รวมพลังปฏิรูปใหญ่กลไก HIA ลดความเสี่ยงนโยบายทำลายสุขภาพคนไทย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการและภาคประชาสังคม หนุนยกระดับกลไก การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ให้คุ้มครองสุขภาวะมากขึ้น พร้อมยกระดับสู่การทำ HIA เชิงยุทธศาสตร์และนโยบายสำคัญทั้ง พลังงาน เหมืองแร่ และ FTA ตั้งความหวังร่างรัฐธรรมนูญใหม่เห็นความสำคัญ และให้อำนาจท้องถิ่นอนุมัติโครงการได้มากขึ้น สช.พร้อมหนุนเสริม สร้างกระบวนการเรียนรู้กับทุกภาคส่วน
 
   เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๘ ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดแถลงข่าว “การประเมินผลกระทบทางสุขภาพในกระแสปฏิรูป” และความสำเร็จของการประชุมวิชาการ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA Conference) ประจำปี ๒๕๕๗ ณ ห้องราชเทวี โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร
 
   ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ สถาบันการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การขับเคลื่อน การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment :HIA) ในประเทศไทย ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า ๑๖ ปีแล้ว ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสุขภาวะให้แก่ประชาชนและชุมชน มีการประเมินผลกระทบ กำกับ และติดตาม โครงการพัฒนาหรือนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ ให้ยึดโยงกับสุขภาพของประชาชนในทุกมิติ โดยเฉพาะเมื่อมี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ และรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.๒๕๕๐ ได้ก่อให้เกิดการตื่นตัวของทุกภาคส่วน ต่อกระบวนการจัดทำ HIA มากยิ่งขึ้น
 
   “HIA ถือเป็นประเด็นสำคัญ ที่จะต้องผลักดันเข้าสู่การปฏิรูปประเทศในขณะนี้ หลังจาก ๑๖ ปีที่ผ่านมา การทำ HIA ยังมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ และไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลง ทำให้ประเทศไทยได้รับบทเรียนมากมาย ทั้งจากนโยบายและโครงการ/กิจกรรมที่สร้างผลกระทบกับชุมชน ถึงเวลาแล้วที่จะต้องยกระดับ HIA ให้ทำหน้าที่คุ้มครองสุขภาวะของชุมชนอย่างแท้จริง รวมทั้งขับเคลื่อน HIA ในประเด็นสำคัญ อย่างเช่น นโยบายพลังงานและการบริหารจัดการทรัพยากรสินแร่ในภาพรวมของประเทศ รวมทั้งการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”
 
   นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบประเมินผลกระทบทางสุขภาพ กล่าวว่า แนวทางและความเห็นในการขับเคลื่อน HIA ที่ได้จากการประชุมวิชาการHIA Conference พ.ศ.๒๕๕๗ นี้ ควรจะถูกนำเสนออย่างเป็นรูปธรรมต่อ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และผลักดันไปสู่ร่างในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในหมวดที่ว่าด้วยสิทธิชุมชน เพื่อเป็นการให้อำนาจกับชุมชนอย่างแท้จริง และควรเพิ่มเครื่องมือใหม่ในการดูแลผลกระทบ เช่น การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ที่เป็นการประเมินก่อนการมีนโยบายที่ครอบคลุมไปถึงศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อมในเชิงพื้นที่ด้วย
 
   “กลไก HIA จะช่วยให้กระบวนการประเมินผลกระทบจากนโยบายสาธารณะ รอบคอบ รอบด้าน มากขึ้น จากเดิมที่จะมองเฉพาะการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งยังเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจอนาคตและดูแลสุขภาวะของตัวเอง ตลอดจนการมีทางเลือกอื่นในการพัฒนามากขึ้นด้วย ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศก็นำเครื่องมือ HIA มาใช้แล้วประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน”
 
   นพ.วิพุธ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำงานวิชาการร่วมกับประเทศสมาชิกภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างฐานความรู้ในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่บางโครงการ เชื่อมโยงพื้นที่หลายประเทศ เช่น การทำเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง หรือการผลิตไฟฟ้าจากลาว เพื่อส่งมาขายยังประเทศไทย เป็นต้น โดยเรื่องนี้จะมีการจัดประชุมวิชาการอย่างเป็นทางการในช่วงเดือน พฤศจิกายน ๒๕๕๘ นี้
 
   นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีเสียงสะท้อนจากหลายภาคส่วน ที่ต้องการให้คงหมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่เพิ่งถูกยกเลิกไป โดยเฉพาะสาระสำคัญในส่วนของสิทธิชุมชน มาตรา ๖๖ และมาตรา ๖๗ วรรคสอง ที่กำหนดให้จัดทำ รายงานผลกระทบด้านสุขภาพควบคู่กับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ในโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง โดยให้จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งให้องค์การอิสระให้ความเห็นประกอบก่อนดำเนินการดังกล่าว
 
   ขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอกลไกเพิ่มเติม ใน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEAเพื่อให้ครอบคลุมไปถึงแผนงาน ศักยภาพ และข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ด้วย รวมถึงให้มีการกำหนดสิทธิพลเมืองมีส่วนร่วมแสดงความเห็น และตัดสินใจอย่างแท้จริง
 
   “ข้อเสนอดังกล่าวจะถูกใช้ในโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นทันที หรือโครงการในอนาคตนั้น คงขึ้นอยู่กับว่า จะบรรจุในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือใช้วิธีแก้ไขกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่มีอยู่เดิม หากกำหนดในรัฐธรรมนูญ ก็ต้องอาศัยเวลาในการดำเนินการพอสมควร”
 
   นางวัชราภรณ์ วัฒนขำ ตัวแทนภาคประชาสังคม จังหวัดเลย ในฐานะผู้แทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบโครงการเหมืองแร่ กล่าวว่า การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในช่วงที่ผ่านมา ถูกนำไปผูกโยงกับกับกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือ EIA เพื่อเดินไปสู่การอนุมัติหรืออนุญาตเท่านั้น และอยู่ภายใต้การดำเนินการของ บริษัทที่ปรึกษา ซึ่งถูกว่าจ้างโดยเจ้าของโครงการ ทำให้กระบวนการประเมินผลกระทบ ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่มาแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง “ตามหลักวิชาการแล้ว การทำ HIA เป็นเรื่องถูกต้อง แต่ในกระบวนการจัดทำ ต้องไม่มุ่งเน้นสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ประกอบการในการทำโครงการเป็นหลัก”
 
   นอกจากนี้ การกำหนดขอบเขตการประเมินโครงการ ยังกำหนดโดย บริษัทที่ปรึกษา ไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด จึงเห็นควรเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขกระบวนการประเมินผลกระทบในทุกด้าน จำเป็นต้องมีคนกลาง เข้ามาทำหน้าที่ กำหนดขอบเขตการศึกษาผลกระทบทั้งทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และในกระบวนการอนุมัติหรืออนุญาต ตลอดจนกลไกในการติดตามผลกระทบของโครงการ จะต้องไม่รวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง แต่ต้องกระจายลงสู่พื้นที่และให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยกำหนดกลไกและเครื่องมือใหม่ เสนอให้จัดตั้ง คณะกรรมการในระดับพื้นที่ ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในชุมชน ทำหน้าที่อนุมัติหรืออนุญาตโครงการ และติดตามผลกระทบต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เสียงของประชาชนมีอำนาจอย่างแท้จริง และยังทำให้การแก้ไขปัญหามลพิษเป็นไปอย่างรวดเร็ว “การกระจุกอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ยังทำให้การแก้ปัญหาผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นไปอย่างล่าช้าไม่ทันท่วงที ดังนั้นถึงเวลาที่ส่วนกลาง ต้องโอนอำนาจหน้าที่และงบประมาณในการดำเนินงานในเรื่องนี้มาสู่ท้องถิ่น อย่างเป็นรูปธรรม”
 
   นางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สช.พร้อมที่จะสนับสนุนกลไกและกระบวนการ HIA ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมการใช้สิทธิของประชาชนในการดูแลและปกป้องสุขภาวะของตนเอง ในประเด็นเกี่ยวกับนโยบาย แผนงาน หรือโครงการที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ในช่วง ๗ ปีที่ผ่านมาของการมี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีชุมชนที่มายื่นหนังสือขอใช้สิทธิตามมาตรา ๑๑ เพื่อจัดทำ HIA ในระดับชุมชนเป็นจำนวนมาก ทำให้เห็นทิศทางและความตื่นตัวของภาคประชาชน ในการสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ “สช. จะหนุนเสริมกระบวนการ HIA ในทุกรูปแบบ ทั้งการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การประสานงานหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสม และให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ โดยหลังการประชุม HIA Conference พ.ศ.๒๕๕๗ แล้ว ทาง สช.จะได้นำความเห็นและข้อเสนอที่ได้ ไปขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการพัฒนาเครื่องมือ HIA นี้ ทันที”

 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144

รูปภาพ