นพ.ณรงค์ ทุบโต๊ะเลิกใช้แร่ใยหิน สั่งสธ.แจงทุกหน่วยงานใน 1 สัปดาห์ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   ปลัดสธ.ไม่กลัวลิ่วล้อนักการเมือง เรียกประชุมคณะกรรมการศึกษาผลกระทบแร่ใยหิน พบมีอันตรายต่อสุขภาพคนไทยแน่นอน ย้ำเอกสาร WHO และผลวิจัยทางการแพทย์ยืนยัน ขณะที่สช.หนุนสุดตัว เชื่อนพ.ณรงค์ทำสิ่งถูกต้องในการยืนข้างประชาชน หลังกลุ่มผลประโยชน์และการเมืองแทรก
 
   แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน ซึ่งมี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2557 มีมติว่า แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างชัดเจน ตามเอกสารยืนยันจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และงานวิจัยทางด้านสาธารณสุขในประเทศไทย ทุกแห่งต่างมีข้อสรุปตรงกันถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชน
 
   “ข้อสรุปของที่ประชุมคือการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ซึ่งหลายหน่วยงานได้สนับสนุนในเรื่องนี้ เนื่องจากหลักฐานต่างๆได้เป็นที่ประจักษ์แล้ว โดยบริษัทผู้ผลิตกระเบื้องหลังคาส่วนใหญ่ ได้ยกเลิกการใช้ไปก่อนหน้านี้แล้ว จึงไม่มีผลกระทบทางธุรกิจ มีปัญหาแค่เพียงบางบริษัทที่ยังใช้แร่ใยหินอยู่ และมีความเห็นที่แตกต่างจากข้อสรุปของกระทรวงสาธารณสุข แหล่งข่าวระบุ
 
   ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2554 เห็นชอบให้มีการยกเลิกการใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ อาทิ กระเบื้องมุงหลังคา ท่อซีเมนต์ ผ้าเบรก เป็นต้น แต่ให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปจัดทำแผนการยกเลิกการใช้ และกระทรวงสาธารณสุขไปพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ ต่อมา ทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหินขึ้น โดยมอบให้นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน แต่ปรากฎว่าการทำงานมีปัญหาหลายประการ เนื่องจากกรรมการที่มาจากนักวิชาการด้านสุขภาพ ขาดความมั่นใจในการทำหน้าที่ของ นพ.ชาญวิทย์
 
   แหล่งข่าวกล่าวว่า หลังจากนี้ประมาณ 1 สัปดาห์ กระทรวงสาธารณสุขจะจัดทำข้อสรุปเพื่อเสนอให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่ใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ เร่งดำเนินมาตรการยกเลิกการนำเข้าและการใช้สารชนิดนี้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และกระทรวงการต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็มีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มเครือข่ายสังคมไทยไร้แร่ใยหินหรือ T-BAN จะเดินทางมาชุมนุมที่กระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 31 ม.ค.นี้เพื่อติดความความคืบหน้าในการยกเลิก
 
   นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า มาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหินเป็นไปตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 พ.ศ.2553 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 เม.ย.2554 โดยครม.ให้ กระทรวงสาธารณสุขไปศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ ซึ่งได้มีการตั้งคณะทำงานวิชาการ ที่มีนักวิชาการจากนอกกระทรวงสาธารณสุขร่วมด้วย และได้ศึกษาข้อมูลต่างๆทุกระดับ ทั้งในและต่างประเทศ มีความเห็นสอดคล้องกันว่า แร่ใยหินทุกชนิดมีผลกระทบต่อสุขภาพ สมควรสนับสนุนให้มีการยกเลิกตามมติครม. ดังกล่าว แต่ที่ผ่านมา กลับมีความพยายามใช้อำนาจรวบรัดเพื่อเสนอครม.ว่า แร่ใยหินไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จนถูกมองว่าเป็นการทำงานแบบมีเงื่อนงำ ไม่ได้มุ่งประโยชน์ต่อสุขภาพประชาชนเป็นตัวตั้ง เพราะแม้แต่ประเทศที่ส่งแร่ใยหินออกขายทั่วโลก ก็ยังมีนโยบายลดการใช้แร่ใยหิน เพื่อไม่ให้คนในประเทศได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ
 
    ที่ผ่านมาการความพยายามดังกล่าว ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการบริหารประเทศเพื่อกลุ่มผลประโยชน์เพียงบางกลุ่มหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าเคลือบแคลงสงสัย เพราะการให้ข่าวต่างๆ ตรงกับที่ธุรกิจเอกชนบางรายได้ยืนยันเพื่อดื้อดึงจะให้ยกเลิกมติครม.ปี 2554 ทำให้ตนเองสามารถผลิตสินค้าที่ใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบได้ต่อไป ทั้งๆที่จุดยืนของกระทรวงสาธารณสุข ควรทำหน้าที่ปกป้องสุขภาพประชาชน แต่กลับมาทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของพ่อค้ามากกว่า เป็นการทำลายเครดิตของกระทรวงสาธารณสุขที่สั่งสมมานาน
 
   นพ.อำพล กล่าวว่า ขอชื่นชมนพ.ณรงค์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่แสดงภาวะผู้นำด้านสุขภาพเพื่อประชาชน และอยากให้สังคมให้จับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเมื่อมีรัฐบาลใหม่ในอนาคต
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140

รูปภาพ