ระดมสมอง กรุยทางสู่ ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   สช. เปิดวงรับฟังความคิดเห็น “ร่าง ชุดตัวชี้วัดระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ ตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2559” กรุยทางสู่ระบบสุขภาพที่ยั่งยืนของประเทศ
 
   ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ หรือ “Health in All Policies” คือเส้นทางของระบบสุขภาพทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นถนนเส้นเดียวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และเป็นหนึ่งเดียวกับงานของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ภายใต้การนำของ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) คนปัจจุบัน
 
   ในอดีต เรื่องสุขภาพมักจะถูกมองในมิติเดียวคือ เรื่องของมดหมอ-หยูกยา ซึ่งแม้ประเทศไทยจะมี พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ 4 มิติ อันประกอบด้วย กาย ใจ สังคม และปัญญา มาแล้วกว่า 12 ปี แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะขับเคลื่อนให้สังคมขยายพรมแดนการรับรู้ในเรื่องนี้
 
   การทำงานจึงต้องเป็นไปอย่างเข้มข้น สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง โดยมี ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2559 เป็นกรอบและแนวทางการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายด้านสุขภาพ
 
   แน่นอนว่า เราทุกคนต้องการระบบสุขภาพที่ดี และเชื่อว่าทุกภาคส่วนล้วนมีภาพ “ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์” อยู่ในใจ แต่ทว่าจนถึงขณะนี้ ประเทศไทยกลับไม่เคยมีตัวชี้วัดของระบบสุขภาพฯ ที่จะช่วยบอกว่าสิ่งใดบรรลุผล และสิ่งใดยังไม่บรรลุผล
 
   นั่นคือความจำเป็นในการจัดทำ “ร่าง ชุดตัวชี้วัดระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ ตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2559” ซึ่งมีคณะนักวิจัยจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ หรือ IHPP เป็นผู้ศึกษาทบทวน ยกร่าง และนำมารับฟังความคิดเห็น เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา
 
   นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานกรรมการกำกับทิศในการพัฒนาและจัดทำชุดตัวชี้วัดระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ของ สช. ในฐานะประธานการประชุมฯ อธิบายต่อที่ประชุมว่า Health in All Policies เป็นกระแสของคนทั้งโลก และเป็นส่วนหนึ่งในเป้าหมายที่ 3 ของ SDGs ซึ่งประเทศไทยมีต้นทุนสำคัญคือระบบสาธารณสุขมูลฐานที่เข้มแข็ง และความสำเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่จะช่วยให้เราเดินไปต่อได้อย่างมั่นคง
 
   อย่างไรก็ดี ด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนเกิดสิ่งใหม่ ๆ เช่น โครงสร้างและกฎหมาย ทำให้เกิดอุปสรรคคือต่างคนต่างทำภายใต้หน้างานของตัวเอง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันจัดทำ “ตัวชี้วัดระบบสุขภาพฯ” ซึ่งมีทั้งที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs และที่นอกเหนือจาก SDGs เพื่อให้ทุกหน่วยงานใช้เป็นหลักหรือกรอบในการทำงาน ซึ่งจะทำให้เกิดภาพใหญ่ของระบบสุขภาพของประเทศได้ในที่สุด
 
   ถัดจากนั้น ตัวแทนคณะวิจัย IHPP ได้นำเสนอร่างชุดตัวชี้วัดระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ฯ ซึ่งมีทั้งสิ้น 14 สาระหมวด รวมทั้งสิ้น 26 ตัวชี้วัด หลังจากนั้นที่ประชุมได้แบ่งกลุ่มย่อยเพื่อช่วยกันพิจารณาตัวชี้วัดทั้งหมด โดยมีประเด็นสำคัญในการแลกเปลี่ยน อาทิ การปรับปรุงนิยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน การยกระดับเวลาให้บริการไม่เกิน 8 นาที หรือในเรื่องสิ่งแวดล้อมในสถานบริการ ควรมีเจ้าภาพหลัก ควรเพิ่มมาตรการกำจัดขยะอันตราย-สารเคมี และควรให้ความสำคัญกับเสียงของผู้บริโภค ตลอดจนสร้างกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคและระบบข้อมูลข่าวสารเพื่อต่อสู้กับ Fake news
 
   นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการบริโภค ทั้งอาหาร ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การแก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้งและความรุนแรงในสถานศึกษา การคลังด้านสุขภาพ การสนับสนุนงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารสาธารณะเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากผลการจัดเก็บตามตัวชี้วัดระบบสุขภาพฯ ที่นำมาสังเคราะห์เป็นรายงานสถานการณ์ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ฯ โดยที่ประชุมจะนำข้อเสนอเหล่านี้ไปทบทวนเพื่อปรับปรุงร่างตัวชี้วัดฯ อีกครั้ง
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา