ตอนที่ 2 ลัดเลาะเวทีรับฟังความคิดเห็น ‘รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   มุกตลกที่ได้ยินบ่อยๆ “มะเร็ง (มา-เล็ง) ไม่น่ากลัวเท่ามายิง” ชักจะไม่ค่อยขำแล้ว เพราะทุกวันนี้อัตราการเสียชีวิตของ ‘มะเร็ง’ น่าจะสูงกว่ามายิงแน่นอน เพราะ ‘มะเร็ง’ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยมาตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา โดยตลอด 20 ปี ไม่เคยมีโรคใดล้มแชมป์ได้
 
   สถานการณ์มะเร็งจึงเป็นเรื่องซีเรียส และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมเข้ามาจัดการ เพื่อยับยั้ง-แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและเกิดรูปธรรม โดยงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคมนี้ ได้ตระหนักถึงความสำคัญและมีระเบียบวาระ “รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง” เข้าสู่การพิจารณาด้วย
 
   ก่อนที่จะเข้าสู่การประชุมใหญ่ประจำปี คณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็นฯ ซึ่งมี นพ.อุกฤษฎ์ มิลินทางกูร เป็นประธาน ได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ขึ้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2562 เพื่อปรับปรุง “ร่างเอกสารหลัก-ร่างข้อมติ” ให้สมบูรณ์ ก่อนนำไปสู่การพิจารณาเพื่อให้ได้มาซึ่งฉันทมติ
 
   วงประชุมเริ่มต้นด้วยการรับทราบแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งของประเทศไทย ที่ ดร.ศุลีพร แสงกระจ่าง สถาบันมะเร็งแห่งชาติ อธิบายให้เห็นถึงการนำแผนลงไปสู่แผนปฏิบัติใน 13 เขตบริการสุขภาพ ตลอดจนการใช้กลไก คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชข.) ขับเคลื่อน
 
   ดร.ศุลีพร เน้นย้ำว่า การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งได้ถึง 40% และหากบวกกับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่จะสามารถลดโอกาสลงได้อีก 30% ก็จะทำให้การป้องกันมะเร็งมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความรู้-ความตระหนักที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ
 
   “จะดีมากถ้าเรามีภาคประชาชนมาร่วมเป็นกำลังในการช่วยเคลื่อนไหว เพราะหลายเรื่องเกี่ยวกับมะเร็งที่เป็นความเข้าใจผิด คนฟังแล้วกลัว แต่สมัยนี้แตกต่างพอสมควร การรักษาดีขึ้น ตรวจคัดกรองได้ แต่หลายคนก็ยังไม่เห็นความจำเป็น จึงอยากได้การขับเคลื่อนเครือข่ายผ่าน พชอ. และ พชข. เพื่อให้ได้มาซึ่งความตระหนักที่คนยังไม่เข้าใจ” ดร.ศุลีพร ระบุ
 
   หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมประชุมต่างร่วมกันแสดงความคิดเห็น และมุมมองความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อร่างมติ ตั้งแต่ นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่มองว่า คณะแพทยศาสตร์ทุกแห่งต้องเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ และควรให้ความสำคัญกับโรงพยาบาลทั่วไป เพราะมีความครอบคลุม-เข้าถึงประชาชนได้มากกว่าโรงพยาบาลเฉพาะด้านมะเร็ง
 
   “ไม่อยากให้ผลักภาระไปยังใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ควรหากลไกที่จะทำให้ภาคีเครือข่ายที่แอคทีฟมาช่วยขับเคลื่อนมากขึ้น” นพ.วิวัฒน์ ให้ความเห็น
 
   ณัฐพร คงประเสริฐ มูลนิธิแพทย์วิถีธรรมแห่งประเทศไทย ชูประเด็นในเรื่องของการสื่อสารที่จะช่วยให้คนรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการให้ทางเลือกของการรักษา เช่น การแพทย์แผนไทย ที่เมืองไทยอุดมไปด้วยทรัพยากรและภูมิปัญญา
 
   “เราต้องเปิดโอกาสให้คนไข้รู้ทั้งหมดว่าเขามีทางเลือกอะไรบ้าง รวมถึงการเปลี่ยนทัศนคติใหม่ๆ ให้รับรู้ว่าการป่วยมะเร็งไม่ใช่ภัยคุกคาม แต่เป็นโรคหนึ่งที่เกิดจากพฤติกรรมซึ่งแก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนแปลง” ณัฐพร กล่าว
 
   ขณะที่ ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย บอกว่า โรคมะเร็งสามารถสื่อสารในเชิงบวกเพื่อจุดประกายให้คนลุกขึ้นมาต่อสู้ได้ โดยการสื่อสารเชิงบวกจะช่วยปลุกพลังคนป่วย มากกว่าที่จะให้ภาพของความกลัวเป็นตัวขับเคลื่อน
 
   สอดคล้องกับ นพ.สุรสิทธิ์ อิสสระชัย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่ให้ความสำคัญเรื่องจิตใจของผู้ป่วยด้วยการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ เพราะมีผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย หากเป็นผู้ที่เชื่อในศาสนา จะมีผลการรักษาที่ดีกว่า ดังนั้นสะท้อนได้ว่าจิตใจเป็นส่วนสำคัญในการต่อสู้โรคมะเร็ง
 
   นอกจากมุมมองดังกล่าวแล้ว ที่ประชุมยังได้เสนอกลไกการทำงานที่น่าสนใจ อาทิ การแบ่งเงินจากกองทุนด้านสุขภาพเพื่อมาใช้ในงานส่งเสริมและป้องกันโรคมะเร็ง หรือการใช้งบประมาณของท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาผู้นำแต่ละชุมชน พร้อมกับมีการยกประเด็นการส่งเสริมความรู้ เพื่อปรับพฤติกรรมเสี่ยงตั้งแต่เด็กวัยเรียน การสร้างความรู้เรื่องของการป้องกัน การจัดการสุขภาพ รวมทั้งการตรวจคัดกรอง การจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน
 
   น.ส.สุภัทรา นาคะผิว สรุปว่า การพูดคุยในครั้งนี้ทำให้คณะทำงานฯ เกิดงอกงามทางความคิด และเห็นความลึกของมิติต่างๆ ที่มากขึ้น โดยข้อเสนอต่างๆ จะถูกรวบรวมไปแก้ไขร่างเอกสารหลัก-ร่างข้อมติ ซึ่งหลังจากนี้จะยังมีขั้นตอนการรับฟังสาธารณะอีกครั้ง
 
   ความคิดเห็นทั้งหมดนี้ จะนำไปสู่ “การรวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง” นโยบายสาธารณะที่ขับเคลื่อนสังคมไทยให้มีความเข้าใจ และตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งได้อย่างแท้จริง
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา