‘ความพึงพอใจ’ จากคนในพื้นที่ห่างไกล เมื่อ ‘Telemedicine’ ช่วยลดช่องว่างทางสุขภาพ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ระยะเวลา 1 ปีเต็ม นับตั้งแต่ที่ “โครงการการปรับใช้นวัตกรรมผสมผสานระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) สู่สถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง (อบจ.ลำปาง)” ที่ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ดำเนินการศึกษาวิจัย เพียงพอที่จะฉายภาพให้เห็นถึงแง่มุม ความคิด และทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชนในพื้นที่ห่างไกลในอนาคต

หนึ่งในผลลัพธ์ที่ส่งผ่านออกมาอย่างชัดเจน จากผลการดำเนินงานในช่วงตลอด 1 ปีนี้ คือ “ความพึงพอใจ” ที่กลุ่มเป้าหมายทั้งประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ระบบ อาทิ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) บุคลากรสุขภาพระดับปฐมภูมิ ต่างประเมินคะแนนไว้ในระดับสูง ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดว่า Telemedicine ได้เข้ามาช่วยปัดเป่าปัญหาของพวกเขาออกไปได้อย่างแท้จริง

 

ผศ.ดร.ธีรารัตน์ บุญกุณะ อาจารย์ประจำสาขาการพยาบาลชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง หนึ่งในนักวิจัยของโครงการที่ได้ร่วมลงพื้นที่ครบทั้ง 11 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) นำร่อง ยืนยันว่าภาพจินตนาการจากการอ่านรายงานอย่างเดียวนั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับภาพจริงที่ได้ลงไปสัมผัสในพื้นที่ด้วยตัวเอง

เธอ เล่าว่า ในช่วงเริ่มต้นของการลงไปศึกษาเพื่อค้นหาความต้องการจากพื้นที่ พบว่าผู้คนต่างมีข้อสงสัยถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น สีหน้าแรกเริ่มจึงเป็นความกังวล โดยเฉพาะในกลุ่ม อสม. ที่ยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ แต่หลังจากมีการอธิบายให้ข้อมูลความรู้ที่มากขึ้น เมื่อเขาได้เห็นว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนั้น จะเป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่อย่างไร สีหน้าของ อสม. หลายพื้นที่ก็แปรเปลี่ยนเป็นแววตาของความมุ่งมั่นที่มองว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่นี้เป็นความท้าทายใหม่

“ตอนเราลงไปในพื้นที่ เห็นบางบ้านเป็นผู้ป่วยจริง แต่หลายปีแล้วเขาไม่เคยได้พบแพทย์ บางบ้านเป็นผู้สูงอายุที่อยู่กันตามลำพัง พอเขาเห็นเราแล้วน้ำตาไหลริน ไม่ใช่เพราะด้วยความเสียใจ แต่เป็นความปลื้มปิติจากการที่ไม่เคยมีบุคคลใดจากภายนอกเข้ามาหาเขา มารับฟังเสียงของพวกเขา สิ่งเหล่านี้จึงยิ่งสะท้อนถึงความจำเป็นของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพทางไกล ที่จะเกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่ให้มากขึ้น” ผศ.ดร.ธีรารัตน์ สะท้อน

ตลอดเส้นทางของกระบวนการศึกษา ออกแบบ เพื่อพัฒนาระบบ หรือการทำ Service Design เธอเล่าว่า นี่ไม่ใช่สมการ 1+1=2 หมายความว่าแม้เราจะมีนโยบายหรือแนวปฏิบัติกลาง หากความจริงแล้วทุกพื้นที่นั้นไม่สามารถที่จะรับไปปฏิบัติได้ทั้งหมด ทว่าแต่ละพื้นที่จะต้องมีการปรับให้เหมะสมและสามารถดำเนินการได้ เช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ตามประเภทสีเขียว เหลือง แดง แต่ละพื้นที่ก็มีเส้นทางให้บริการของแต่ละสีที่ไม่เหมือนกัน จึงถือเป็นความท้าทายหนึ่งของทีมออกแบบ

ท้ายที่สุดระบบ Telemedicine ที่โครงการวิจัยนี้สร้างขึ้น จึงอยู่ภายใต้ลักษณะการทำงานที่แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ 1. @Home ให้บริการที่บ้านสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองออกมาจุดนัดหรือหน่วยบริการได้ 2. @Hub ให้บริการ ณ จุดนัดที่ใช้เป็นฐานการดูแลสุขภาพในชุมชน สำหรับผู้ป่วยที่สามารถเดินทางมาได้ในระยะสั้นๆ โดยผู้รับผิดชอบการดูแลในสองส่วนแรกนี้จะเป็น อสม. หรือที่เรียกว่า “หมอ 1”

3. @Hos1 บริการปรึกษาโดยบุคลากร รพ.สต. ที่เรียกว่า “หมอ 2” สำหรับผู้ป่วยที่ตรวจรักษาตามนัด หรือไม่มีภาวะแทรกซ้อน 4. @Hos2 บริการปรึกษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) หรือโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) ที่เรียกว่า “หมอ 3” สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อน หรือมีภาวะแทรกซ้อน

ภายหลังจากที่ระบบนี้ถูกออกแบบและเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการปฏิบัติ เธออธิบายว่าแม้จะยังเป็นระยะเวลาที่สั้นและฉายผลลัพธ์ของบริการได้ไม่ชัดเจนมากนัก แต่ภาพความประทับใจหลายอย่างก็ได้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความกระตือรือร้นของ อสม. ที่เข้ามาเรียนรู้และใช้งาน รวมไปถึงภาพการมีส่วนร่วมของชุมชน เพราะหลายครั้งการ Telemedicine ก็ไม่ได้สื่อสารเพียงแค่กับผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังมีคนในครอบครัว ญาติ หรือแม้แต่เพื่อนบ้าน เข้ามามีส่วนร่วมให้ข้อมูลและเรียนรู้การดูแลสุขภาพไปพร้อมกันด้วย

ขณะที่ผลลัพธ์ในเชิงรูปธรรมของโครงการนี้ ถูกสะท้อนออกมาเป็นตัวเลข “ความพึงพอใจ” ของผู้รับบริการ ซึ่งพบว่ามีความพึงพอใจแต่ละด้านอยู่ในระดับ “มาก” ถึง “มากที่สุด” แบ่งเป็น 1. ด้านการเข้าถึงบริการ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด (4.60) โดยพบว่าผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ หรือขาดความต่อเนื่องในการรักษา สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้มากขึ้น มีความสะดวก และรวดเร็ว 2. ด้านระยะเวลาการเข้าบริการ อยู่ในระดับมากที่สุด (4.92) โดยพบว่าสามารถลดระยะเวลาและระยะทางในการเข้ารับบริการสุขภาพของผู้ป่วย รวมถึงสามารถลดระยะเวลาการรอคอยในการพบแพทย์ได้

3. ด้านค่าใช้จ่าย มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด (4.98) โดยสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล (ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าเสียโอกาส ฯลฯ ของผู้ป่วย ญาติ หรือผู้พาผู้ป่วยไปสถานพยาบาล) 4. ด้านคุณภาพการบริการของบุคลากรสุขภาพ อยู่ในระดับมาก (4.04) ส่วนคุณภาพการบริการของ อสม. หรือแกนนำในพื้นที่ อยู่ในระดับมาก (3.96)

สำหรับมุมมองความเห็นจาก “หมอ 1” อย่าง พิพัฒน์ ขวัญธนธีระวุฒิ ผู้ใหญ่บ้านแม่คำหล้า หมู่ 13 ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง ในฐานะประธาน อสม.บ้านแม่คำหล้า เล่าว่า หมู่บ้านของตนเป็นชนเผ่าอาข่า ในการพบแพทย์ของชาวบ้านจะต้องเดินทางไปที่ จ.พะเยา เพราะอยู่ใกล้กว่า จ.ลำปาง แต่ก็มีระยะทางถึง 50 กิโลเมตร ซึ่งการไปในแต่ละครั้งจะต้องเสียค่ารถถึงราว 1,000 บาท นอกเหนือจากนั้นยังต้องจ้างล่ามแปลภาษา เพราะหลายคนไม่สามารถพูดไทยได้ ฉะนั้นการพบแพทย์แต่ละครั้งจึงมีอย่างน้อย 3 คน ที่ต้องใช้เวลาทั้งวันไปกับการเดินทางและรอคอยคิว ในขณะที่การเดินทางก็ยากลำบาก ช่วงฤดูฝนต้องพันโซ่กับล้อรถ ทั้งยังเสี่ยงที่จะเจอดินสไลด์ขวางทาง

เขายืนยันว่า ระบบ Telemedicine จึงจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการช่วยลดความยากลำบาก รวมทั้งลดภาระค่าใช้จ่ายของชาวบ้านในการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยในแต่ละครั้งจะมีการนัดผู้ป่วยรวมกันเป็นกลุ่ม มี อสม. เป็นตัวกลางในการประสานและทำหน้าที่ล่ามให้กับชาวบ้าน ส่วนถ้าเป็นผู้สูงวัยก็อาจรออยู่ที่บ้าน และเมื่อพบแพทย์เสร็จแล้วทาง อสม. ก็จะเป็นผู้ที่ลงไปรับยากลับมาให้ ซึ่งแม้ภาระหน้าที่ต่างๆ จะเพิ่มเข้ามาที่ อสม. มากขึ้น ทว่าแต่ละคนก็พร้อมที่จะเสียสละ

“ทีม อสม. บ้านผมได้เปรียบอย่างหนึ่ง ตรงที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่น อายุสูงสุดก็แค่ประมาณ 50 ปี ซึ่งตั้งแต่มี Telemedicine ทุกคนก็มาคุยว่าจะช่วยกันเพื่อหมู่บ้านของเรา โดยแบ่งกันเป็นกลุ่มๆ เวียนกันอยู่ดูแล เวียนกันไปรับยา แต่เรื่องหนึ่งที่เขาเรียกร้องกันมาคือพอเขาเสียสละเวลาแล้ว ก็อาจทำให้ขาดรายได้ จุดนี้ก็คิดว่าอยากให้มีค่าตอบแทนอะไรช่วยบ้าง ส่วนอุปสรรคอีกประการคือเรื่องระบบสัญญาณ ที่อยากให้ครอบคลุมกว่านี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท” ประธาน อสม. รายนี้อธิบาย

ถัดมาที่มุมมองของ “หมอ 2” ศศิธร ศรีวิลัยนุรักษ์ ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านใหม่รัตนโกสินทร์ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เล่าว่า รพ.สต. ของเธอได้ขึ้นทะเบียนเป็นเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ (NPCU) ตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 และยังเคยขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่พร้อมทำ Telemedicine มาตั้งแต่ปี 2565 แต่ด้วยข้อจำกัดด้านอุปกรณ์จึงยังไม่สามารถทำได้ครอบคลุม และเป็นเพียงการใช้งานระหว่างหน่วยบริการกับหน่วยบริการด้วยกันมากกว่า โดยบุคลากร รพ.สต. ต้องเข้าไปหาชาวบ้านถึงในหมู่บ้าน จึงจะสามารถทำ Telemedicine กับโรงพยาบาลได้

อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่ รพ.สต. ได้มีการถ่ายโอนมายัง อบจ. พร้อมกับที่มีโครงการวิจัยของ สช. เข้ามา เธอมองเห็นว่าเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนและอยากทำอยู่แล้ว จึงได้ขานรับเข้าร่วมโครงการนี้ในทันที โดยเริ่มแรกได้นำมาใช้กับผู้ป่วยกลุ่มโรค NCDs จากเดิมที่ต้องเข้ามารับบริการใน รพ.สต. ก็กลายเป็นการประสานผ่าน อสม. แทน ซึ่งข้อดีคือสามารถตอบโจทย์ประชาชน และลดในส่วนที่เป็นข้อจำกัดได้ ทั้ง 4 ร. นั่นคือ ระยะเวลารอคอย ระยะทาง ราคา และข้อร้องเรียน

“บางหมู่บ้านอยู่ไกลจาก รพ.สต. 11-12 กิโลเมตร การเดินทางมาก็ต้องเหมารถ 200-300 บาท และปกติหากมา รพ.สต. ผู้ป่วยต้องใช้เวลาพบแพทย์ประมาณ 3 ชั่วโมง แต่ Telemedicine ใช้เวลาทั้งหมดเพียงประมาณ 30 นาที เมื่ออุปสรรคทั้งหมดลดลง คนไข้พึงพอใจในระบบใหม่ เสียงบ่นที่เคยมีก็ลดลงตามไปด้วย” ศศิธร สรุปความ

อย่างไรก็ตาม ผอ.รพ.สต. รายนี้ยังสะท้อนเพิ่มเติมถึงข้อจำกัดที่ควรทบทวนและพัฒนาต่อไป นับตั้งแต่หมอ 1 คือ อสม. ควรมีการส่งเสริมเพิ่มเติมทั้งในแง่ของทักษะ รวมถึงการดูแลขวัญและกำลังใจ เพื่อช่วยให้ปฏิบัติงานได้อย่างยั่งยืน ส่วนหมอ 2 คือ รพ.สต. เมื่อมีภาระงานเพิ่มขึ้นจาก Telemedicine มองว่าควรต้องมีพยาบาลวิชาชีพอย่างน้อย 2 คน เพื่อให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และในด้านของหมอ 3 คือแพทย์ รพช./รพศ. ก็มีข้อจำกัดว่าบางแห่งไม่มีแพทย์เข้ามาสนับสนุนในพื้นที่ หรือมักจะมีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนบ่อยทำให้ขาดความต่อเนื่อง

ในด้านความเห็นจาก “หมอ 3” นพ.อัศวิน โรจนสุมาพงศ์ หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลลำปาง ชี้แจงว่า ทางโรงพยาบาลมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพของประชาชนมาแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ที่ใช้ระบบ Home Ward สื่อสารกับผู้ป่วยที่ต้องกักตัวที่บ้าน มาถึงวันนี้จึงเข้าใจมากขึ้นว่า Telemedicine นั้นเป็นเรื่องของมายด์เซต การให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพปฐมภูมิ ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู

“Telemedicine เป็นโอกาสในการที่จะสนับสนุนการดูแลสุขภาพตัวเองหรือ Self-Care ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพ รู้ว่าจะลดความเสี่ยงอย่างไร เข้าใจว่าควรดูแลตัวเองแบบไหน ซึ่งปัจจุบันก็มีคำว่า eHealth Literacy การส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพดิจิทัลเข้ามา เราจะทำอย่างไรให้คนไข้ใช้ประโยชน์จากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการดูแลสุขภาพตนเองได้ มองว่าเรื่องนี้เป็นความท้าทาย แต่ในระยะยาวเทรนด์ต้องเป็นไปแบบนั้น และเชื่อว่าเราไปถึงได้” นพ.อัศวิน ให้มุมมอง

ส่วนในแง่ของปัญหาข้อจำกัดด้านการเชื่อมโยงข้อมูล นพ.อัศวิน ชี้ว่าไม่อยากให้มองเป็นอุปสรรค แต่อยากให้มองเป็นโอกาสที่เราจะสามารถทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง รพ.สต. หน่วยบริการปฐมภูมิ กับหน่วยบริการที่เป็นระดับทุติยภูมิ หรือตติยภูมิ ได้อย่างมีความปลอดภัยมากขึ้น และสามารถเกิดประโยชน์ได้มากขึ้น จึงยืนยันว่าการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกันนั้นมีความจำเป็น และสามารถที่จะทำได้