ตอนที่ 2 ระดมสมอง ยับยั้งพฤติกรรมใช้ยา ‘ไม่สมเหตุผล’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำให้ประชาชนเข้ารับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลมาขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรม “การซื้อยากินเอง” ลดน้อยลง โดยในปี 2558 เหลือเพียงร้อยละ 17.5 ในขณะที่ก่อนหน้านี้เคยสูงถึงร้อยละ 60-80
 
   อย่างไรก็ดี แม้ตัวเลขการซื้อยากินเองลดน้อยลง หากแต่พบว่ามีประชาชนจ่ายเงินเพื่อซื้อยาบำรุงและอาหารเสริมเพิ่มมากขึ้น และถึงแม้ตัวเลขดังกล่าวจะดูไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับสถานการณ์ในอดีต แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือ “การซื้อยากินเอง” ยังถือเป็นทางเลือกแรกๆ ของคนจำนวนมาก
 
   หนึ่งในระเบียบวาระที่จะพิจารณาในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคมนี้ คือ “การจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง” หมุดหมายสำคัญคือการจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา “การใช้ยาไม่สมเหตุผล” อย่างยั่งยืน โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง
 
   โดยก่อนถึงวันงานสมัชชาฯ คณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็นฯ ซึ่งมี ผศ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี เป็นประธานฯ ได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) เพื่อปรับปรุง “ร่างเอกสารหลัก-ร่างข้อมติ” ให้สมบูรณ์ และนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายได้จริง มีผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้มีส่วนได้เสีย ภาคีเครือข่าย-สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติหลากหลายภาคส่วนร่วมกันแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และแหลมคม
 
   ในช่วงต้น กำพล กาญจโนภาส รองประธานคณะทำงานฯ ได้ฉายภาพกว้างของสถานการณ์ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าทุกวันนี้ประเทศไทย โดยเฉพาะภาคใต้ กำลังเผชิญกับ “เชื้อดื้อยา” ค่อนข้างมาก ส่งผลให้ต้องสูญเสียงบประมาณในการรักษามากขึ้นกว่าเดิมมหาศาล
 
   “เราพบว่า ในภาคใต้ ผู้ป่วยวัณโรคมีอาการเชื้อดื้อยาทุกชนิด ผู้ป่วยหนึ่งรายจึงมีค่าใช้จ่ายมากถึง 2 ล้านบาท อัตราการหายป่วยเพียง 33% เท่านั้น โดยสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์รุนแรงเนื่องมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะในระดับชุมชน ดังนั้นวิธีการหยุดยั้งคือการใช้ยาให้สมเหตุผลตั้งแต่ระดับชุมชนขึ้นมา” กำพล ระบุ
 
   นพ.เอนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เสนอว่า ในร่างมติฯ ควรให้ความสำคัญกับเรื่อง “เขตเมือง” มากขึ้น เนื่องจากทั้งประเทศมีประชากรในเขตเมืองมากถึง 37 ล้านคน และกลไกการจัดการมีความแตกต่างจากชนบท เช่น ในหมู่บ้านจัดสรรต้องทำงานผ่านนิติบุคคล เพราะเทศบาลหรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จะเข้าไปไม่ถึง
 
   ภญ.จันทร์จรีย์ ดอกบัว โรงพยาบาลปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ เพิ่มเติมว่า ควรเพิ่มระบบการเฝ้าระวังยาใน “วัด” เพราะยาในวัดส่วนใหญ่ได้รับมาจากญาติโยมและชุดสังฆทาน ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามียาอันตรายด้วย ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักพระพุทธศาสนา และกระทรวงสาธารณสุข ควรเข้ามามีบทบาท
 
   ขณะเดียวกัน ผู้เข้าร่วมประชุมฯ จากหลายภาคส่วนยังเห็นตรงกันที่จะพัฒนาระบบเฝ้าระวังใน “โรงเรียน” ควบคู่กันไป เนื่องจากคุณครูในห้องพยาบาลยังขาดความรู้ที่ถูกต้อง และที่ผ่านมาก็พบว่ามีการกินยาเองและเกิดอาการแพ้รุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล โดยมีผู้เสนอให้เปิดช่องให้พยาบาลเข้ามาบรรจุในตำแหน่งครู เพื่อดูแลห้องพยาบาลและสอนเด็กนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ยาเบื้องต้นที่ถูกต้อง
 
   ทางด้านผู้แทน “กระทรวงมหาดไทย” แสดงความคิดเห็นว่า กฎหมายได้ให้อำนาจกำนัน ผู้ใหญ่บ้านดูแลเรื่องนี้โดยตรงอยู่แล้ว ฉะนั้นควรสร้างกลไกโดยให้ อสม. เข้าไปสนับสนุน และใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อหนุนเสริมการประชาสัมพันธ์เชิงบวกในชุมชน ส่วนตัวแทนผู้ป่วย ธนพล ดอกแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรังแห่งประเทศไทย สะท้อนประสบการณ์ทำงานว่า ที่ผ่านมาทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐได้ยากมาก เนื่องจากระบบราชการมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก และไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมมือ ดังนั้นต้องแก้ไขในจุดนี้ด้วย
 
   นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอที่น่าสนใจอีกหลายประเด็น อาทิ การเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงคือยาจากชายแดน รวมไปถึงการใช้ยาสมุนไพรที่ไม่ถูกต้อง การตกเป็นเหยื่อโฆษณา ตลอดจนการเพิ่มมาตรการในการรักษาความลับ-ข้อมูลของผู้ป่วย และการใช้กลไกจิตอาสาซึ่งมีมากกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ ช่วยสอดส่องดูแลการใช้ยาในชุมชน
 
   ช่วงท้ายของการประชุม รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานอนุกรรมการวิชาการ สรุปว่า จุดเน้นของระเบียบวาระนี้คือการใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งชุมชนสามารถจำแนกได้หลายแบบ เช่น ตามพื้นที่ (ตำบล ชายแดน อบต.) ตามประเภทสถานที่/สถานประกอบการ (โรงเรียน วัด บ้านจัดสรร) หรือตามกลุ่มคน (ผู้ป่วย ผู้บริโภค ผู้สูงอายุ กลุ่มคนเปราะบาง) ดังนั้นนโยบายสาธารณะที่จะให้ชุมชนดำเนินการต้องมีความแตกต่างและชัดเจน โดยหลังจากนี้คณะทำงานฯ จะนำข้อเสนอที่ได้ไปปรับปรุงร่างเอกสารหลัก-ร่างข้อมติ ตลอดจนปรับแนวทางการเขียนเพื่อที่จะทำให้ชุมชนสามารถขับเคลื่อนประเด็นได้ต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา