ขับเคลื่อนงาน “อุบัติเหตุ – เมืองแห่งความสุข - ธรรมนูญพระสงฆ์” | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   เพราะสุขภาพเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจึงต้องมีความต่อเนื่องและหวังผล ซึ่งตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ทั้งสิ้น 81 มติ กว่าครึ่งเกี่ยวข้องกับ “สุขภาพ สังคม และสุขภาวะ”
 
   เป็นหน้าที่โดยตรงของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ ซึ่งมี ดร.วณี ปิ่นประทีป เป็นประธาน ในการเร่งรัด-ติดตาม-สานพลังบูรณาการ
การขับเคลื่อนมติฯ อย่างเป็นองค์รวม ซึ่งในการประชุมเมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา ได้มีการอัพเดทความก้าวหน้า 3 มติฯ สำคัญ ได้แก่ มติ 2.9 การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน มติ 9.2 การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ และการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560

 
   เริ่มจาก การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ซึ่ง นสพ. ปกรณ์ สุวรรณประภา ประธานมูลนิธิคนเห็นคน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สสส. รายงานว่า ปัจจุบันมีการดำเนินโครงการ Thailand Big Move Road Safety ซึ่งจัดทัพลงไปขับเคลื่อนใน 33 จังหวัด ซึ่งมีการทำกิจกรรมที่แตกต่างหลากหลาย เช่น ชุมชนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ธุรกิจเอกชน ร่วมกันสำรวจจุดเสี่ยงและปรับปรุงแก้ไข การรณรงค์ให้ความรู้ตั้งแต่เด็กปฐมวัย นักเรียน นักศึกษาในสถานศึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเพื่อความปลอดภัยบนท้องถิ่น สู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม-สร้างวินัย ซึ่งจะได้ขยายพื้นที่ดำเนินงานในระยะที่ ๓ ไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
 
   ที่ประชุมได้นำเสนอวิธีการอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ การผลักดันให้ใช้กล้องติดรถยนต์อัจฉริยะอย่างในประเทศเกาหลีใต้ที่สามารถส่งหลักฐานผู้กระทำผิดเข้าระบบได้ทันทีและผู้ส่งหลักฐานจะได้รับโอนส่วนแบ่งค่าปรับเข้าบัญชีอัตโนมัติ โดยที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า มีความเป็นไปได้ แต่สิ่งสำคัญหลังจากนี้ คือ การปรับเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนที่ยังมองว่าอุบัติเหตุเป็นเรื่องไกลตัวที่ไม่น่ากลัว ซึ่งอยากให้สื่อมวลชนช่วยเสนอข่าวในด้านนี้ให้มากกว่าเพียงแค่นำเสนอภาพข่าวอุบัติเหตุที่น่ากลัว
 
   ในมติ การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ ที่ นายเรืองยุทธ์ ตีระวนิช ตัวแทนคณะทำงานขับเคลื่อนฯ รายงานว่า จากการลงพื้นที่นำร่องในเขตเทศบาลนครนครสรรค์ เทศบาลเมืองชุมแพและเทศบาลตำบลท่าพระ จังหวัดขอนแก่น พูดคุยกับชาวบ้านพบว่า ชื่อมติเป็นวาทกรรมที่ชาวบ้านไม่เข้าใจ อันดับแรกจึงได้พยายามหาคำง่ายๆ ที่สื่อสารให้ชาวบ้านเข้าใจได้ โดยใช้คำเชิญชวนให้มาร่วมกันทำเมืองเพื่อความสุขของทุกคน ศึกษาปัจจัยที่จะส่งผลให้เมืองมีความสุขบนภารกิจของหน่วยงานองค์กรต่างๆ จนเกิดเป็น “มาตรวัดเมือง 16 ด้าน” ที่ครอบคลุมสุขภาวะทั้ง 4 มิติ เป็นเครื่องมือให้ชาวบ้านใช้ในการเลือกประเด็นเพื่อการพัฒนาชุมชนพื้นที่ที่สอดคล้องกับบริบทและสภาพปัญหาของพื้นที่ได้ง่าย ถึงแม้การทำงานจะมีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วม แต่ก็เป็นไปอย่างแยกกันทำ จากนี้จึงต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในฐานะเจ้าของพื้นที่
 
   นอกจากนี้ ได้มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานองค์กรอื่นที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับมติฯ เช่น ร่วมกับสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัทพัฒนาเมือง การเคหะแห่งชาติ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ฯลฯ ในการพัฒนากฎบัตรเพื่อพัฒนาย่านต่างๆในเขตเมืองใหญ่ หรือร่วมในโครงการศึกษาความสอดคล้องระหว่างการพัฒนาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชานมหานครกรุงเทพฯ กับปฏิญญาสากลด้านที่อยู่อาศัย Habitat 3 กรณีพื้นที่เมืองธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี
 
   สุดท้ายคือ การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 โดย นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่รายงานผลการดำเนินงานที่มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งการอบรมพระคิลานุปัฏฐาก วัดส่งเสริมสุขภาพ การตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ การจัดทำฐานข้อมูลพระสงฆ์ในวัดและการทำบัตร Smart Card พระ และวัดร่วมพัฒนาชุมชนคุณธรรมตามโครงการชุมชนคุณธรรมขับเคลื่อนด้วยพลัง บวร (บ้าน-วัด-โรงเรียน)
 
   ทั้งนี้ มีข้อเสนอต่อการพัฒนาการดำเนินงาน คือ เร่งรัดการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการรายงานผลและการ
ส่งต่อที่เป็นฐานเดียวกัน สร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อเป้าหมายการขับเคลื่อนธรรมนูญฯ ถวายคณะสงฆ์และฆราวาส สนับสนุนสื่อคู่มือความรู้ต่างๆ ในการดูแลสุขภาพตามพระธรรมวินัย การจัดทำแผนบูรณาการกิจกรรมดำเนินงานระหว่างพระสงฆ์และฆราวาส พร้อมมีนโยบายคัดเลือกวัดเป้าหมายที่มีการดำเนินงานอยู่แล้วเพื่อเร่งรัด
ให้บรรลุตามเป้าหมาย

 
   ช่วงท้าย ที่ประชุมได้พิจารณาปรับการจัดกลุ่ม การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน จากเดิมที่อยู่ในกลุ่มมติฯ ที่กำลังขับเคลื่อน (On-going) มาเป็นกลุ่มมติฯ ที่มีการขับเคลื่อนโดยกระบวนการและกลไกที่มีอยู่ได้เอง (Achieved) เนื่องจากที่ผ่านมาเรื่องการจัดการขยะมูลฝอย มีการขับเคลื่อนจนเกิดผลลัพธ์สำคัญ มีแนวโน้มนำไปสู่การบรรลุตามเป้าประสงค์ มีหน่วยงานรองรับนำไปสู่การปฏิบัติอย่างชัดเจน และยังมีพื้นที่รูปธรรมมากมาย
 
   ทิ้งทายด้วยความเห็นจาก นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ ว่าที่เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มองว่า กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในอนาคต ส่วนของขาขึ้นจะต้องเน้นการมีส่วนร่วมและความพร้อมของเจ้าภาพหลักให้มากขึ้น โดยให้หน่วยงานหลักที่ต้องรับไปดำเนินงานเข้ามาร่วมตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้ความเห็นว่าพร้อมทำได้จริงหรือไม่ ไม่ใช่ให้ผู้อื่นเป็นคนเสนอว่าใครควรจะทำอะไร เช่นเดียวกับความร่วมมือจากภาคเอกชนที่ยังเข้ามามีส่วนร่วมไม่มากนัก
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา