ทุกหน่วยงานใส่เกียร์เดินหน้า โรดแมป ๕ มติสมัชชาสุขภาพฯ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัด การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ณ ห้องจูปีเตอร์ ๔-๖ อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยมีนพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และนพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคีเครือข่ายมากกว่า ๒๕๐ คน

 

   นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ สช. กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ถือเป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา สามารถผลักดันนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพจำนวน ๕๑ มติ ครอบคลุมทั้งเรื่องที่นำไปสู่มติคณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้ว และมติที่เสนอให้หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ นำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน

 

   การระดมความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ถือว่ามีความจำเป็นสำหรับติดตามว่า มติทั้งหมดนั้นได้มีการดำเนินการที่คืบหน้าไปอย่างไร มีอุปสรรคและปัญหาอย่างไรบ้าง เพื่อให้คมส.นำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๗ พ.ศ.๒๕๕๗ วันที่ ๒๔-๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานีต่อไป

 

   ด้าน นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวะพลา ประธานคมส. กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการจัดทำแผนดำเนินงานหรือ โรดแมป ในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่สำคัญ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการขับเคลื่อนไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างครบวงจร ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ แนวทาง และมาตรการ นำไปสู่กระบวนการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงผลลัพท์ที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

 

   “สิ่งสำคัญที่สุดคือเส้นทางในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ต้องเดินหน้าต่อไป ถือเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดความผูกพันเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จของมติร่วมกัน (Commit to Success) ซึ่งต้องมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคและปัญหา ขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติให้ได้

 

   พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ประธานการประชุมเพื่อขับเคลื่อนมติ ความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถึงการแก้ปัญหาสุขภาพให้แก่คนพิการช่วง ๔ ปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้าไปมาก แต่ยังติดอุปสรรคเกี่ยวกับกองทุนที่ดูแลสิทธิประโยชน์ด้านประกันสุขภาพทั้ง ๓ กองทุน ที่ขาดบูรณาการและยังมีมาตรฐานแตกต่างกัน ทำให้สิทธิของคนพิการที่อยู่ในระบบและนอกระบบแรงงานไม่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้ภาครัฐ ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นเพิ่มการจ้างงานคนพิการมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาภาคเอกชนได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นหลัก

 

   ด้านการประชุมเพื่อขับเคลื่อนมติ การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ที่มี นางกาญจนา ทองทั่ว คมส. เป็นประธานโดยมีการพิจารณาเป้าหมายการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน เพื่อลดยอดผู้เสียชีวิตลง ๕๐% ในปี ๒๕๖๓ ขณะนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน(ศปถ.) ได้ยกร่างแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการนำเสนอครม.ชุดใหม่ ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานว่ายอดผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัยและถูกจับกุมเพิ่มขึ้น ตลอด ๕ ปีที่ผ่านมา ล่าสุดในปี ๒๕๕๖ อยู่ที่ ๒.๔ ล้านคัน ซึ่งทางตำรวจแจ้งว่ายังมีอุปสรคในการดำเนินงานอาทิ ทัศนคติของประชาชนในการตั้งด่านตรวจจับ ขณะที่ตัวแทนภาคีเครือข่ายฯเสนอให้หน่วยงานในท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการแบ่งเบาภาระปัญหาการจราจร ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แจ้งว่า เร็วๆนี้จะมีการตั้ง ศปถ.ในระดับอำเภอทั่วประเทศปี ๒๕๕๘ โดยจะเสนอของบประมาณจากครม.ชุดใหม่ทันที ส่วนกรมขนส่งทางบกจะมีการยกระดับการสอบใบอนุญาตขับขี่ให้เข้มงวดมากขึ้น

 

   การประชุมติดตามมติ การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยาน ที่มี นางรัตนา สมบูรณ์วิทย์ คมส. เป็นประธาน พบว่า การบูรณาการและขับเคลื่อนมติของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องของการบริหารและการประชาสัมพันธ์ ยังไม่เกิดประสิทธิภาพในทางปฏิบัติเท่าที่ควร ขาดการมีส่วนร่วมและขาดการสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้กับชุมชนท้องถิ่นซึ่งใช้การเดินและจักรยานในการสัญจรเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งได้เร่งรัดให้มีการขยายทางจักรยานไปสู่พื้นที่ต่างๆมากขึ้น หลังจากนี้จะต้องติดตามความคืบหน้า เพื่อให้เกิดรูปธรรมต่อไป

 

   ด้าน ผศ.ดร.พงษ์เทพ สุธีรวุฒิ คมส. สรุปความคืบหน้าการขับเคลื่อนมติ การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ว่า จะมีการตั้งคณะทำงานที่มาจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน ประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ทุกฝ่ายทราบความคืบหน้า ในการออกมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรงไฟฟ้าชีวมวลทุกเดือน เพื่อให้มาตรการต่างๆสอดรับกันเริ่มจากเดือนมิ.ย.นี้

 

   ปัจจุบันหลายหน่วยงานอยู่ระหว่างการวางกรอบนโยบาย อาทิ การปรับปรุงกระบวนการขอใบอนุญาตก่อสร้างโรงงงานของกระทรวงอุตสาหกรรม และวางยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนระดับจังหวัดของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าชีวมวลด้วย รวมถึงการทบทวนผังเมืองรวมในหลายจังหวัด ซึ่งมีส่วนช่วยในการควบคุมดูแลผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล

 

   ที่ประชุมยังมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่น ตั้งแต่การกำหนดนโยบายจนถึงการติดตามตรวจสอบ โดยเฉพาะภาคประชาชน ควรอยู่ในโครงสร้างการติดตามผลกระทบ เพื่อสนับสนุนการตรวจสอบของภาครัฐ ซึ่งมีกำลังคนไม่มากนัก จะช่วยให้ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวลได้มาก

 

   นายสุรพงษ์ พรมเท้า คมส. ในฐานะประธานการประชุมติดตามมติ การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผละกระทบต่อสุขภาพ เปิดเผยว่า ในที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง มุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือการปลูกพืชในภาคเกษตร จะเร่งการหากลไกไม่ให้เกษตรกรนำเศษวัสดุที่เหลือทิ้ง เช่น ฟาง มาเผาทำลาย หรือขายในราคาถูกกิโลกรัม20บาท รวมทั้งสกัดการลักลอบเผาป่ามาทำพื้นที่เกษตรกรรม และต้องให้ความรู้กับเกษตรกรถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่คุ้มค่ากับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ถูกทำลาย

 

   การดำเนินการสามารถทำได้ทันที เป็นลักษณะของการชักฟืนออกไฟ โดยผ่านกลไกสมัชชาสุขภาพระดับจังหวัด พร้อมกับให้หน่วยงานวิชาการต่างๆมาวิจัยศึกษา การนำเศษวัสดุทางการเกษตรต่างๆมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เกิดมูลค่า รายได้ ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง แนวทางดังกล่าวนี้จะนำเสนอต่อคมส. เพื่อเห็นชอบและนำเสนอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติพิจารณา กำหนดเป็นนโยบายให้ดำเนินการต่อไป นายสุรพงษ์กล่าว

รูปภาพ