คจ.สช.เดินเครื่องสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ ที่ยูเอ็นชง ๔ ประเด็นสำคัญสร้างสุขภาวะคนไทยในทุกมิติ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

    คจ.สช.เคาะจัด สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ ที่ศูนย์ประชุมยูเอ็นเดือนธ.ค.นี้ ภายใต้แนวคิดหลัก “สานพลัง สร้างสุขภาวะชุมชน” พร้อมผลักดัน ๔ ประเด็นเชิงนโยบาย สร้างสุขภาวะคนไทย ทั้งการโฆษณาสรรพคุณยา อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง ระบบการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมของคนไทย ระบบการจัดอาหารในโรงเรียนเพื่อสุขภาวะนักเรียนและการสร้างยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติว่าด้วยระบบสุขภาวะชุมชน พร้อมตั้งทีมทำงาน ๑๐ ชุดเดินหน้าโดยเน้นกระบวนการแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
 
   คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ(คจ.สช.) ที่มีนางศิรินา ปวโรฬารวิทยา เป็นประธาน ได้จัดการประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๕๖ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ณ ห้องประชุมแสงสิงแก้ว กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี
 
   นางศิรินา กล่าวว่า ที่ประชุมคจ.สช.เห็นชอบให้จัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ พ.ศ.๒๕๕๖ ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๖ ที่ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ(UNCC) ภายใต้แนวคิดหลัก “สานพลังสร้างสุขภาวะชุมชน” เพื่อเดินหน้าผลักดันนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายทั้งภาคประชาสังคม ภาควิชาการ วิชาชีพและหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ โดยที่ประชุมคจ.สช.ยังได้เห็นชอบการแต่งตั้งทีมทำงานจำนวน ๑๐ คณะ เพื่อทำหน้าในการบริหารงานจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติตามแผนที่วางไว้ ตั้งแต่การจัดการประชุม , การทำงานวิชาการ , การจัดลานสมัชชาเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ , การมอบรางวัลสมัชชาอวอร์ดแก่ภาคีเครือข่ายที่มีผลงานดีเด่น , การประเมินผล และการสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
 
   รศ.ดรุณี รุจกรกานต์ ประธานอนุกรรมการวิชาการ คจ.สช. กล่าวว่า ที่ประชุมคจ.สช.ได้เห็นชอบระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ พ.ศ.๒๕๕๖ จำนวนทั้งสิ้น ๔ ประเด็น ได้แก่ ๑.การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติ ว่าด้วยระบบสุขภาะชุมชน ซึ่งเป็นระเบียบวาระที่ คสช. ได้มอบหมายมา และมีอีก ๑๒ องค์กรเสนอประเด็นสนับสนุนในเรื่องนี้ ๒. การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นประเด็นสืบเนื่องจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ โดยทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)เป็นผู้เสนอ ๓. ระบบการจัดอาหารในโรงเรียน โดยทางแผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และภาคีเครือข่ายอีก ๘ องค์กร เป็นผู้เสนอ ๔. นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสำหรับประชาชน โดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน สสส. และ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นผู้เสนอ

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140

รูปภาพ