้ สช. กำลังเร่งมือให้เกิดการจัดเวที “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ หนุนช่วยรัฐ สู้ภัยโควิด19” ในทุกจังหวัด เพื่อระดมความคิด รณรงค์ เปลี่ยนความตระหนกให้เป็นความตระหนัก ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ช่วยกันเฝ้าระวัง และปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่ระดับชุมชน ครอบครัว และตัวบุคคล
 
   “ถ้าลงไปถึงจังหวัด ตำบล โดยมีองค์กรชุมชนร่วมกันการจัดเวทีภาคพลเมือง หนุนเสริมด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เห็นแนวทางว่าจะร่วมมือกับชุมชนช่วยเหลือคนอื่นอย่างไร จะมีการทำจริงจังในระดับตำบลอย่างไร จะเฝ้าระวังอย่างไรเวลามีคนเข้ามาในชุมชน หากมีอาสาสมัครช่วยกันในชุมชน ก็ทำให้เกิดกำลังคนที่เพียงพอรับมือสถานการณ์ได้” นพ.ปรีดา อธิบายโดยสรุป
 
   นอกจากนี้ สช. ยังจัดกิจกรรมของสำนักงานฯ เพื่อร่วมเป็นพลังทางสังคม ภายใต้ชื่อว่า “สานพลังจิตอาสา หน้ากากผ้า สู่สังคม” ด้วยความร่วมมือร่วมใจของเจ้าหน้าที่และภาคีร่วมกันผลิตหน้ากากอนามัยผ้า 500 ชิ้น นำไปแจกให้แก่ภาคีและผู้ที่เข้าร่วมประชุมงานกับ สช. เป็นการช่วยลดปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนด้วย
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

หมวดหมู่เนื้อหา