คุมเข้มเวชระเบียน-ฐานข้อมูลผู้ป่วย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินโครงการและยกร่าง “แนวปฏิบัติตามมาตรา 7 พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข” เพื่อออกเป็นแนวทางปฏิบัติให้แก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในระบบสุขภาพ ดำเนินการสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ที่กำหนดให้ข้อมูลด้านสุขภาพ รวมถึงเวชระเบียนผู้ป่วยที่อยู่ในสถานพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุขต่างๆ เป็นความลับส่วนบุคคล
 
   อ.ไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมาย สุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้รับผิดชอบโครงการร่างแนวปฏิบัติฯ ระบุว่า หัวใจสำคัญของมาตรา 7 เป็นไปตามหลักความไว้วางใจระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ที่จะเชื่อใจและวางใจว่าข้อมูลสุขภาพของตนจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการดูแลรักษาพยาบาล แต่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ อาจมีอุปสรรคปัญหาจึงต้องนำบทบัญญัติแต่ละข้อความมาอธิบายและวางแนวทางปฏิบัติ ให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าข้อมูลลักษณะใดต้องปกปิดเป็นความลับ และข้อมูลลักษณะใดเข้าข้อยกเว้นให้เปิดเผยได้ การอธิบายถึงสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยเอง และผู้ปฏิบัติงานควรต้องระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการกระทำเรื่องใดบ้าง
 
   เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแนวปฏิบัติฯ มีผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ สถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอื่นๆ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิกว่า 100 คน เข้าร่วมให้ความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง อันจะนำมาสู่การปรับปรุงร่างแนวปฏิบัติให้สามารถใช้ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ
 
   อ.ไพศาล กล่าวว่า กรอบความหมายของ ”ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล” เป็นเรื่องแรกที่แนวปฏิบัติให้ความสำคัญ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันว่าหมายถึง ข้อมูลเวชระเบียน ประวัติผู้ป่วย หรือผู้ให้บริการด้านสาธารณสุข เช่น ข้อมูลทางคลินิกของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัย และตรวจรักษา ภาพถ่าย วิดีโอ เทปบันทึกเสียง หรือภาพอื่นๆของผู้ป่วย อาทิ ฟิล์มเอกซเรย์ เป็นต้น หรือข้อมูลอื่นๆที่สามารถระบุตัวผู้ป่วยโดยตรงหรือโดยอ้อม
 
   ดังนั้นหากข้อมูลสุขภาพที่มีการลบสิ่งที่ระบุตัวตนของบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยหรือผู้มารับบริการ เช่น ลบชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวผู้ป่วย (HN) หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือข้อมูลใดๆที่ระบุตัวตนได้ ก็จะไม่ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลสามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอน หรือวิจัยได้ รวมถึงการเปิดเผยหรือการใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 7 โดยเฉพาะการส่งหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยของสถานพยาบาลอื่น (refer) หรือการส่งข้อมูลการรักษาผู้ป่วยไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่าย เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง อย่างไรก็ตามหน่วยงานเหล่านี้ก็จำเป็นต้องเก็บรักษาข้อมูลเวชระเบียนผู้ป่วยไว้เป็นความลับด้วยเช่นกัน
 
   นอกจากนี้ ยังมีข้อยกเว้นเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้ต้องเปิดเผย เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 10 และมาตรา 31 เพื่อควบคุมโรคติดต่ออันตราย และกรณีเปิดเผยเพราะมีความจำเป็น เพื่อป้องกันอันตรายต่อชีวิตหรือสุขภาพของบุคคลอื่น เช่น กรณีตรวจพบผู้ป่วยที่มีคู่สมรสแล้วติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น
 
   อ.ไพศาล กล่าวว่า อีกเรื่องที่ระบุคำแนะนำในแนวปฏิบัติ ให้เวชระเบียนผู้ป่วยที่จัดเก็บในระบบคอมพิวเตอร์ของสถานพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขต้องมีระบบการรักษาความปลอดภัย เช่น กำหนดผู้ที่สามารถเข้าถึงข้อมูล รวมถึงให้มีการหลีกเลี่ยงการส่งเวชระเบียนผู้ป่วยผ่านแอปพลิเคชั่น หรือวิธีการที่ไม่มีระบบรักษาความปลอดภัย หรือมีความเสี่ยงที่จะนำข้อมูลไปเผยแพร่ เช่น การใช้โปรแกรม LINE ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่ข้อมูลผู้ป่วย จะถูกส่งต่อไปยังบุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง และอาจนำไปเผยแพร่ที่จะสร้างความเสียหายได้ และนอกจากการคุ้มครองข้อมูลผู้ป่วยแล้ว แนวปฏิบัติยังย้ำถึง “สิทธิของผู้ป่วย”ในการเข้าถึงข้อมูลของตนเองด้วย จึงกำหนดให้สถานพยาบาลต้องมอบข้อมูลเวชระเบียนของผู้ป่วยภายในเวลารวดเร็วเมื่อผู้นั้นร้องขอ และให้ผู้ป่วยมอบหมายให้บุคคลอื่นเข้าถึงข้อมูลได้
 
   สำหรับกรณีที่ประชาชนมีปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลในเวชระเบียนของตนเอง อ.ไพศาล ระบุว่า แนวปฏิบัติกำหนดขั้นตอนให้ผู้ป่วยร้องเรียนต่อผู้บริหารของสถานพยาบาลนั้น หรือร้องเรียนต่อหน่วยงานต้นสังกัดของสถานพยาบาล เช่น กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร หรือสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ (สคร.) รวมไปถึงขอคำแนะนำจากเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์
 
   นับได้ว่าแนวปฏิบัติฉบับนี้จะเข้ามาช่วยให้ข้อมูลด้านสุขภาพนำมาซึ่งประโยชน์มากกว่าที่จะสร้างโทษให้ผู้ป่วยเองหรือเป็นอุปสรรคกับการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางแพทย์และสาธารณสุข สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
   สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ
   สช.เดินหน้าคุ้มครองข้อมูลสุขภาพคนไทย
   สช.วางแนวปฏิบัติใหม่คุ้มครองสิทธิผู้ป่วย คุ้มครองข้อมูลสุขภาพในยุคดิจิตอล
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ