เปิดม่านสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11 ป้องกันโรคยุค 4.0 ประชาชนต้องรู้เท่าทันด้านสุขภาพ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11 ปี 2561 กระตุ้นสังคมไทยรู้เท่าทันสุขภาพ ลดการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ พร้อมกำกับดูแลอีสปอร์ตปกป้องเด็กและเยาวชนไทย ขยายพื้นที่สาธารณะเพื่อประชาชน และการคุ้มครองผู้บริโภคทางทันตกรรม หลังพบโลกยุค 4.0 เติบโตพร้อมโรคจากพฤติกรรมผู้บริโภค
 
   วันนี้ (วันที่ 19 ตุลาคม 2561) ณ ห้องแซฟไฟร์ 1-2 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค ดินแดง กรุงเทพฯ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดแถลงข่าวการเตรียมความพร้อม เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 พ.ศ.2561 ซึ่งงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 ธันวาคม 2561 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
 
   นพ.กิจจา เรืองไทย ประธาน คจ.สช. เปิดเผยว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพ ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ปีนี้ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 จัดภายใต้แนวคิดหลัก “รู้เท่าทันสุขภาพ ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ” เน้นย้ำความสำคัญของระบบสุขภาพในโลกยุค 4.0 ที่โรคหลายชนิดเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ผู้บริโภคจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจและมีทักษะในการดูแลตนเอง ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารยุคดิจิทัลที่ท่วมท้นและสื่อสารถึงกันอย่างรวดเร็ว ปี 2561 จึงมีระเบียบวาระสำคัญ 4 เรื่องที่จะเข้าสู่การพิจารณาเพื่อเสนอนโยบายสาธารณะในการจัดการปัญหา ได้แก่ 1.ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ 2.การร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 3.ความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อสุขภาวะเด็ก และ 4.การคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการทันตกรรม
 
   “ระเบียบวาระที่จะพิจารณากันในปีนี้ จะเป็นการเสนอทางออกของโรคที่ป้องกันและจัดการได้ด้วยการปรับวิถีชีวิตของประชาชน โดยจะเห็นได้ว่าทั้ง 4 เรื่องล้วนสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนในยุคดิจิทัลทั้งสิ้น ปีนี้เราจึงได้ขยายกลุ่มสมาชิกไปยังภาคีเครือข่ายคนรุ่นใหม่ นิสิต นักศึกษา และผู้นำท้องถิ่นต่างๆ เพื่อให้เกิดพลังการขับเคลื่อนมติไปสู่การปฏิบัติในอนาคตด้วย ทั้งนี้ คาดว่าปีนี้จะมีภาคีเครือข่ายและผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 2,000 คน”
 
   นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อดีตประธาน คจ.สช. ปี 2559-2560 ปัจจุบันเป็น กรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ.2551-2560 ได้เกิดมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติขึ้นแล้ว จำนวน 77 มติ โดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้ให้ความสำคัญกับการติดตามเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนมติไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการแต่งตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ซึ่งมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร) เป็นประธาน ทุกปีในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจึงมีการรายงานผลสำเร็จของการขับเคลื่อนมติ รวมทั้งเปิดเวทีแลกเปลี่ยนหาทางออกร่วมกันของภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นที่ยังคงมีปัญหาอุปสรรคที่ทำให้การนำไปปฏิบัติไม่เกิดผลด้วย
 
   “ในโอกาสที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ จะเริ่มในวันที่ 12 ธันวาคม ซึ่งตรงกับวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล หรือ Universal Health Coverage Day (UHC Day) ที่สหประชาชาติประกาศไว้ เราจึงจะนำเอาความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพไทย ซึ่งตั้งแต่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 1 ก็มีมติที่เกี่ยวข้องเรื่องความสามารถในการเข้าถึงและได้รับบริการสาธารณสุขมารายงาน และถือเป็นการเปิดงาน UHC Day ครั้งที่ 2 ในประเทศไทยไปพร้อมกัน นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนผลการขับเคลื่อนมติที่สำคัญ เช่น การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพ การแก้ไขอุบัติเหตุทางถนน และกลุ่มมติเรื่องการควบคุมและป้องกันโรคไม่ติดต่อด้วย”
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า แนวคิดหลักของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 เรื่อง การรู้เท่าทันสุขภาพ หรือ Health Literacy เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังรณรงค์ให้ผู้บริโภคมีความรอบรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) เรื่อง “การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์” แผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2
 
   “การขับเคลื่อนกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จ สามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในทุกระดับได้ และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11 นี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่มุ่งสู่ทศวรรษที่ 2 ได้อย่างเข้มแข็งและนำไปสู่ก้าวที่ยั่งยืนของสมัชชาสุขภาพต่อไป เพราะสุขภาพเป็นมิติที่กว้างครอบคลุมทั้งสุขภาพกาย ใจ สังคมและสุขภาพทางปัญญา การพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคและประชาชนให้รู้เท่าทันสุขภาพ จำแนกแยกแยะข้อมูลที่ถูกต้อง หรือหลอกลวงได้ มีทัศนคติมุ่งมั่นในการดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว มีจิตสาธารณะและเชื่อมั่นว่าประชาชนมีความสามารถที่จะร่วมเสนอนโยบายในการดูแลสุขภาพ จึงเป็นประเด็นสำคัญ”
 
   สำหรับรายละเอียดของระเบียบวาระ 4 ประเด็นที่จะมีการพิจารณากันนั้น ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ เลขานุการคณะทำงานฯ ระเบียบวาระ “ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ” กล่าวว่า การจัดการปัญหาโรคไม่ติดต่อที่สำคัญ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยก่อนวัยอันควรจำนวนมาก จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในการสร้างความรู้เท่าทันด้านสุขภาพให้แก่ผู้ป่วยและผู้บริโภค ให้ประชาชนมีความสามารถในการค้นหาคำตอบ เข้าถึงแหล่งข้อมูล ตรวจสอบ ทำความเข้าใจ และนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์และความจำเป็น โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาระบบจัดการและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสุขภาพ ส่งเสริมกิจการที่รับผิดชอบต่อสังคม พัฒนาชุดสิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพและขับเคลื่อนนโยบายเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพผ่านกลไกระดับชาติและพื้นที่ และส่งเสริมการวิจัยระบบสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตและสามารถลดภาระงบประมาณที่ใช้ในระบบสุขภาพได้อีกด้วย
 
   ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ เลขานุการคณะทำงานฯ ระเบียบวาระ “การร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” กล่าวว่า พัฒนาการของความเป็นเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็วทำให้พื้นที่สาธารณะที่ชุมชนจะใช้ประโยชน์ร่วมกันลดลงไปมาก ทั้งๆ ที่พื้นที่สาธารณะมีความสำคัญต่อสุขภาวะ คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และความเท่าเทียมกันของสังคมอย่างมาก แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่สาธารณะเพียง 6 ตรม.ต่อคน ต่ำกว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้อย่างน้อย 9 ตรม. ต่อคน ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการความร่วมมือในการวางแผน ออกแบบและพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยปราศจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่ความเป็นเมืองสุขภาวะที่ดี (Wellness City) อย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
 
   ดร.ธีรารัตน์ พันทวี ประธานคณะทำงานฯ ระเบียบวาระ “ความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อสุขภาวะเด็ก” กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ได้มีมติเรื่อง การจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก 24 ชั่วโมง: กรณีเด็กไทยกับไอที ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสุขภาวะของเด็กและเยาวชนโดยตรง ในปีนี้ โลกดิจิทัลพัฒนารวดเร็ว แม้แต่วิดีโอเกมที่เด็กๆ เล่นกันก็พัฒนาเป็นอีสปอร์ต ซึ่งมีความห่วงกังวลในผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนว่าบางเกมอาจมีความรุนแรงและมีการพนันออนไลน์แอบแฝง อย่างไรก็ดี เนื่องจากกระแสโลกและกระแสสังคมไทยในปัจจุบัน ซึ่งหลายส่วนมองว่าอีสปอร์ตก็เป็นโอกาสในหลายๆ ด้าน จึงนำมาสู่การเสนอประเด็นนี้เข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะและสานพลังจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาและมีฉันทมติร่วมกันให้สังคมมีความเข้าใจ ร่วมรับผิดชอบ และรู้เท่าทันอีสปอร์ต เด็กและเยาวชนอยู่กับอีสปอร์ตได้อย่างปลอดภัย
 
   ทพ.ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล รองประธานคณะทำงานฯ ระเบียบวาระ “การคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการทันตกรรม” กล่าวว่า ปัจจุบันเกิดสถานการณ์การทำฟันเถื่อนและการจัดฟันที่ขาดคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยจำนวนมาก เนื่องจากยังมีข้อจำกัดของสิทธิประโยชน์จากระบบประกันสุขภาพประเภทต่างๆ และความสะดวกในการรับบริการทันตกรรมที่ปลอดภัยมีคุณภาพนั้นยังมีราคาสูงมาก ในขณะที่การทำฟันเถื่อนนั้นมีราคาที่ถูกกว่าปกติมาก รวมถึงมีการใช้ช่องทางโฆษณาออนไลน์ที่เข้าถึงตัวผู้บริโภครวดเร็ว ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันให้ประชาชนได้รับบริการทางทันตกรรมที่มีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัยอย่างเท่าเทียมกัน และมีการตรวจตราความปลอดภัยที่เข้มงวดเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
 
   การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้ง 11 พ.ศ.2561 ในปีนี้ นอกจากการพิจารณา 4 ระเบียบวาระสำคัญ และรายงานผลสำเร็จการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมาแล้ว ยังมีกิจกรรมน่าเรียนรู้ และร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น ทั้งนิทรรศการที่บอกเล่าหลากหลายเรื่องราวในลานสมัชชาสุขภาพ และห้องเสวนานโยบายสาธารณะที่น่าสนใจ เช่น ‘ธนาคารเวลา: นโยบายสร้างจิตอาสาในสังคมผู้สูงอายุ’, ‘สิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มประชากรเปราะบางกลุ่มผู้ต้องขังหญิง’ เป็นต้น ประชาชนผู้สนใจสามารถเข้าร่วม และติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.samatcha.org
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ