เร่งเดินหน้าวางแผนผลิตแพทย์เฉพาะทาง ห่วงแผนเพิ่มพยาบาล ผลิตเพื่อใครไม่ชัดเจน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   บอร์ดกำลังคนด้านสุขภาพหนุนกระทรวงสาธารณสุข ตั้งกลไกร่วมกับหน่วยผลิตและใช้แพทย์เฉพาะทาง มอนิเตอร์ปัญหาใกล้ชิดและวางแผนผลิตระยะยาว ห่วงจำนวนแพทย์เฉพาะทางไม่พอให้บริการประชาชน แนะแผนผลิตพยาบาลเพิ่ม ๗,๐๐๐ ล้านบาท ต้องผลิตคนตรงสเปคงาน พร้อมรักษาพยาบาลไว้ในระบบรัฐให้ได้
 
   การประชุมคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓/๒๕๕๖ ณ ห้องประชุม สุปัญญา ชั้น ๔ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข อาคารสุขภาพแห่งชาติ มี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธาน เมื่อวันที่ ๗ ส.ค. ๒๕๕๖ ได้เห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายแก้ปัญหา การขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง และเร่งรัดให้มีกลไกในการเกาะติดเรื่องนี้อย่างจริงจัง เนื่องจากมีผลการศึกษา โดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวร พบว่า ในอีก ๒๐ ข้างหน้า ประเทศไทยมีแนวโน้มจะขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง ทั้งด้าน ศัลยแพทย์ ประสาทแพทย์ วิสัญญีแพทย์ อายุรแพทย์ และแพทย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัวจำนวนมาก หากกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่เตรียมพร้อมในการผลิตแพทย์เฉพาะทางเพิ่มขึ้น อาจไม่เพียงพอรองรับการให้บริการด้านสาธารณสุขของคนไทย ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งบริการคนไทยและต่างชาติตามนโยบายเมดิคัลฮับของรัฐบาล
 
   ทั้งนี้ คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ เห็นชอบแนวทางจากที่ประชุมเสวนาทางวิชาการ การแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ซึ่งมี นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เลขานุการคณะกรรมการ เป็นประธาน ที่ได้ข้อสรุปให้เสนอมาตรการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ๑.จัดตั้งกลไก (Core Team) ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดแนวทางและดำเนินการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง ๒. การวางแผนเพื่อการสนับสนุนระบบการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สนับสนุนด้านงบประมาณและสนับสนุนให้โรงพยาบาลศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุขที่มีความพร้อมเป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง (Training Center) ๓. การพัฒนาและวางระบบการบริหารจัดการ เพื่อรองรับการทำงานที่ชัดเจน สำหรับแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เพื่อให้มีศักดิ์ศรีในสังคม จะแก้ปัญหาการบริการในพื้นที่ได้ชัดเจนขึ้น ๔.มอบให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เนื่องจากเป็นปัญหาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีแนวทางดำเนินงานที่ชัดเจน
 
   นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานกรรมการ กล่าวว่า “การแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งสถาบันที่ผลิต หน่วยงานผู้ใช้บุคลากร และผู้ประกอบวิชาชีพ อาทิ แพทยสภาหรือสภาวิชาชีพต่างๆ รวมทั้งต้องพิจารณาด้วยว่า โรงพยาบาลเอกชนควรมีบทบาทเข้ามาสนับสนุนการผลิตแพทย์เฉพาะทางแค่ไหน อย่างไรจึงจะเหมาะสม เพื่อให้การเพิ่มปริมาณแพทย์เฉพาะทาง ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและเพียงพอต่อการดูแลประชาชนในอนาคต เรื่องแพทย์เฉพาะทางนี้ต้องวางแผนเป็นรูปธรรมและต้องดำเนินการกันจริงจัง เพราะพูดถึงปัญหากันมานานแต่ยังไม่เริ่มลงมือทำสักที
 
   ที่ประชุมคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ยังได้รับทราบ แผนเพิ่มการผลิตพยาบาลศาสตร์ของประเทศ ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อ ๑๒ พฤษภาคม ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)เสนอ ซึ่งตามแผนจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตพยาบาล ระหว่างปี ๒๕๕๗-๒๕๖๐ ในสังกัด สกอ. ๕,๗๒๘ คน และสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) กระทรวงสาธารณสุข ๔,๔๐๐ คน รวมเป้าหมายในการผลิตพยาบาลทั้งหมด ทั้งตามแผนปกติและแผนการผลิตเพิ่ม รวม ๒๗,๙๖๐ คน ตั้งวงเงินงบประมาณไว้ที่ ๗,๐๐๐ ล้านบาท อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการมีความเห็นว่า แผนการผลิตนี้ยังไม่สะท้อนภาพรมของประเทศ ที่มีสถาบันผลิตพยาบาลยังไม่ถูกนับรวมอีกมาก เช่นกรุงเทพมหานคร กองทัพ และสถาบันการศึกษาเอกชน ทำให้ยังไม่สามารถคาดจำนวนพยาบาลที่จะผลิตได้จริง
 
   นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) หนึ่งในกรรมการตั้งข้อสังเกตว่า “โครงการนี้ตั้งงบประมาณผลิตพยาบาลต่อคนสูงขึ้นจากที่เคยเป็นมาก และยังไม่มีการวิเคราะห์ผู้ใช้ให้ชัดเจนว่า พยาบาลเกือบสามหมื่นคนที่ออกมาจะผลิตเพื่อไปทำงานที่ใด ระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และนโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ(เมดิคัล ฮับ) รวมถึง ความต้องการที่สูงขึ้นของพยาบาลชุมชนที่ต้องร่วมทำงานส่งเสริมป้องกันโรคกับชุมชนท้องถิ่น ทั้งสามกลุ่มนี้ต้องการพยาบาลที่มีบุคลิกลักษณะต่างกัน น่าสนใจว่าหลักสูตรการเรียนการสอนพยาบาลจะปรับตัวรองรับความแตกต่างนี้ได้หรือไม่ และสภาการพยาบาลจะเข้ามามีบทบาทอย่างไร” สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่คณะกรรมการเห็นพ้องกันคือ ต้องรักษาพยาบาลไว้ในระบบบริการภาครัฐให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยการเพิ่มค่าตอบแทนหรือแรงจูงใจอื่นๆ ซึ่งนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รองประธานกรรมการ เสนอว่า “ควรให้พื้นที่ หรือกลไกระดับจังหวัด มีบทบาทในการสำรวจความต้องการ วางแผนการผลิต และกำหนดมาตรการธำรงรักษาคนไว้ในพื้นที่ด้วย”
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140

รูปภาพ