หน่วยงานยังมอง ‘นโยบายสาธารณะ’ เป็นแค่ทางเลือก | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   สช. เปิดวงสรุปบทเรียนขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ผ่านกลไก 4PW ระดับพื้นที่ พบทั้งโอกาสและข้อจำกัดการขับเคลื่อนนโยบายหลายด้าน ที่จะนำไปสู่การสร้างสุขภาวะของคนในจังหวัด พร้อมเสนอยกระดับจากประเด็น “ทางเลือก” สู่ประเด็นร่วมในระดับจังหวัดและชาติต่อไป
 
   กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา หรือ Participatory Public Policy Process base on Wisdom (4PW) คือหนึ่งในกระบวนการทำงานที่มาจากมีส่วนร่วมของทุกภาคีเครือข่ายเพื่อค้นหาประเด็นร่วมและขับเคลื่อนไปสู่สุขภาวะของคนในพื้นที่ เป็นทั้งกระบวนการและกลไกที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ใช้สนับสนุนงานขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง
 
   เฉพาะในปี 2560-2562 สช. สนับสนุนกลไก “คณะทำงาน 4PW ระดับจังหวัด” ขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะไปแล้วจำนวน 82 พื้นที่ เกิดการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่มีความแตกต่างหลากหลายตามบริบทพื้นที่มากถึง 237 ประเด็น รวมถึงช่วยเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ วิชาการ เครือข่ายในพื้นที่ และเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายระดับชาติ และทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต
 
   เพื่อแลกเปลี่ยนบทเรียนและข้อค้นพบการพัฒนาและขับเคลื่อน 4PW แต่ละจังหวัด เวทีสรุปบทเรียนและวางแผนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา (4PW) ระดับพื้นที่ จึงถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 กันยายน 2562 ณ โรงแรมรามาการ์เดนท์ กรุงเทพฯ เริ่มจากข้อค้นพบจากผลการขับเคลื่อนประเด็นนโยบายสาธารณะในการประเมินใน 19 จังหวัด โดย รศ.ดร.มาฆะสิริ เชาวกุล มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า หน่วยงานระดับจังหวัดมีการนำประเด็นนโยบายสาธารณะที่ได้มาจากกระบวนการ 4PW ไปบรรจุเป็นโครงการหรือบรรจุอยู่ในแผนงานของหน่วยงานค่อนข้างน้อย เนื่องจากประเด็นไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์หรือแผนงานของหน่วยงานระดับจังหวัด ส่งผลให้นโยบายสาธารณะส่วนใหญ่มีสถานะเป็น “ทางเลือก” เพราะไม่ตอบ KPI ของหน่วยงาน
 
   ขณะเดียวกัน ตัวแทนสมัชชาสุขภาพจังหวัดยังไม่มีตำแหน่งที่ “เป็นทางการ” ในระดับจังหวัด เป็นข้อจำกัดในการนำเสนอประเด็นนโยบายสาธารณะให้หน่วยงานนำไปปฏิบัติ ขณะที่กระบวนการ 4PW เองยังไม่เป็นที่เข้าใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงช่วงเวลาของการได้มาซึ่งนโยบายสาธารณะจากกระบวนการ 4PW ยังไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาการตั้งงบประมาณของจังหวัดอีกด้วย
 
   สำหรับข้อเสนอแนะ รศ.ดร.มาฆะสิริ ระบุว่า จะต้องยกระดับนโยบายสาธารณะจาก “ทางเลือก” ให้เป็น “นโยบายระดับชาติ” ที่มาจากการร่วมกันกำหนดจากทุกภาคส่วน ซึ่งคณะทำงาน 4PW ระดับจังหวัดอาจต้องศึกษาข้อมูลว่าหน่วยงานใดมียุทธศาสตร์หรือแผนงานที่เข้ากับนโยบายสาธารณะที่พัฒนาขึ้น แล้วสร้าง “ปฏิสัมพันธ์” กับหน่วยงานดังกล่าวเพื่อพัฒนา “KPI” ของหน่วยงานร่วมกัน รวมถึงให้เคล็ดลับในการที่จะทำให้ “ผลผลิต” นำไปสู่การเกิด “ผลกระทบ” ซึ่งจะต้องมีอย่างน้อย 4 กระบวนการ คือ 1.มีปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจริง 2.สร้างความร่วมมือหรือกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง 3.การเพิ่มขีดความสามารถของตน และ 4.การสื่อสาร ที่ยังนับเป็นจุดอ่อนของภาคประชาสังคมซึ่งมักที่จะทำกันเองโดยไม่มีการสื่อสารออกไปข้างนอก พลังจึงน้อย
 
   ในขณะเดียวกัน นายบัณฑิต มั่นคง ผู้แทน สช. ได้ให้ภาพรวมของข้อค้นพบสำคัญจากการจัดเวทีเสริมพลังการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะทั้ง 4 ภาคว่า แม้การขับเคลื่อนนโยบายยังไม่สามารถผลักดันไปสู่ระดับยุทธศาสตร์หรือแผนงานของหน่วยงานได้ แต่มีอย่างน้อย 25 จังหวัดที่สามารถยกระดับกระบวนการและกลไก 4PW ไปเป็น “พื้นที่กลาง” ร่วมกันของทุกขบวนพัฒนาและเกิดการทำงานเพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมคือการสร้างสุขภาวะของคนในจังหวัด และหลายจังหวัดยังเองยัง “แสวงหาเพื่อนภาคีเพิ่ม” ให้เข้ามาทำงานร่วมกัน มีการสร้างแกนนำรุ่นใหม่ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพแกนนำในทุกระดับ
 
   ทั้งนี้ ข้อเสนอจากเวทีทั้ง 4 ภาค ยังคงให้ความสำคัญต่อการ “ทำ” นโยบายสาธารณะแบบครบวงจร ทั้งขาขึ้น ขาเคลื่อน และขาประเมิน โดยใช้เครื่องมือหนุนเสริมการทำงานที่หลากหลาย ทบทวนกลไกให้ครบทุกภาคส่วน เน้นการเชื่อมร้อยคนและเครือข่ายที่ทำงานในพื้นที่เข้ามาทำงานแบบหุ้นส่วนร่วมกัน พร้อมทั้งต้องมีการทบทวนเป้าหมายร่วมในการทำงานอยู่เสมอ และวิเคราะห์ประเด็นนโยบายสาธารณะที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่อย่างแท้จริง
 
   อีกส่วนของข้อเสนอสำคัญคือ การช่วยกันทำงานข้ามประเด็นและข้ามพื้นที่ เพื่อเสริมศักยภาพและร่วมกันเรียนรู้ โดยยกระดับพื้นที่รูปธรรมที่เกิดจากการขับเคลื่อนประเด็นนโยบายให้เป็น “พื้นที่เรียนรู้” นำไปสู่การขยายพื้นที่ต่อ ตลอดจนร่วมกันทำประเด็นนโยบายสาธารณะร่วมของ “ภาค-เขต” เช่น เกษตรและอาหารปลอดภัย หมอกควันไฟป่าอากาศสะอาด หรือสังคมสูงวัย เป็นต้น
 
   ด้านแนวคิดและทิศทางการทำงานของ สช. ในอนาคต ฉายภาพผ่าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ว่าที่เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่ระบุว่า ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนไปช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผลักให้หลายหน่วยงานรวมถึง สช. มีการทำงานแบบราชการมากขึ้นเรื่อยๆ แต่หลังจากนี้คือช่วงเวลาที่จะเปลี่ยนแปลงให้ สช. กลับไปเป็นหน่วยงานใหม่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ทำงานร่วมกับประชาชนและกลไกการทำงานร่วมกับภาคีได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันเอื้ออย่างยิ่งที่จะให้มาช่วยกันสุมหัวออกแรงผลักดันนโยบายสาธารณะ เพราะอันดับแรกคือประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งใหญ่อยู่ ถัดมาคือในสังคมยังมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ทั้งในระหว่างกลุ่มคนหรือเขตเมือง และสุดท้ายคือประชาชนกำลังเจอกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่สร้างความยากลำบากอยู่
 
   “สถานการณ์ขณะนี้ ถ้าช่วยกันวิเคราะห์ให้ดี เราจะสามารถใช้เครื่องมือที่เรามีอยู่ของ สช. ที่แม้จะเป็น Soft power แต่สามารถสร้างเวทีผลักดันนโยบายต่างๆ เชิญกลไกต่างๆ เข้ามาร่วมสุมหัวหารือกันได้ รวมถึงเคลื่อนนโยบายขึ้นไปข้างบนได้ แต่นั่นก็ยังไม่เท่ากับการเคลื่อนจากข้างล่างของทุกคน ที่จะเป็นการทำงานที่เอื้อให้ สช. ขยับออกหน่วยงานราชการมากขึ้น เป็นหน่วยงานใหม่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย”
 
   นพ.ประทีป ยังระบุด้วยว่า การจะทำงานร่วมกับภาคีทุกฝ่ายนั้น ต้องคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายในการทำงาน เพราะภาคีแต่ละฝ่ายนั้นก็มีบทบาทหน้าที่ ภารกิจและเครื่องมือเป็นขององค์กรตนเอง แต่เมื่อเราเอาเป้าหมายใหญ่ ที่จะช่วยกันสานภารกิจแก้ไขปัญหาของประเทศ เราต้องจับมือกัน ช่วยกันทำ เดินหน้าภายใต้ผลประโยชน์ของประชาชนและการสร้างสุขภาวะที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งแนวทางการทำงานของ สช. หลังจากนี้จะมุ่งเน้นการสานและต่อยอด 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.สานและต่อยอด “ฐานทุน” สช. คือการเติบใหญ่ สร้างบ้าน สร้างงาน 2.สานและต่อยอด “เป้าหมาย” คืองานสำเร็จ เครือข่ายเข้มแข็ง และคน สช.มีความสุข 3.สานและต่อยอด “งาน” คืองานตาม พ.ร.บ.กำหนด, งานเฉพาะประเด็น และงานสนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา