ครม.หนุนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติวางมาตรการระยะยาว แก้หมอกควันป้องกันผลต่อสุขภาพ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

    ครม.ไฟเขียวมติ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หนุนมาตรการแก้ปัญหาหมอกควันระยะยาว หวังป้องกันผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ โดยเน้นสร้างกลไกมีส่วนร่วมภาคประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่อำเภอ จังหวัด และคณะกรรมการระดับชาติ
 
   วันนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2556) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเห็นชอบแนวทางมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ตามมติของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ตามที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีในฐานะ ประธาน คสช.เป็นผู้เสนอ
 
   นายปลอดประสพ กล่าวว่า แนวทางการจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพที่เสนอโดย คสช. เป็นแนวทางที่สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จาก 234 กลุ่มเครือข่ายทั่วประเทศเห็นตรงกัน จากการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 18-20 ธันวาคม 2555 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นมาตรการแก้ปัญหาในระยะยาวและไปหนุนมาตรการตามนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ที่มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า ปัญหาหมอกควันเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในเกือบทุกปี มีสาเหตุหลักมาจากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและการเผาป่า จนเกิดมลพิษในรูปของฝุ่นละอองขนาดเล็กปริมาณสูงกว่ามาตรฐาน หากไม่เร่งแก้ไขปัญหาอาจทำให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจได้
 
   นายปลอดประสพ กล่าวต่อ ว่าแนวทางจัดการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน สนับสนุนจัดตั้ง คณะทำงานความร่วมมือภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรพัฒนาเอกชน สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาองค์กรชุมชนและสถาบันทางการศึกษา พร้อมให้องค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำแผนการบริหารจัดการ การสร้างสำนึก สร้างความรู้ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง สร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อขยายผล พร้อมสนับสนุนสนับสนุนให้ชาวบ้านหันมาทำปุ๋ยหมักชีวภาพ จากเศษวัสดุพืชแทนที่จะเผาทำลายเพียงอย่างเดียว ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัด รวบรวมแผนและงบประมาณ เพื่อเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการจัดการไฟป่าและหมอกควันแห่งชาติ
 
   ทั้งนี้ ยังเห็นควรให้ปรับปรุงกลไกที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ระดับภาค จนถึงระดับภูมิภาค โดยเพิ่มตัวแทนของประชาชน และภาคเอกชน เข้าร่วมในสัดส่วนที่เหมาะสมในทุกระดับด้วย
 
   พร้อมกันนั้น ยังเห็นควรให้มีการยกร่างและปรับปรุงแก้ไข ระเบียบกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน เสนอต่อ ครม.ให้ความเห็นชอบภายใน 2 ปี และให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานทั้งหมดต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปี 2557 ด้วย
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140

รูปภาพ