แนะรัฐเร่งยกเลิกใช้สาร ‘พาราควอต’ กำจัดอาหารอาบสารพิษ เคารพสิทธิสุขภาพ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   เวที สช.เจาะประเด็น ปลุกพลังทุกภาคส่วน เร่งรัฐบาลฟันธงยกเลิกใช้ยาฆ่าหญ้า ‘พาราควอต’ หลังพบ ๕๓ ประเทศทั่วโลกประกาศยกเลิกแล้ว ผลวิจัยพบเสี่ยงโรคผิวหนัง พาร์กินสัน ระบบประสาท เชื่อมโยงสตรีมีครรภ์และทารกแรกเกิด นักวิชาการเผยพบตกค้างในแหล่งดินและน้ำหลายจังหวัด ดูดซึมเข้าสู่พืช เครือข่ายนักธุรกิจฯ มั่นใจสุขภาพสำคัญกว่า แนะทำสัญญาความปลอดภัย ตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอนการผลิต
 
   วันนี้ (วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๑) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดเวที สช.เจาะประเด็น ครั้งที่ ๑/๒๕๖๑ หัวข้อ “พาราควอต: ‘ฆ่าหญ้า’ VS ‘คร่าสุขภาพ’ คนไทย” ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จ.นนทบุรี
 
   นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพในเรื่องเกษตรและอาหารปลอดภัย ต้องอยู่บนฐานคิดสำคัญ ๓ ประการ คือ ๑.การเคารพสิทธิด้านสุขภาพของบุคคล อาหารปลอดภัยนับเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ๒.ใช้หลักการป้องกันไว้ก่อน (Precaution principle) หากมีข้อมูลที่พิสูจน์ผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากพาราควอตมากมายเช่นนี้ เหตุใดจึงยังปล่อยให้ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะต้องบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัยต่อไป ๓.ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาการใช้พาราควอตซึ่งเป็นสารเคมีอันตรายอย่างยั่งยืน ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ เรื่อง “ความปลอดภัยทางอาหาร : การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” ซึ่งทำให้สังคมเกิดความตื่นตัว โดยล่าสุด คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่มี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้ยืนยันมติที่จะเสนอให้ยกเลิกการนำเข้าและการใช้สาร “พาราควอต” ซึ่งเป็นสารกำจัดวัชพืชอันตรายร้ายแรง
 
   “แผ่นดินไทยที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลก ต้องไม่เป็นแผ่นดินอาบยาพิษที่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชกันอย่างมากมายเช่นนี้ โดยเฉพาะพาราควอต เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่อยู่ในบัญชีอันตราย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งพิจารณายกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตนำเข้าและการใช้พาราควอตในประเทศ พร้อมไปกับการเร่งหาวิธีการกำจัดศัตรูพืชที่ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี ทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนและผู้บริโภคทั้งในและนอกประเทศเป็นสำคัญ ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยควรมีแบรนด์ของความปลอดภัยที่สร้างมูลค่าเพิ่มในตลาดโลก”
 
   ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความเสี่ยงต่อชีวิตและสุขภาพว่า สารพาราควอตหรือยาฆ่าหญ้าเป็นสารเคมีอันตรายที่มีพิษเฉียบพลันสูงและปัจจุบันยังไม่มียาถอนพิษ โดยมีประเทศที่ห้ามใช้แล้วประมาณ ๕๓ ประเทศ และประเทศที่จำกัดการใช้อีก ๑๕ ประเทศ เนื่องจากพบว่ามีความเสี่ยงต่อโรคพาร์กินสันและระบบประสาท จากการที่ภาครัฐยังคงให้จำหน่ายและใช้ในปัจจุบัน ทำให้ตรวจพบการปนเปื้อนในแหล่งน้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน น้ำประปาในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดน่านซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของประเทศ นอกจากนี้ยังตรวจพบการตกค้างในดิน เช่น จังหวัดนครสวรรค์ พิษณุโลก
 
   “มีการตรวจพบพาราควอตตกค้างในปัสสาวะหญิงตั้งครรภ์ใน ๓ จังหวัดที่มีการศึกษา ได้แก่ นครสวรรค์ กาญจนบุรี และอำนาจเจริญ โดยตรวจพบพาราควอตตกค้างในซีรัมมารดาและซีรัมสายสะดือทารกขณะคลอดบุตร นอกจากนี้ ยังพบในขี้เทาทารกแรกเกิดด้วย ซึ่งอาจส่งผลต่อพัฒนาการของทารก”
 
    ข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี ช่วงปี ๒๕๕๓–๒๕๕๙ พบอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยในประเทศที่ได้รับพิษถึง ๑๐.๒% และข้อมูลสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค สธ. ในปี ๒๕๖๐ พบการใช้พาราควอตฆ่าตัวตาย ๑๑๑ เหตุการณ์ คิดเป็นอัตรา ๐.๑๗ ต่อแสนประชากร ขณะที่พบผู้ป่วยด้วยพาราควอต ๓๓ คน หรือ ๐.๐๕ ต่อแสนประชากร ส่วนมากอาชีพเกษตรกรและรับจ้าง
 
   รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ประเทศไทยนำเข้าสารพาราควอตมาใช้เพื่อกำจัดวัชพืชในภาคเกษตรต่อเนื่องกว่า ๓๐ ปี มีการฉีดพ่นในอัตราส่วนที่สูงกว่าค่ากำหนดไว้ในฉลาก ส่งผลให้สารถูกดูดซับไว้ในดิน เกิด “การคายซับ” หรือปลดปล่อยสารละลายไปกับน้ำที่ไหลผ่าน ถ้าแหล่งน้ำนั้นใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค จะมีโอกาสเข้าสู่ร่างกายและน้ำที่มีสารพาราควอตปนอยู่สามารถเคลื่อนเข้าสู่รากของพืชเช่นเดียวกัน
 
   ทั้งนี้ มีรายงานวิจัยพบสารพาราควอตจากดินในมาเลเซียและไทย รวมถึงตกค้างในพืชหลายชนิด เช่น พืชตระกูลถั่วที่ เยอรมัน บราซิล แคนาดา รวมถึงข้าวโพดในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เป็นต้น
 
   รศ.ดร.พวงรัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับผลการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เก็บตัวอย่างทางสิ่งแวดล้อมมาตรวจวิเคราะห์ พบสารพาราควอตปนเปื้อนในแหล่งน้ำและดินของจังหวัดน่านและหนองบัวลำภู รวมถึงพบการปนเปื้อนของสารชนิดนี้ในน้ำประปาหมู่บ้านและในผักท้องถิ่นที่ปลูกในพื้นที่ นอกจากนั้น ยังพบการตกค้างในผักที่สุ่มเก็บจากห้างสรรพสินค้าและร้านค้าหลายแห่งจากหลายจังหวัด
 
   “การตรวจพบพาราควอตในน้ำและผัก เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคต้องคำนึงถึงว่า การได้รับสารพาราควอตเข้าสู่ร่างกายไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีและผู้ที่อยู่ในพื้นที่การเกษตร แต่ผู้บริโภคคนเมืองก็ล้วนมีโอกาสได้รับสารพาราควอตผ่านการกินพืชผัก ไม่แตกต่างไปจากคนท้องถิ่นหรือเกษตรกร”
 
   ดังนั้นภาครัฐควรมีนโยบายลด ละ เลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรและส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์ พร้อมให้ความรู้กับเกษตรกร มีสารทดแทนที่ปลอดภัย และหากยังจำเป็นต้องใช้ ควรคัดเลือกสารเคมีจากรายงานหรืองานวิจัยที่มีมาตรฐานสากล คำนึงถึงความปลอดภัยผู้ใช้งาน การตกค้างในสิ่งแวดล้อม การย่อยสลายในธรรมชาติ และผลกระทบสุขภาพ ตลอดจนให้ความสำคัญกับเครื่องมือตรวจวัดขององค์กรภาครัฐ เพื่อเฝ้าระวังการแพร่กระจายการตกค้างในน้ำและอาหาร
 
   ด้าน นายวิเชียร เจษฎากานต์ ประธานกรรมการอันดับ 2 เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ถ้านโยบายการแก้ปัญหาสารพาราควอตไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม ต่อไปการจัดการสารเคมีอื่นๆ ที่อันตรายน้อยกว่าก็คงไม่มีทางประสบความสำเร็จ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยผลิตอาหารที่ปลอดภัยเพื่อขายต่างชาติได้ แต่เวลาขายคนในประเทศไทยกลับไม่จำเป็นหรืออย่างไร ประชาชนทุกคนควรมีสิทธิพื้นฐานและเสมอภาคในการได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย
 
   “เรามักจะคิดแค่การสูญเสียผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ไม่ใส่ใจต่อการสูญเสียของทรัพยากรและระบบนิเวศน์ ไม่เคยตระหนักถึงงบประมาณแก้ปัญหาและดูแลผู้ได้รับผลกระทบ ดังนั้น จึงเชื่อว่านโยบายการใช้สารเคมีเกษตรขณะนี้ไม่คุ้มค่าและไม่ใช่ทางเลือกที่ยั่งยืน”
 
   นายวิเชียรกล่าวต่อไปว่า ถึงเวลาที่ภาครัฐต้องเปลี่ยนแปลงโดยใช้มาตรการทางกฎหมายให้ผู้ผลิตอาหารทั้งระบบมีส่วนรับผิดชอบและสามารถตรวจย้อนกลับไปสู่ผู้บกพร่องได้ เช่น เจ้าของตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต พ่อค้าคนกลาง เกษตรกร ผู้ขายสารเคมี ฯลฯ พร้อมทำความร่วมมือภาคเอกชนสร้างข้อตกลง “สัญญาความปลอดภัยทางอาหาร” โดยองค์กรธุรกิจให้เงินและสนับสนุนการทำงานของภาครัฐและเอ็นจีโอในการตรวจสอบสินค้าและอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบพร้อมเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ สร้างครัวและอาหารของโลกที่ปลอดภัย
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ