ตั้งเป้า ทบทวนธรรมนูญสุขภาพ ให้คนเป็นพลเมืองมีพลัง+คุณธรรม | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 “นพ.ณรงค์ศักดิ์” ตั้งเป้าครบ 5 ปี ต้องทบทวนธรรมนูญสุขภาพให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยใช้สุขภาพพัฒนา เป็นพลเมืองที่มีพลังและคุณธรรม นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม มีจิตสาธารณะ เผยเตรียมรับสังคมผู้สูงอายุ แนะเปลี่ยนมุมมองผู้สูงวัยไม่เป็นภาระ แต่คือทรัพยากรบุคคลสำคัญ ย้ำลบความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้านต่างๆ ทั้งในมิติพื้นที่สังคมเมืองและชนบท รวมถึงมิติของเศรษฐานะหรือผู้มีโอกาสและผู้ขาดโอกาส
 
   นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยถึงการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 ว่าเป็นไปตามวาระที่กฎหมายกำหนดให้มีการทบทวนอย่างน้อยทุก 5 ปี เพื่อให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์ระบบสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งคณะกรรมการฯ ต้องการระดมข้อมูลจากกลุ่มองค์กรและเครือข่ายต่างๆ ว่ามีอะไรที่ยังไม่ครบถ้วน ไม่ชัดเจน ต้องปรับปรุงแก้ไข หรือเพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะสมกับปัจจุบัน อาทิ เรื่องสุขภาพจิตและฯลฯ เพื่อให้มีเนื้อหาที่ชัดเจนมากขึ้น
 
   “การทบทวนครั้งนี้จะเน้น 2 เรื่อง คือ กลไกที่จะตอบโจทย์ใหม่ว่า เมื่อมีมติออกมาแล้ว กฎหมายเขียนไว้เรื่องการผูกพันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือการมีส่วนร่วมแท้จริงในภาคสังคมในวงกว้าง รวมถึงองค์กรภาคเอกชน (NGO) องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเศรษฐกิจ และวิชาการต่างๆ โดยจะมีกระบวนการรับฟังความเห็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอย่างที่ต้องการ ทั้งข้อมูลความรู้ในแนวตั้งที่จะลงลึก ขณะเดียวกันก็ต้องการพลังค้ำจุนสนับสนุนในแนวนอน เช่น หน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ยิ่งฐานใหญ่ก็ยิ่งดี ต้องหาเทคนิคสร้างการมีส่วนร่วมใหม่ๆ มาตอบโจทย์ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ เช่น กระบวนการลูกขุนพลเมือง ซึ่งได้แนวทางจากสหรัฐอเมริกา โดยได้ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้ามาร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในเรื่องนี้” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว
 
   ดังนั้น ทุก 5 ปี จึงต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนพอที่จะปรับปรุงและแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และต้องดูให้ละเอียด อาทิ ปัญหาสุขภาพจิตที่สัมพันธ์กับการให้บริการด้านสาธารณสุข ที่ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากกรมสุขภาพจิตมาร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อมองภาพรวมเกี่ยวกับคน ความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวที่ชัดเจนขึ้น
 
   ส่วนเป้าหมายต่อมาคือ ทำอย่างไรจะให้สาธารณสุขพัฒนาคนให้เป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active citizen) เป็นพลเมืองที่มีพลังและคุณธรรม นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน มีจิตสาธารณะ พร้อมที่จะร่วมกระบวนการ พัฒนาในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ไม่นิ่งดูดายทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องในประเด็นครอบครัวและสังคม สังคมจะแข็งแรงได้ด้วยการช่วยกันคนละไม้ละมือ ก่อให้เกิดกระบวนการสังคมตื่นรู้ (Active Social) เมื่อมีคุณธรรมบวกกับพลังในการพัฒนาก็จะมองเห็นทิศทางการพัฒนาสุขภาพในบ้านเราชัดเจนขึ้น
 
   นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่เป็นคำถามคือ เมืองไทยกำลังจะกลายเป็นเมืองผู้สูงอายุ ระบบต่างๆ ที่จะรองรับสวัสดิการและบริการทางสังคมต่างๆ การดูแลสุขภาพ และการจัดการสิ่งแวดล้อม หรือความต้องการมีสุขภาวะที่ดีของผู้สูงอายุ จะมองในเชิงรุกอย่างไร อาทิ ต้องไม่มองว่าผู้สูงอายุเป็นภาระ แต่เปลี่ยนมุมมองใหม่ ว่าคนเหล่านั้นคือทรัพยากรบุคคล จะจัดการะบวนการอย่างไรให้ผู้สูงอายุอยู่ในระบบแรงงานตามระดับสุขภาพ เพราะมีความรู้ ประสบการณ์ และบารมีในการทำงานของประเทศได้ โดยต้องพิจารณาทั้งระบบ เช่น ระบบสุขภาพ สวัสดิการ พื้นที่สาธารณะ การขนส่ง และฯลฯ
 
   ขณะเดียวกันก็มองเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้านต่างๆ ทั้งในมิติพื้นที่สังคมเมืองและชนบท มิติของเศรษฐานะ (ผู้มีโอกาสและผู้ขาดโอกาส) กลุ่มชายขอบ กลุ่มโรคภัยไข้เจ็บเรื้อรัง กลุ่มผู้พิการ จะทำอย่างไรที่จะยกระดับไม่ให้เหลื่อมล้ำ สามารถเข้าถึงบริการด้านต่างๆ ในสังคมได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ในส่วนความด้อยประสิทธิภาพของระบบบริการทางสังคมฯ ถึงเวลาต้องทบทวนว่าการอภิบาลด้วยระบบของรัฐอาจมีคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพและประสิทธิผล การเข้าถึง ความพอเพียงของทรัพยากร งบประมาณ และกำลังคน
 
   “ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเรื่องการบริการด้านสุขภาพ ต้องนำระบบอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมมาช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการในลักษณะที่เรียกว่า องค์การภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ (Autonomus Organization) เช่น ตัวอย่างระบบการบริหารจัดการของ รพ. บ้านแพ้ว ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และมีการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี ซึ่งแนวคิดนี้อาจนำไปใช้ได้ในโรงเรียน หน่วยงานสาธารณสุข และบ้านพักคนชรา เป็นต้น”
 
   ส่วนปัญหาใหญ่ที่พบในธรรมนูญสุขภาพฯ หมวดระบบบริการสาธารณสุข ที่ทิศทางนโยบายปัจจุบันมุ่งในเรื่องของการส่งเสริมการบริการสาธารณสุขปฐมภูมิฯ ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงกับระบบสุขภาพชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับปัจจุบัน ยังพบว่ามีปัญหาด้านระบบการสนับสนุนด้านกำลังคนหรือบุคลากรทางการแพทย์ในระดับต่างๆ ตลอดจนความพร้อมของหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาศักยภาพของชุมชนและท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องอาสาสมัครในระบบสุขภาพชุมชน เป็นเรื่องที่ต้องการการพัฒนาอย่างเข้มข้นเพื่อให้เพียงพอต่อการสนับสนุน
 
   สำหรับด้านการเงินการคลังก็จำเป็นต้องมีการทบทวน ซึ่งข้อเสนอเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพที่ผ่านมาสะท้อนปัญหาความไม่เพียงพอ ทั้งทรัพยากรบุคคล งบประมาณ และการเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณสุข ข้อเสนอเหล่านี้จะนำไปสู่การพัฒนาและทบทวนหาแหล่งที่มาของทรัพยากรและงบประมาณ หรือรูปแบบการเงินการคลังในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพอย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนให้การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างยั่งยืน
 
   อนึ่ง ตามมาตรา 25 (1) และมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 กำหนดให้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 เริ่มใช้และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144

รูปภาพ