ล้อมคอก ‘ทันตกรรมเถื่อน’ รุกคืบสังคมไทย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   หลายคนคงเคยได้ยินข่าวการจัดฟันแฟชั่นที่กระจายอยู่ตามห้างสรรพสินค้า-ตลาดนัด ตลอดจนการให้บริการ “เดลิเวอรี” ทำฟันเทียมเถื่อน (ฟันปลอมเถื่อน) ถึงบ้าน ซึ่งมีราคาถูกและง่ายต่อการเข้าถึงนั้น ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายแล้วยัง เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
 
   ขณะเดียวกัน การให้บริการทันตกรรมซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ที่บรรจุอยู่ในกองทุนประกันสุขภาพ 3 กองทุน อันได้แก่ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ ทุกวันนี้ยังมี ‘ความเหลื่อมล้ำ-ไม่เท่าเทียมกัน’
 
   จากปัญหา “ทันตกรรม” ที่ไม่ปลอดภัย-ไม่เท่าเทียม ซึ่งกำลังรุกคืบสังคมไทย นำมาสู่การมี มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 เรื่อง การคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการทันตกรรม เพื่อผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสานพลังแก้ไขปัญหา ซึ่งเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา มี การประชุมวางแผนการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 พ.ศ.2561 มติ 4 การคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการทันตกรรม โดยมี สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับชาติ เป็นประธานการประชุม
 
   เริ่มจาก ทพ.ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการช่วยพัฒนามติ (ขาขึ้น) ได้ฉายภาพให้เห็นถึงกระบวนการจัดทำมติสมัชชาสุขภาพฯ พร้อมสรุปสาระสำคัญของข้อมติ ก่อนเปิดให้แต่ละหน่วยงานอัพเดทความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนมติฯ
 
   สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แสดงความคิดเห็นไว้ตอนหนึ่งว่า ปัญหาการจัดฟันแฟชั่นและฟันปลอมเถื่อนที่แพร่ระบาดอยู่นี้ ส่วนหนึ่งมาจากอัตราค่าบริการทันตกรรมในปัจจุบันที่แพงมาก จึงสนับสนุนมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ที่จะกำกับเรื่องค่ารักษาพยาบาลทางทันตกรรม และควรให้หน่วยบริการทันตกรรมมีการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ร่วมกันเพื่อให้ได้ต้นทุนที่ถูกลง ขณะเดียวกันต้องหาทางปรับปรุงสิทธิประโยชน์ใน 3 กองทุนสุขภาพให้มีความเท่าเทียมมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งขณะนี้กองทุนบัตรทองมีแนวทางที่จะปรับวิธีการจ่ายค่าบริการทันตกรรม จากเดิมอยู่ในงบส่งเสริมสุขภาพและป้องโรคมาเป็นการจ่ายต่อครั้งบริการ ซึ่งจะทำให้หน่วยบริการให้บริการได้อย่างดียิ่งขึ้น
 
   ด้านตัวแทนของสภาวิชาชีพอย่าง “ทันตแพทยสภา” ให้ข้อมูลว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำราคากลางเพื่อใช้เป็นฐานอ้างอิงค่าบริการต่างๆ และได้ประสานกับเฟซบุ๊กไทยแลนด์เพื่อสร้างช่องทางการร้องเรียนและปิดกั้นการนำเข้าข้อมูลทันตกรรมที่ไม่ถูกต้อง
 
   สอดคล้องกับที่ผู้แทนจาก “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ระบุว่า อยู่ระหว่างจัดทำ Fake News Center และพร้อมสนับสนุนการเชื่อมต่อข้อมูลเรื่องทันตกรรมที่ไม่ปลอดภัย โดยตัวแทนกระทรวงดีอี ระบุถึงข้อค้นพบจากการศึกษาพบว่า คนในชุมชนเมืองมีความเข้าใจเรื่องสุขภาพ (Health literacy) มาก โดยเขาเข้าใจว่าเมื่อมีสัญญาณหรืออาการแบบไหนควรไปพบแพทย์ แต่ในส่วนของคนชนบทกลับพบว่าความเข้าใจดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 50% ตรงนี้สะท้อนถึงปัญหาการรับรู้ที่ไม่เท่ากัน
 
   ในส่วนของ “กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” ระบุว่า แม้ในปัจจุบัน กรมฯ จะมีอำนาจดูแลสถานบริการเอกชน แต่ในอนาคตอันใกล้จะออกประกาศครอบคลุมสถานพยาบาลภาครัฐทุกระดับด้วย ซึ่งจากนี้จะมีส่วนสำคัญในการดูแลเรื่องมาตรฐานหน่วยบริการ ขณะเดียวกันถ้าหากมีการประสานขอความร่วมมือในการที่จะเพิ่มหลักสูตรเรื่องทันตรรมที่ปลอดภัยให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า 1 ล้านชีวิตทั่วประเทศนั้นก็ยินดี ด้าน “กรมอนามัย” กำลังจัดทำแผนทันตสุขภาพแห่งชาติให้ครอบคลุมทุกกลุ่มวัย
 
   ความเห็นหนึ่งจากที่ประชุมพุ่งเป้าไปที่ “ความรู้-ความเข้าใจ” โดยลองตั้งคำถามว่าคนที่เลือกซื้อยาสีฟันนั้นเลือกซื้อจากอะไร
 
   “ทุกวันนี้คนเลือกซื้อยาสีฟันไม่ได้ดูว่ามีฟลูออไรด์หรือไม่ แต่เลือกซื้อเพราะยาสีฟันยี่ห้อนี้ลดกลิ่นได้ หรือราคาถูก ซึ่งที่จริงแล้วโดยพื้นฐานยาสีฟันต้องมีฟลูออไรด์ แต่ยาสีฟันที่ขายอยู่ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ไม่มี ดังนั้นจำเป็นต้องทำฐานข้อมูลขึ้นมาว่าแท้ที่จริงแล้วเราต้องเลือกยาสีฟันจากอะไรกันแน่”
 
   หรือกรณีการจัดฟันแฟชั่น พบว่าวัยรุ่นทำเพราะมีค่านิยมว่าเท่ ต้องการให้คนยอมรับว่าตัวเองมีสตางค์ ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับคนที่จัดฟันเพราะต้องการรักษาฟันที่จะใช้บริการคลินิกทันตกรรมที่ถูกต้อง ดังนั้นจำเป็นต้องหาให้เจอว่าที่สุดแล้วคนเหล่านั้นกำลังโหยหาอะไร เราจะชดเชยให้เขาได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้จะเหมือนกับปัญหาสังคมอื่นๆ เช่น เด็กแว้น
 
   “การจัดฟันแฟชั่นเกิดขึ้นเพราะค่านิยม ขณะที่การทำฟันปลอมนั้นผู้ให้บริการเถื่อนมีจุดขายคือความสะดวกสบายและรวดเร็วราคาถูก ดังนั้นปัญหาเรื่องราคาแพงจึงเป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่สิ่งที่ต้องทำงานด้วยจริงๆ คือเรื่องค่านิยมที่ไม่ถูกต้องเหล่านั้น”
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา