‘ละครเปลี่ยนเมือง’ แนวทางสนทนาร่วมเพื่อแก้ปัญหาเมืองในรูปแบบใหม่ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   หากพูดถึงการระดมความคิดเห็นต่อปัญหาหรือหารือถึงการแก้ไขใดๆ ก็ตาม หลายคนคงนึกถึงแต่การนั่งโต๊ะนั่งเก้าอี้ ประจัญหน้าถกเถียงกันอย่างเคร่งเครียด ในห้องประชุม
 
   แต่ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 มีห้องกิจกรรมห้องหนึ่งที่เปลี่ยนภาพความจำนั้นไปโดยสิ้นเชิง โดยมีการใช้ “ละคร” เป็นกระบวนการ ‘หารือเพื่อระดมปัญหาและหาหนทางแก้ไขร่วมกัน’ ภายใต้หัวข้อ ‘เมืองเปลี่ยนคน หรือ คนเปลี่ยนเมือง’ โดยมี ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย จากคณะละครเพื่อสังคม ‘มาร็องดู เธียเตอร์’ เป็นผู้กำกับการแสดง
 
   หลายคนอาจสงสัยว่า ‘กระบวนการละคร’ จะเปลี่ยนแปลงเมืองได้อย่างไร ผู้กำกับยังคงไม่บอกอะไรมากนัก แต่ขอให้ทุกคนจัดห้องใหม่เป็นวงกลม จากนั้นได้บอกให้ผู้เข้าร่วมเดินไปรอบๆ
 
   “กางมือออกแต่ไม่ให้โดนคนข้างๆ ลองวาดมือไปด้านหลังให้ได้มากที่สุด จำได้ว่าได้แค่ไหน จากนั้นขอให้หลับตา ไม่ต้องขยับแต่ให้จินตนาการว่า ทำแบบเดิมและไปได้มากกว่าเดิม ทำสามครั้ง ทำให้ได้มากกว่าเดิมทุกครั้ง ... ทีนี้ลืมตาแล้วลองทำใหม่ ใครทำได้เลยจุดเดิมบ้าง” ผู้กำกับถาม น่าแปลกที่เกือบทุกคนยกมือ
 
   ผมเพียงอยากบอกว่า เราจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหนมันอยู่ที่พลังจินตนาการของเราที่ไปพ้นขีดจำกัดของตัวเอง จากเรื่องการเคลื่อนไหวร่างกายและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน เราพยายามคิดแบบเดิมๆ คือ การคิดแก้ปัญหา แต่ตอนนี้อยากให้ใช้ร่างกาย สติปัญญาในร่างกาย ดูว่าทำอะไรได้บ้าง เราต้องทำความคุ้นเคยและอยู่กับร่างกายในอีกแบบหนึ่งก่อน”
 
   ผู้กำกับได้บอกผู้เข้าร่วมให้ใช้ท่าทางและความรู้สึกถ่ายทอดความคิด จินตนาการตามคำสั่งอีกหลายกระบวนการ เพื่อค้นหาตัวเอง แยกแยะสิ่งที่ตาเห็นกับสิ่งที่สมองคิด กระทั่งตีความการแสดงท่าทางระหว่างกัน
 
   ท่าทางหนึ่ง บางคนมองเห็นเป็นภาพผู้ชายกำลังจะใช้กำลัง ผู้หญิงบอกอย่าเข้ามา แต่อีกคนอาจบอกว่า เป็นการสอนรำ เรามองเห็นสิ่งเดียวกัน แต่ความคิดไม่เหมือนกัน เพราะเรามีมุมมองไม่เหมือนกัน ประสบการณ์ไม่เหมือนกัน” ผู้กำกับกล่าว
 
   หลังกิจกรรมเพื่อทำความรู้จักตัวเองผ่านไป กระบวนการต่อไปคือ การตั้งประเด็นเพื่อทดลองใช้กระบวนการละครถอดปัญหาและแนวทางแก้ไข โดยผู้เข้าร่วมกว่า 40 คนช่วยกันค้นหาประเด็นปัญหาจากประสบการณ์ที่เคยพบมา มีตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนที่ลดลง มือถือกำลังทำให้คนไม่อยากออกจากบ้านหรือไม่ ไม่มีกิจกรรมที่น่าสนใจเพียงพอสำหรับผู้คน การเดินทางที่ไม่ปลอดภัย ไม่สะดวก ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การขาดพื้นที่กว้าง พื้นที่สาธารณะในการทำกิจกรรมต่างๆ สภาพแวดล้อมไม่เหมาะกับการเดินทางของคนพิการหรือผู้สูงวัย เป็นต้น โดยประเด็นที่ถูกเลือกมากที่สุดจากผู้เข้าร่วมคือ ปัญหาชุมชนขาดปฏิสัมพันธ์
 
   โดยผู้เข้าร่วมเวทีส่วนหนึ่ง จะได้รับป้ายเพื่อแสดงตามบทบาทเหล่านี้โดยไม่ต้องพูด แต่ให้แสดงท่าทางตามจินตนาการของตนต่อบทบาทสมมตินั้นๆ ขณะที่คนที่ไม่ได้แสดง จะเป็นผู้สังเกตการณ์หรือนักวิจัยสังคมที่ต้องพิจารณากริยาท่าทาง ความเคลื่อนไหวของผู้แสดงทุกคนว่าเป็นอย่างไร คิดอะไร เกิดอะไร และภาพที่เห็นสะท้อนมุมมองอะไรบ้าง
 
   เมื่อจบการแสดง ผู้กำกับชวนทุกคนร่วมกันถอดรหัสจากความเคลื่อนไหว อากัปกริยาต่างๆ โดยประเด็นหนึ่งที่หลายคนเห็นตรงกัน คือ เมื่อปล่อยให้การเคลื่อนไหวดำเนินไป ผู้ว่าฯ เป็นเสมือนจุดที่หลายคนวิ่งเข้ามาหาโดยเฉพาะกลุ่มที่มีอำนาจแบบทางการ เช่น ผู้นำชุมชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักธุรกิจเอกชน ขณะที่ผู้เดือดร้อน คือ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เหมือนจะขยับได้ช้า ถูกละเลย ไม่สามารถเข้าถึงผู้มีอำนาจหรือใช้พื้นที่สาธารณะได้ มีเพียงผู้ที่แสดงบทบาทเป็นพระสงฆ์เท่านั้นที่ให้ความสนใจและเข้าไปโอบอุ้ม และความชัดเจนถึงสายสัมพันธ์ของผู้ปกครองและวัยรุ่น
 
   “ไม่ว่าผู้ว่าฯ ไปไหน เอกชนก็ไปหาและหยิบยื่นปัจจัยงบประมาณ พยายามเข้าไปหาผู้นำ ส่วนความสุข คือ สิ่งที่ทุกคนพยายามดึงไป แต่ผู้พิการอยู่นอกวงเหมือนจะวิ่งทั้งที่อยู่บนวีลแชร์ คนอื่นไปรวมกันแล้วแต่คนพิการยังขยับได้นิดเดียว ผู้สูงอายุขยับมาหาพระเหมือนกำลังขอความช่วยเหลือเพราะคนอื่นไม่สนใจ” ผู้สังเกตการณ์คนหนึ่งสะท้อนมุมมอง
 
   “ทุกคนที่เล่นละครเสมือนมีภาพว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร ผู้ว่าฯ กับเอกชนต้องเป็นผู้ร้าย ซึ่งสะท้อนว่าเรามีข้อจำกัดข้างในที่ไม่เคยทะลุเสียทีในเรื่องนโยบายสาธารณะ เพราะภาพที่เกิดขึ้นเป็นภาพจำและตีตราว่าแต่ละภาคส่วนคืออะไร แต่ภาพที่เราอยากให้เกิดและจินตนาการไปถึงคือ รูปธรรมในเชิงการทำงานร่วม ทรัพยากรที่มีจำกัด ผู้นำชุมชนท้องถิ่น คนในท้องถิ่นจับมือกันแล้ว ผู้ว่าฯ จะเข้ามาเสริมอย่างไร” ใครคนหนึ่งสะท้อนข้อสังเกตอย่างน่าสนใจ
 
   “ความจริงทรัพยากรไม่ได้จำกัด มีหลายวิธีให้ได้มา แต่คำถามคือจะทำให้มีความยั่งยืนได้อย่างไร ถ้าติดภาพว่า ชุมชนต้องตะกายหาอำนาจก็จะติดที่เดิม แต่ถ้ามองทะลุไป ก็จะสามารถหาทางออกไปจากเดิมได้” ผู้เข้าร่วมอีกคนหนึ่งออกความเห็น
 
   “ภาพที่เห็นสะท้อนถึงสังคมไทยที่ยังคงเป็นรูปแบบของการสงเคราะห์ เราจะร่วมกันทำอย่างไรเพื่อให้รูปแบบของสังคมไทยเปลี่ยนเป็นทำให้ทุกคนสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง แบ่งปัน ประสานมือเพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน” ดูเหมือนเป็นบทสรุปที่ผู้เข้าร่วมมีความเห็นตรงกัน
 
   หลังการแลกเปลี่ยนมุมมอง ศรชัยในฐานะผู้กำกับสรุปอีกครั้งว่า การแสดง ‘ละคร’ ที่เกิดขึ้น เป็นการจำลองให้เห็นว่า ปัญหามีความซับซ้อนอย่างไร ซึ่งหากทำไปเรื่อยๆ จะเห็นสิ่งที่ขาดหรือสิ่งที่ต้องเติมเข้ามา รวมทั้งอาจยังต้องมีตัวละครอีกมากมายมาเกี่ยวข้อง และอาจนำไปสู่การถอดรหัสขยายต่อไปอีกหลายมิติ ซึ่งกระบวนการละครที่นำมาใช้นี้ เรียกว่า การใช้เครื่องมือละครเพื่อสร้างแผนภูมิ 4 มิติ (4D mapping) เพื่อจำลองระบบอันซับซ้อนด้วยปัญญาญานจากร่างกายมนุษย์ เพื่อทำให้มองระบบและเห็นข้อมูลที่ผุดพราย จากมิติที่ตามองไม่เห็น ได้แก่ เวลา อารมณ์ความรู้สึก ความสัมพันธ์ และความเป็นมนุษย์
 
   ท้ายที่สุดแล้ว คำถามที่ว่า “เมืองเปลี่ยนคน หรือ คนเปลี่ยนเมือง” คงยังไม่มีคำตอบใดที่สมบูรณ์ หากแต่การทดลองเล็กๆ สามารถเปิดให้เห็นบทสนทนาจากภายในสู่ภายนอก ปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ที่เชื่อมร้อยกัน พลังแห่งจินตนาการที่มาจากผู้คนอันหลากหลาย แม้มองไม่เห็นแต่ส่งต่อถึงกันและปลดปล่อยกลายเป็นพลังได้มากมายไร้ขอบเขต พลังแห่งการรู้จักตนเองและผู้อื่นน่าจะพาไปสู่เป้าหมาย ‘เมืองที่น่าอยู่’ สำหรับทุกคนที่พร้อมจับมือเดินไปด้วยกัน
 
    Cr. ขอขอบคุณ คุณศรชัย ฉัตรวิริยะชัย จากคณะละครเพื่อสังคม ‘มาร็องดู เธียเตอร์’
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ