จับสัญญาณรื้อฟื้น FTA ‘ไทย-อียู’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   เปิดวงถก “คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ” นัดแรก เน้นหนักนโยบาย “เมดิคัลฮับ” พร้อมจับตาการรื้อฟื้น FTA ไทย-อียู
 
   ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเครื่องต่อรองในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ตัวอย่างหนึ่งก็คือ ข้อตกเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) ไทย-สหภาพยุโรปในอดีต ที่แฝงมาด้วยการผูกขาดสิทธิบัตรยา ซึ่งจะกระทบต่อราคายา และการเข้าถึงยาของประชาชนในภาพกว้าง
 
   อย่างไรก็ดี ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ความห่วงใยต่อผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากการเจรจาทางการค้า ได้มีการนำไปอภิปรายหาฉันทมติในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยกำหนดให้มีกลไก คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (คจ.คส.) หรือ National Commission on International Trade and Health Studies: NCITHS ซึ่งเพิ่งประชุมนัดแรกของปี 2563 ไปเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
 
   การประชุมครั้งนี้ นับเป็นการประชุมคณะกรรมการชุดใหม่ภายใต้การนำของ นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธาน คจ.คส. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแทนชุดของ นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา ที่ลาออกไปดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา
 
   ในช่วงแรกของการประชุม เป็นการทบทวนบทบาทหน้าที่ ขอบเขตการทำงาน พร้อมทั้งรับทราบข้อมติและข้อเสนอแนะต่างๆ ของคณะกรรมการชุดที่ผ่านมา อาทิ ควรบันทึกประสบการณ์และบทเรียนการทำงานเผยแพร่สู่สาธารณชน กระจายองค์ความรู้และงานวิจัยให้มากขึ้น
 
   จากนั้น ที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันพิจารณาและให้ความเห็นชอบ “ข้อเสนอเชิงนโยบาย” ที่ได้จากการประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ ปี 2562 เรื่อง “การค้าระหว่างประเทศและสุขภาพของอาเซียน” เพื่อที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแหงชาติและคณะรัฐมนตรี สำหรับใช้ประกอบการพจารณาดำเนินการอย่างเท่าทันสถานการณ์ในอนาคต ประกอบด้วย
 
   1. ด้านจัดสร้างองค์ความรู้ มอบแผนงานการพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ (International Trade and Health Programme: ITH) ประสานกับหน่วยงานและนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง
 
   2. ด้านการผลักดันนโยบาย มอบกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
   3. ด้านการสร้างกลไกการมีส่วนร่วม มอบสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
   4. ด้านการพัฒนาขีดความสามารถ มอบ ITH ประสานกับหน่วยงานและนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง
 
   นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงนโยบาย ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ เมดิคัลฮับ ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเสนอให้มี “หน่วยงานกลาง” ทำหน้าที่บริหารจัดการเมดิคัลฮับ โดยผู้แทนจาก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้ง “สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสุขภาพ”
 
   โดยที่ประชุมเห็นพ้องว่า หากดำเนินนโยบายเมดิคัลฮับอย่างถูกต้อง จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางการแพทย์ให้กับประเทศไทยได้ โดยเรื่องนี้รัฐจะไม่ขัดขวางภาคเอกชนในการดำเนินการ เพราะปัจจุบันภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้เองอยู่แล้ว แต่โจทย์ใหญ่คือ ต้องสร้างความสมดุลระหว่างรายได้และผลกระทบ โดยเฉพาะผลกระทบต่อการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยไทยและเรื่องปัญหาโรงพยาบาลรัฐแออัด
 
   ในช่วงท้าย ที่ประชุมฯ ยังได้ร่วมกันหารือถึงการติดตาม การเตรียมการฟื้นเจรจาความตกลงการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป โดยผู้แทนจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า ได้มีการศึกษาผลกระทบและรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์ โดยพบทั้งผลกระทบเชิงบวกและลบ หากแล้วเสร็จจะนำมาเสนออีกครั้ง
 
   “ผลประโยชน์มีทั้งเรื่องสวัสดิการสังคม ตัวเลขจีดีพี การส่งออก-นำเข้า การบริโภคครัวเรือนที่จะเพิ่มขึ้น ส่วนผลกระทบด้านลบอาจมีในอุตสาหกรรมบางสาขา รวมถึงการยกเลิกภาษีแอลกอฮอล์ที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมมากขึ้น ซึ่งเราได้นำความตกลงการค้าของเวียดนาม-สหภาพยุโรป มาศึกษาเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบด้วย” ผู้แทนกรมเจรจาฯ ระบุ
 
   ดร.วิศาล บุปผเวส จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นว่า โดยทั่วไปการเจรจาความตกลงการค้ามักจะดีกว่าการไม่เจรจา แต่ในการเจรจาจะต้องสร้างความสมดุลของประโยชน์ที่จะได้รับ และป้องกันการสูญเสียให้ได้มากที่สุด
 
   ขณะที่ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ระบุว่า ขั้นตอนระหว่างการเจรจานั้นเป็นหัวใจและจะส่งผลต่อการดำเนินงานในอนาคต ซึ่งขณะนี้มีสัญญาณที่จะฟื้นการเจรจาแล้ว ฉะนั้น จึงเป็นช่วงเวลาที่ควรเตรียมประมวลข้อมูลทางวิชาการ เพื่อตกผลึกสู่ข้อเสนอต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

หมวดหมู่เนื้อหา