เปลี่ยนสังคมนิ่งดูดาย สู่สังคมเห็นอกเห็นใจ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   “สุขภาพ” ไม่ใช่เพียงแค่เรื่อง “มดหมอหยูกยา” หากแต่ครอบคลุมความหมายกว้างถึง 4 มิติ
 
   การมีสุขภาพที่ดี ต้องดีอย่างเป็น “องค์รวม” นั่นหมายถึงต้องดีทั้งสุขภาพทางกาย สุขภาพทางจิต สุขภาพทางสังคม และสุขภาพทางปัญญา
 
   สำหรับ “สุขภาพทางปัญญา” อาจฟังดูไม่คุ้นหู แต่เป็นมิติสุขภาพที่สำคัญและมีการพูดถึงอย่างเข้มข้นใน ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2559 ในหมวด 12 ที่ระบุไว้ว่า ‘สุขภาพทางปัญญาจะนำไปสู่สุขภาวะของมนุษย์ที่มีความรู้ทั่ว รู้เท่าทัน และเข้าใจอย่างแยกแยะได้ในเหตุผลแห่งความดี ความชั่ว ความมีประโยชน์ และโทษ ซึ่งนำไปสู่ความมีจิตใจอันดีงามและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่’
 
   อย่างไรก็ดี คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะสร้างสุขภาพทางปัญญาให้เกิดขึ้นกับคนในสังคมโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ายังไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องนี้ นั่นจึงเป็นที่มาของการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ชวนคิด ชวนคุย มิติสุขภาพทางปัญญา” ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562
 
   งานดังกล่าวนับเป็นการตั้งไข่สร้างสุขภาพทางปัญญา โดยผู้เข้าประชุมจะได้ร่วม “กระบวนการพูดคุย 9 ฐาน” และร่วมกันสร้างรูปธรรมให้กับคำต่าง ๆ ที่เป็นคีย์เวิร์ดในการสร้างสุขภาพทางปัญญาผ่านการนิยามศัพท์ ไม่ว่าจะเป็นคำว่า ความรัก สติ สงบ หรือความสุข
 
   ผลสัมฤทธิ์ก้าวแรกจากการประชุมในวันนั้น คือสารตั้งต้นใน การประชุมเชิงปฏิบัติการ “ชวนคิด ชวนคุย ขับเคลื่อนมิติสุขภาพทางปัญญา” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 เพื่อระดมสมองใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.การพัฒนานโยบายและตัวชี้วัด 2.การศึกษาวิจัยและการจัดการความรู้ 3.การสื่อสาร 4.การพัฒนาและบริหารจัดการเครือข่าย
 
   นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะผู้นำคุย ได้ชี้ให้ผู้เข้าร่วมเห็นถึงเป้าหมายในการสร้างยุทธศาสตร์หรือวิสัยทัศน์ ซึ่งจะทำให้ภาพของสุขภาพทางปัญญาและทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
 
   สำหรับประเด็นที่ที่ประชุมมองเห็นร่วมกันคือ จะต้องทำให้สุขภาพทางปัญญามีสถานะอยู่ในระนาบเดียวกับสุขภาพทางกาย สุขภาพทางใจ สุขภาพทางสังคม โดยสุขภาพทางปัญญาจะต้องไม่ใช่ส่วนย่อยที่อยู่ภายใต้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่จะต้องเชื่อมโยงและมีปฏิสัมพันธ์กับสุขภาพอีก 3 มิติ
 
   ในส่วนของเป้าหมายสุขภาพทางปัญญาที่จะขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นนั้น มีด้วยกัน 3 ระดับ เริ่มตั้งแต่ระดับบุคคลคือทำให้เกิดความเข้าใจในตนเอง เข้าใจผู้อื่น เห็นอกเห็นใจกัน ต่อมาคือระดับสังคมคือเป็นสังคมที่มีเมตตาธรรม และระดับชาติคือรัฐมีธรรมภิบาล
 
   นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพูดถึงการผลักดันให้สุขภาพทางปัญญากลายเป็นกระแสหลักในสังคมให้ได้ โดยหัวใจแห่งความสำเร็จในเรื่องนี้ก็คือต้องเทียบเคียงให้เห็นถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการมีสุขภาพทางปัญญาที่ดี “ในมิติทางเศรษฐกิจ” หรือคุณค่าทางสังคม เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ เห็นความจำเป็น และสะท้อนถึงผลลัพธ์ที่จะได้
 
   หนึ่งในทิศทางการดำเนินงานที่สอดรับก็คือการหาข้อมูลสถานการณ์ ผลงานวิจัย หรือตัวชี้วัดต่างๆ ที่ใช้เป็นหลักฐานหรือนำมาอ้างอิงเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนในภาพใหญ่ จนเกิดเป็นนโยบายที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้
 
   พร้อมกันนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมยังได้ช่วยกันคิด “คีย์เวิร์ด” และร่วมกันทำความเข้าใจปัญหาในเชิงลึก (insights) ค้นหาต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหานั้นๆ จนสามารถเขียนสรุปหรือให้คำจำกัดความของปัญหาสังคมที่สนใจเป็นประโยคสั้นๆได้ (problem statement) เพื่อใช้สำหรับการสื่อสารที่จะช่วยให้สามารถระบุรากเหง้าของปัญหาได้อย่างชัดเจน และช่วยหนุนเสริมเพิ่มน้ำหนักความสำคัญที่ต้องใช้สุขภาพทางปัญญามาแก้ปัญหาต่างๆ
 
   อาทิ ปัญหาคนในสังคมมีจิตใจหดหู่ ไม่สนใจใคร เกิดความขัดแย้ง ผู้คนไร้น้ำใจ บกพร่องทางจิตวิญญาณ การไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง สภาวะของสังคมที่ผู้คนไร้ซึ่งความสุข จักรวาลของความขัดแย้ง ความทุกข์ร่วมสมัย หายนะทางจิตวิญญาณ สังคมนิ่งดูดาย เป็นต้น
 
   ที่สุดแล้ว ที่ประชุมเห็นพ้องร่วมกันว่าการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นในระดับบุคคล หรือการทำให้คนในสังคมเห็นอกเห็นใจกันจนนำไปสู่สังคมแห่งความเมตตานั้น จำเป็นต้องจุดประกายจากนโยบายที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ซึ่งนั่นคือเป้าหมายของการมีสุขภาพทางปัญญาที่ดีนั่นเอง
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา