เปิดสาระสำคัญ - ลัดเลาะเวทีรับฟังความคิดเห็น ‘Health Literacy’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   นอกจากจะเป็นหนึ่งในระเบียบวาระที่เข้าสู่การพิจารณาภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ประจำปี 2561 แล้ว “ความรอบรู้ด้านสุขภาพ” (Health Literacy) ยังนับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ นั่นเพราะเป็นทักษะสำคัญของมนุษยชาติในอนาคต
 
   สำหรับประเทศไทย สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ต่างตระหนักถึงสถานการณ์ความสับสนของข้อมูลที่กำลังไหลบ่าถาโถมอย่างหนักหน่วง จึงเห็นพ้องที่จะร่วมกันจัดทำนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เพื่อล้อมคอกป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพที่กำลังจะก่อตัวและขยายวงลุกลามออกไป นำมาสู่การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ต่อการพัฒนาประเด็นว่าด้วย ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ (Health Literacy for NCDs) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 ซึ่งมี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธาน
 
   ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ เลขานุการคณะทำงานฯ อธิบายว่า โรคไม่ติดต่อ (NCDs) โดยเฉพาะโรคอ้วน เบาหวาน ความดัน ไขมันสูง ฯลฯ เป็นปัญหาสุขภาพ และการให้บริการสุขภาพระดับโลกซึ่งทำให้หลายประเทศต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจำนวนมาก ทั้งนี้ ผลการวิจัยพบว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดจาก “สภาวะแวดล้อม” และ “พฤติกรรมบุคคล” ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้คือ “ความรอบรู้ด้านสุขภาพ” ที่ทุกฝ่ายต้องบูรณาการร่วมกันให้เกิดขึ้นจริง
 
   ในการรับฟังความคิดเห็นรอบนี้ มุ่งเน้นไปยังผู้มีส่วนได้เสีย 4 กลุ่ม ซึ่งมีพลังในการขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดรูปธรรม ประกอบด้วย 1.กลุ่มสื่อมวลชน 2.กลุ่มเอกชนและอุตสาหกรรม 3.กลุ่มระดับพื้นที่ (อบต. อบจ.) 4.กลุ่มกองทุน (เกี่ยวข้องกับงบประมาณด้านสุขภาพ) โดยที่ประชุมได้แบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อรับฟังมุมมองอย่างลงลึกในรายละเอียด
 
   โดยตอนท้ายของการประชุม ผู้แทนกลุ่มย่อยได้ร่วมกันสรุปสาระสำคัญจากการหารือ เริ่มต้นจากคำจำกัดความของ NCDs ควรครอบคลุมกลุ่มโรคไม่ติดต่อให้มากขึ้น และใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายเพราะภาษาวิชาการเป็นข้อจำกัดในการสื่อสารมติออกไปสู่สังคม เครือข่ายการทำงานไม่ควรเน้นให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้นำหรือแกนหลักเพราะบางเรื่องภาคประชาสังคมทำได้ดีและเหมาะสมกว่า ขณะเดียวกันควรบูรณาการสื่อภาครัฐที่มีงบประมาณแต่เนื้อหาไม่น่าสนใจ เข้ากับสื่อภาคเอกชนที่เนื้อหาน่าสนใจแต่อาจจะไม่มีงบประมาณมากพอ เพื่อยกระดับให้เป็นวาระใหญ่ของสังคม
 
   นอกจากนี้ ควรใช้คำศัพท์ให้เหมาะสมกับความหมาย เช่น เปลี่ยนคำว่า “สินค้า” เป็น “ผลิตภัณฑ์” และควรมีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สร้างเครื่องมือในการวัด ที่สำคัญต้องเขียนมติในการกำหนดบทบาทขององค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน และควรมีการแสวงหาความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมด้วย
 
   สำหรับข้อเสนอที่เกิดขึ้นในการประชุม จะถูกนำไปประกอบการปรับแก้เนื้อหาในร่างมติและเอกสารหลักให้สมบูรณ์ รอบด้าน และชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการนำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและการขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดขึ้นเป็นจริงได้ต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา