เตรียมผลักดัน ระบบจัดการอาหารในโรงเรียนและชุมชน เข้า ครม. | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   สช. ระดมความเห็นจัดทำข้อเสนอนโยบาย ‘ระบบการจัดการอาหารในโรงเรียนและชุมชน’ เตรียมผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ สร้างการมีส่วนร่วมในทุกระดับตั้งแต่จังหวัดถึงตำบล เน้นสร้างชุมชนเข้มแข็งป้อนวัตถุดิบที่ปลอดภัยให้โรงเรียน ด้าน 5 หน่วยงานรัฐรับลูกพร้อมดำเนินการ
 
   เมื่อวันที่ 26-27 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัด การประชุมเชิงปฏิบัติการขยายผลการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมว่าด้วย เรื่อง ระบบการจัดการอาหารในโรงเรียนและชุมชน ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันทั้งในระดับนโยบายและพื้นที่ปฏิบัติการ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงาน สถาบันวิชาการ องค์กรภาคเอกชน องค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 200 คน
 
   นางทิพรัตน์ นพลดารมย์ กรรมการบริหาร รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ระบบการจัดการอาหารในโรงเรียน เป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2557 ซึ่งมีจุดเริ่มจากปัญหาทุพโภชนาการในเด็กและเยาวชน และการนำเสนอข่าวปัญหาอาหารกลางวันของนักเรียนที่ไม่ได้คุณภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการประชุมครั้งนี้ เป็นเวทีที่เปิดให้หน่วยงานภาคีทุกภาคส่วนที่มีประสบการณ์ในการจัดการระบบอาหารในโรงเรียนโดยเชื่อมกับระบบการผลิตของชุมชนจากทั่วประเทศ มาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กลไก กระบวนการ เพื่อยกระดับการดำเนินงานและที่สำคัญ จะได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การขยายผลไปยังพื้นที่อื่น โดยหวังผลให้เกิดการขับเคลื่อนที่ครอบคลุมทั่วประเทศโดยเร็ว
 
   นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลและนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาวะของเด็กทั้ง 4 มิติโดยมอบนโยบายให้กับหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องแล้ว จึงยินดีรับข้อเสนอทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติจากการประชุมครั้งนี้ ไปรายงานเพื่อพิจารณาสนับสนุนให้เกิดผลสำเร็จได้จริง
 
   โดยในการประชุม มีการเสวนา บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อการขับเคลื่อนระบบการจัดการอาหารในโรงเรียนและชุมชน โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ดร.ยงยุทธ สุวรรณบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสมุทรปราการ อดีตนายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ นายประเสริฐ สุขจิต นายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นตำบลเมืองลีง จังหวัดสุรินทร์ นายถิรยุทธ ฉันติกุล รองนายกเทศมนตรีนครแม่สอด จังหวัดตาก และนายเกษม แก้วเจริญ นายกสมาคมอาหารธรรมชาติยั่งยืน จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีข้อสรุปตรงกันว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทหน้าที่โดยตรงและสามารถให้การสนับสนุนการดำเนินงานนี้ได้ผ่านการจัดทำแผนปฏิบัติการและการใช้งบประมาณในแต่ละปี แต่ผลสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ไม่เฉพาะจากท้องถิ่นเท่านั้น แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง เกษตรกร ชุมชน และการสนับสนุนเชิงวิชาการ/เครื่องมือจากหน่วยงานองค์กรภาคีเครือข่ายอื่นในพื้นที่
 
   หลังการเสวนา เป็นการแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนระดมความเห็นใน 3 กลุ่มประเด็น ได้แก่ (1) ความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย (2) สุขนิสัย อาหารศึกษา และ (3) การจัดการอาหารในโรงเรียนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม โดยมีตั้งเป้าหมายท้าทายร่วมกันว่า เมื่อสิ้นปี 2563 โรงเรียนร้อยละ 50 และในสิ้นปี 2565 โรงเรียนทุกแห่ง ต้องมีอาหารที่สะอาด ปลอดภัยและมีโภชนาการครบถ้วน โดยมีข้อเสนอทั้งต่อหน่วยงานภาครัฐใน 5 กระทรวงหลัก อปท. สถาบันวิชาการ ชุมชนและภาคประชาสังคม พิจารณาดำเนินการ
 
   ในช่วงสุดท้ายของการประชุมฯ มีการเสวนา เรื่อง “ความเห็นต่อข้อเสนอเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติการฯ บนความร่วมมือของ 5 กระทรวงหลักในการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ว่าด้วยเรื่อง ระบบการจัดการอาหารในโรงเรียนและชุมชน” โดยมี นายอารยะ โรจนวณิชชากร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ดำเนินการเสวนาและรับที่จะเป็นผู้ประสานติดตามการผลักดันในระดับนโยบาย
 
   พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เสนอให้พิจารณาใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนนักโภชนาการโดยพัฒนาโปรแกรม Thai School Lunch รองรับตลอดจนการเชื่อมข้อมูลองค์ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการที่แต่ละหน่วยงานทำอยู่ให้อยู่บนฐานเดียวกันเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ แต่ต้องง่ายต่อการใช้งานและการเข้าถึง สำหรับข้อเสนออื่นๆ เห็นด้วยที่จะผลักดันให้มีการขับเคลื่อนบนความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ สำหรับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบาทภารกิจของกรมอนามัยและกระทรวงสาธารณสุข จะได้นำเสนอต่อผู้บริหารและรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
 
   นายวรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการกองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งว่า ข้อเสนอต่อกระทรวงเกษตรฯ สอดคล้องกับนโยบายหลักของกระทรวงฯ ใน 3 ข้อที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและขับเคลื่อนการผลิตอาหารอินทรีย์ ประกอบด้วย (1) การผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืนฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (2) การขยายพื้นที่และจัดทำการตลาดผลผลิตเกษตรอินทรีย์ และ (3) การทำระบบสารสนเทศเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ซื้อ ผู้ผลิตและผู้ขาย สำหรับข้อเสนออื่นๆ ที่ต้องให้ความร่วมมือกับหน่วยงานองค์กรภาคีอื่นๆ ไม่ขัดข้องและรับไปพิจารณา
 
   ดร.สุปิยา เจริญศิริวัฒน์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แจ้งว่า สวทช. ได้พัฒนาคิดไซส์ (Kidsize) หรือระบบติดตามน้ำหนักและส่วนสูงในเด็กเล็กทดแทนวิธีเก่าที่เกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย รวมทั้งรับที่จะพัฒนาสมรรถนะโปรแกรม Thai school lunch รวมทั้งการเป็นเจ้าภาพจัดทำ Big DATA ตามข้อเสนอ แต่ต้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยนำไปขยายให้เกิดการใช้งานเพราะจะช่วยให้มีข้อมูลสถานการณ์แบบเรียลไทม์ได้
 
   นายทรงวุฒิ มลิวัลย์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ แจ้งว่า อยู่ระหว่างการเสนอการเพิ่มงบประมาณค่าอาหารให้แก่นักเรียน ซึ่งมีการปรับระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างโดยมีข้อตกลงร่วมกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินไปในบางเรื่องแล้ว และแจ้งไปยังโรงเรียนผ่านสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับเขต ซึ่งกำหนดให้สามารถจัดซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากชุมชนได้และถือเป็นตัวชี้วัดหนึ่ง มีการจัดตั้งกลไกกำกับติดตามในทุกระดับ แต่อาจจะยังไม่มีความเข้าใจถึงเป้าหมายที่ชัดเจน รวมทั้งยังไม่มีภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาร่วมในกลไกตามข้อเสนอ เว้นแต่ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงรับข้อเสนอการเพิ่มองค์ประกอบในกลไกการดำเนินงานเพิ่มตามข้อเสนอ
 
   นายสุพจน์ จิตร์เพ็ชร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการจัดการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการบรรจุนักโภชนาการเพื่อดูแลคุณภาพอาหารกลางวันในโรงเรียนว่า กฎหมายเปิดกว้างให้ท้องถิ่นแต่ละแห่งสามารถขอบรรจุนักโภชนาการได้แต่ให้พิจารณาบนความพร้อมและงบประมาณ ที่ผ่านมาโดยส่วนใหญ่มีการประสานขอรับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลที่มีความพร้อมในเชิงวิชาการและองค์ความรู้ ส่วนการสนับสนุนงบประมาณสมทบให้แก่โรงเรียนในสังกัดอื่น ท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยข้อบังคับของการงบประมาณ และขอขอบคุณหน่วยงานองค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุน พัฒนาการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเรื่องนี้ เพราะการดูแลเด็กในพื้นที่ ที่เป็นเหมือนลูกของตนเอง เป็นหน้าที่ที่สำคัญยิ่งของท้องถิ่น
 
   ทั้งนี้ ข้อเสนอต่างๆ ที่ได้จากเวทีจะมีการสรุปและเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อให้นำไปสู่การกำหนดนโยบายและผลักดันให้เกิดผลทางปฏิบัติต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ