หลังจากที่สมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ ๗๗ พ.ศ. ๒๕๖๗ ประกาศรับรองมติสมัชชาอนามัยโลกเรื่อง การมีส่วนร่วมของสังคมเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตลอดจนสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี หรือ Social participation for universal health coverage, health and well-being (WHA 77.2) โดยมตินี้เป็นมติที่ร่วมเสนอโดยประเทศไทย บราซิล โคลอมเบีย โครเอเชีย เอกวาดอร์ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส กัวเตมาลา นอร์เวย์ กาตาร์ สโลวาเกีย สโลวีเนีย ศรีลังกา ตูนิเซีย และสหรัฐอเมริกา ไปเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๗ ที่ผ่านมานั้น
กลุ่มประเทศที่ร่วมผลักดันมติฯ ร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เพื่อขับเคลื่อนมติสมัชชาอนามัยโลก ณ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๗ ซึ่งคอลัมน์แกะรอยโลกได้รวบรวมบางช่วงบางตอนมานำเสนอ
เดชอิศม์ ขาวทอง รมช.สาธารณสุข (สธ.) และรองประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า “เราจะสานพลังการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของสังคม เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชนให้เข้มแข็ง เพื่อนำไปสู่การยกระดับสุขภาพแลความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของสังคม”
ไซมา วาเซด ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก ระบุว่า “สุขภาพ คือ ความมั่งคั่งที่แท้จริงของทุกประเทศ” และเมื่อไรที่เสียงและความต้องการของประชาชน เสียงของคนตัวเล็ก ตัวน้อย ถูกได้ยิน ถูกได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อการกำหนดนโยบาย เมื่อนั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง
ดร.เวสนา เคอร์สติน เปทริก (Vesna Kerstin Petric) ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก กระทรวงสาธารณสุข ประเทศสโลวีเนีย ระบุว่า สโลวีเนียสนับสนุนการทำงานระหว่างภาคประชาสังคม กับภาครัฐ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ รวมถึงการร่วมงานกับเยาวชน คนรุ่นใหม่ เพื่อส่งเสริมให้เขาสร้างไลฟ์สไตล์ที่ดีต่อสุขภาพในกลุ่มเยาวชนด้วยกันเอง ทั้งนี้ในอนาคตยังมุ่งมั่นที่จะยกระดับเรื่องการมีส่วนร่วม และร่วมพัฒนาเครื่องมือการประเมินผลเรื่องการมีส่วนร่วมของสังคมต่อระบบสุขภาพ
ปาสกาล เมลิฮัน-เชแนน (Pascal MELIHAN-CHEININ) เลขาธิการการประชุมสุขภาพแห่งชาติ (NCS) แห่งกรมสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ฝรั่งเศส ระบุว่า ฝรั่งเศสมีประสบการณ์ที่ยาวนานเรื่อง “ประชาธิปไตยด้านสุขภาพ” ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการตามมติสมัชชาอนามัยโลกในเรื่องการมีส่วนร่วมทางสังคมนี้ และหวังว่าในอนาคตเราจะได้ร่วมกันขับเคลื่อนมตินี้เพื่อสุขภาวะที่ดีของประเทศ และโลกของเรา
เฟอร์นันโด ซัสโซ ปิกัตโต (Mr. Fernando Zasso Pigatto) ประธานสภาสุขภาพ ประเทศบราซิล ระบุว่า บราซิลสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคมเพื่อรับรอง “สิทธิด้านสุขภาพ” และทำให้ “ประชาธิปไตยแข็งแกร่งขึ้น” ขณะเดียวกันการเสริมศักยภาพของชุมชนก็ทำให้โลกมีสุขภาพที่ดีขึ้นสำหรับทุกคนเช่นกัน
คริสตินา วิลเลียมส์ (Christina Williams) ตัวแทนจาก สภาเยาวชนองค์การอนามัยโลก (WHO Youth Council) ระบุว่า เยาวชนคือกลุ่มที่เปราะบางและได้รับผลกระทบทางสุขภาพ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสภาเยาวชนฯ จึงมุ่งมั่นจะทำงาน เพื่อการันตีว่าเสียงและความต้องการของเยาวชนถูกบรรจุอยู่ในวาระด้านสุขภาพ
ดร.เคลด์ แฮนเซน (Dr. Kjeld Hansen) ตัวแทนของคณะกรรมการประชาสังคมขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า การมีส่วนร่วมทางสังคมช่วยเพิ่มความหมายและความเกี่ยวข้องของการดูแลสุขภาพและบริการ และจะยืนหยัดร่วมกับเพื่อนร่วมทางของเราเพื่อดำเนินการตามมติสมัชชาอนามัยโลกเรื่องการมีส่วนร่วมทางสังคมมตินี้
เบทานี่ เคท (Ms. Bethany-Kate Lewis) จากเครือข่ายเรื่อง UHC 2030 กล่าวว่า เครือข่าย UHC2030 คือการสร้างความเคลื่อนไหวระดับโลกเพื่อสร้างระบบสุขภาพที่แข็งแกร่งสำหรับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามมติสมัชชาอนามัยโลกนี้ และมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและติดตามความคืบหน้าในการเสริมสร้างและรักษาการมีส่วนร่วมทางสังคม ที่มีความหมายในกระบวนการตัดสินใจตลอดวงจรนโยบายสุขภาพและในทุกระดับ
คุณคลาวเดีย บาซ (Ms. Claudia Batz) จากเครือข่าย CSEM ระบุว่า ในฐานะกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมสำหรับ UHC 2030 เรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนต่อไปโดยสร้างความตระหนักรู้ และความสำคัญของมติดังกล่าวในระดับชาติและระดับภูมิภาค เราจะพัฒนาทรัพยากรและเครื่องมือสนับสนุนสำหรับภาคประชาสังคมในระดับประเทศ และจัดให้มีเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนระหว่างภาคประชาสังคมกับสุขภาพและกับผู้กำหนดนโยบาย ชุมชนชายขอบส่วนใหญ่จะต้องมีเสียงในการตัดสินใจที่ส่งผลต่อสุขภาพของพวกเขา
คุณนิสิต ศักยพันธ์ ผู้แทนจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า “ประชาสังคม ฐานรากของประชาธิปไตย หัวใจของการมีส่วนร่วม” และพลังของประชาสังคม คือพลังอำนาจของประชาชน ผู้มีสำนึกของความเป็นพลเมือง ในสังคมที่อุดมปัญญา สานพลังความรัก ความเมตตา ความเอื้ออาทร และมิตรภาพของคนในสังคม เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายกับพหุภาคีทั้งภาครัฐ ภาคการเมือง ภาควิชาการ ภาคเอกชน โดยร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ และร่วมรับผิดชอบ ผลักดันนโยบายสาธารณะ เพื่อกำหนดทิศทาง และอนาคตของประเทศ”
ไม่เพียงเท่านั้นกลุ่มประเทศที่ร่วมผลักดันมติฯ และองค์กรระหว่างประเทศ ยังได้ร่วมกันจัดทำแผนการขับเคลื่อนมติสมัชชาอนามัยโลกเรื่องนี้ภายในอีก ๒ ปีข้างหน้า ภายในการจัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้อีกด้วย
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://en.nationalhealth.or.th/social-participation-for-uhc-health-and-well-being-movement-in-thailand/ และรับชมการประกาศเจตนารมย์ย้อนหลังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=oF_TKhmQoCk
- 16 views